พลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า เด็กเป็นทรัพยากรที่ทรงคุณค่าของประเทศ แต่ปัจจุบันกลับพบว่า เด็กไทยบางส่วนต้องเผชิญกับสภาพปัญหาและบริบทที่ไม่เอื้อต่อการพัฒนาให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพมากนัก เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงในยุคโลกไร้พรมแดน ทำให้ความเอาใจใส่ต่อเด็กถูกละเลย ปัญหาความรุนแรงต่อเด็กที่พบในสังคมไทยในปัจจุบันมีความซับซ้อนและเกี่ยวพันกับบุคคลที่ใกล้ชิดเช่น พ่อแม่ ผู้ปกครอง ครูอาจารย์ และชุมชนปฏิบัติต่อเด็กเสมือนสมบัติส่วนตัวโดยไม่คำนึงถึงสิทธิและความต้องการของเด็ก สาเหตุสำคัญที่เด็กถูกกระทำด้วยความรุนแรง คือ ค่านิยมและเจตคติของคนในสังคมที่มุ่งหวังจะอบรมเลี้ยงดูสั่งสอนให้เด็กเป็นคนดี เชื่อฟังผู้ใหญ่ แต่ในขณะที่มีเจตนาที่ดีอย่างนั้นต่อเด็ก ทำให้มองข้ามถึงผลกระทบเชิงลบที่จะเกิดขึ้นกับเด็ก กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ จึงจำเป็นต้องรณรงค์เพื่อสร้างความตระหนักต่อปัญหา และผลเสียที่เกิดขึ้นจากการใช้ความรุนแรงต่อเด็ก รวมทั้งปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและค่านิยมของคนในสังคม
พลตำรวจเอกอดุลย์ กล่าวต่อไปว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้ดำเนินการเพื่อป้องกันแก้ไขปัญหา ๔ ด้าน คือ
๑.ด้านนโยบาย ได้จัดทำนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อเด็กและเยาวชน นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบเป็นแผนแม่บท และขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติต่อไป
๒.ด้านการคุ้มครองช่วยเหลือ มีศูนย์ช่วยเหลือทางสังคม ๑๓๐๐ บ้านพักเด็กและครอบครัวทุกจังหวัด ที่จะคุ้มครองช่วยเหลือเด็กจากสถานการณ์ความรุนแรง และให้ที่อยู่อาศัย การรักษาทั้งสุขภาพกายและจิตใจ บริการด้านกฎหมาย อาชีพ การศึกษา ประสานกับครอบครัวและชุมชน เพื่อให้เด็กกลับคืนสู่ครอบครัวและชุมชน
๓.ด้านการป้องกัน ได้พัฒนาหลักสูตรการอบรมเลี้ยงดูเด็กโดยไม่ใช้ความรุนแรง เพื่อฝึกอบรมให้แก่พ่อแม่ ผู้ปกครอง ผู้ดูแลเด็กและครูอาจารย์ ได้เข้าใจเกี่ยวกับพัฒนาการเด็กแต่ละช่วงวัย และการสร้างเสริมวินัยเชิงบวก พร้อมทั้งการพัฒนาหลักสูตรครูแกนนำ เพื่อให้มีความรู้ ทักษะ และสามารถฝึกอบรมให้ความรู้แก่พ่อแม่ ผู้ปกครองเพื่อให้เด็กได้รับการอบรมเลี้ยงดู จากผู้ใกล้ชิดโดยไม่ใช้ความรุนแรง
๔.ด้านกฎหมาย เป็นการใช้กลไกด้านกฎหมาย เช่น พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. ๒๕๔๖ พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๐ รวมทั้งฝึกอบรมพนักงานเจ้าหน้าที่บังคับใช้และปฏิบัติตามเจตนารมณ์ของกฎหมายอย่างเป็นรูปธรรม
“โครงการรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก เป็นการดำเนินงานร่วมกันระหว่างกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ และองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือยูนิเซฟ ประจำประเทศไทย พร้อมหน่วยงานพันธมิตรที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงยุติธรรม สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานเอกชน ทั้งองค์กรพัฒนาเอกชน และภาคธุรกิจ ซึ่งมีส่วนช่วยสนับสนุนในโครงการครั้งนี้” พลตำรวจเอกอดุลย์ กล่าวตอนท้าย
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit