เบื้องลึกเบื้องหลัง กว่าจะมาเป็นทีม “ป่าเด็งโมเดล”
เริ่มจาก “โกศล แสงทอง” ประธานเครือข่ายรวมใจตามรอยพ่อ หนุ่มใหญ่นักพัฒนาจากสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย หลังจากที่เขาได้มีโอกาสมาทำงานที่นี่ เขาได้ตัดสินใจลาออกจากงานประจำและซื้อที่ดินที่ป่าเด็งโดยหันมาเป็นเกษตรกรที่นี่ทันที
จากนั้นด้วยความที่เขาเป็นนักพัฒนา จึงได้รวบรวมชาวบ้านซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ชายที่เป็นหัวหน้าครอบครัว มาคุยกันได้ รวมตัวในนาม “เครือข่ายรวมใจตามรอยพ่อ” ปักธงให้เป็นเครือข่ายที่ทำให้ครอบครัวมีความสุขบนพื้นฐานของกลุ่มที่เข้มแข็งภายใต้เศรษฐกิจพอเพียง
โกศล แสงทอง ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จป่าเด็งโมเดล
โดยเน้น 5 เรื่อง คือ 1. เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง เช่น เมล็ดพันธ์พืชที่ปลูกกันเองมาแบ่งปันกัน ปลูกพืช เลี้ยงไก่ไข่ไว้บริโภค 2.เรื่องสิ่งแวดล้อม เช่น การปลูกต้นไม้โตเร็ว ไม้ต่างถิ่น เพื่อลดปัญหากับอุทยาน 3.เรื่องพลังงาน เช่น การทำแก๊สชีวภาพ การซ่อมแผงโซลาเซลล์ให้กลับนำมาใช้ได้อีกครั้ง และขยายไปใช้ในการเกษตรด้วย 4. การพัฒนาคน ยังมีการอบรมต่างๆ อย่างต่อเนื่อง และ 5. เรื่องสวัสดิการออมบุญวันละบาท
“เหตุที่เน้นความสุขของครอบครัวเป็นที่ตั้ง เพราะตอนนั้นสมาชิกหลายคนมีปัญหาทางครอบครัว เพราะตอนนั้นพวกเราบ้าเรื่องพลังงานกันมาก จนแม่บ้านไม่เข้าใจว่าผู้ชายหายไปไหนและทำอะไรกัน ดังนั้น เราจึงหากิจกรรมให้แม่บ้านทำด้วย เช่นการทำแชมพู สบู่ จากน้ำมันมะพร้าวและมะคำดี ซึ่งเป็นผลไม้ประจำถิ่น ทำให้สมาชิกในครอบครัวได้มารวมตัวกันที่นี่ พ่อบ้านทำเรื่องพลังงาน แม่บ้านทำเรื่องของใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อลดรายจ่ายของแต่ละครอบครัว ซึ่งทำให้เรามีความสุขกับวิถีชีวิตพอเพียงแบบนี้” โกศล เล่าพร้อมรอยยิ้มเปื้อนหน้าพิรัฐ อินพานิช ผู้ทำหน้าที่คิดเนื้อหาการอบรมเพื่อให้เกิดการรู้จริง ปฎิบัติจริง
ถัดมาที่ พิรัฐ อินพานิช แกนหลักหนึ่งเดียวจากกระทรวงพลังงานที่ทำเรื่องพลังงานทดแทนมาอย่างยาวนานและต้องลงพื้นที่ต่างๆแลกเปลี่ยนและให้ความรู้ชาวบ้านอย่างต่อเนื่องรวมถึงพื้นที่ป่าเด็ง ที่เป็น 1 ใน 6 ตำบล ที่ได้รับรางวัล อบต.Energy Awards ด้วยความที่ต้องลงพื้นที่คนเดียว "พิรัฐ"ต้องทำทุกอย่างด้วยตัวเองทุกครั้งที่ลงพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็น การถ่ายรูป ถ่ายวิดิโอ อินโฟกราฟฟิค (จากการวาดด้วยมือ) การเขียนบทความต่างๆ เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเรื่องพลังงานทดแทนในพื้นที่ต่างๆ ใน Social media เรียกว่า All in One จนทำให้เฟซบุคของเขามีข้อมูลเรื่องนี้เยอะมาก หากครั้งใดต้องการเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษเขาก็จะมีคุณแม่ซึ่งเป็นครูสอนภาษาอังกฤษเข้ามาช่วยในเรื่องนี้
นอกจากนี้เขายังคิดกระบวนการอบรม โดยเน้นให้ชาวบ้านได้เรียนรู้จริงๆ และการอบรมทุกครั้งเนื้อหาไม่เคยซ้ำกัน เพราะหลังจากที่เรากลับมา "พิรัฐ" ยังปักหลักอยู่ที่นั่น เพื่อจัดอบรมการซ่อมแผงโซลาเซลล์ที่ถูกทิ้งให้กลับมาใช้ได้อีกครั้ง การเปลี่ยนแบตเตอรี่ การทำจักรยานชาร์จแบตเตอรี่ เป็นต้นสมชาย กังวาฬวงษ์ วิทยากรคนสำคัญที่รอพร้อมช่วยชาวบ้านเสมอ
ปิดท้ายที่ สมชาย กังวาฬวงษ์ วิทยากรหลักของทีม ซึ่งก่อนหน้านี้เราคิดว่าเขาคงเป็นเจ้าหน้าที่กระทรวงพลังงงาน ซึ่งความจริงแล้ว เขาเป็นเพียงอดีตนักเรียนช่างฝีมือทหาร ที่สนใจเรื่องพลังงงานทดแทน จนฝึกฝนตัวเองให้เชี่ยวชาญและได้รับเลือกให้เข้าร่วมทีมป่าเด็ง หลังจากที่เขาแวะเวียนไปชมนิทรรศการเรื่องพลังพลังงานทดแทนอยู่บ่อยครั้ง
ในเรื่องนี้ "พิรัฐ" เล่าให้ฟังว่า ทางทีมใช้เวลาหาวิทยากรนานมาก เพราะอยากได้คนที่สามารถทำและอธิบายได้เป็นภาษาชาวบ้าน เพื่อให้ชาวบ้านเข้าใจมากที่สุด จนกระทั่งวันหนึ่ง ทั้ง “สมชาย” ได้พบกับทีม ป่าเด็ง ที่มาออกนิทรรศการที่เซ็นทรัลเวิร์ล และได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้กัน ด้วยความที่ “สมชาย” เรียนมาทางช่างเชี่ยวชาญด้านการฟื้นฟูแบตเตอรี่ และเก่งเรื่อง DIY (Do it yourself) มาใช้กับอุปกรณ์ต่างๆ
เมื่อได้พบกัน “สมชาย” ได้แนะนำทีมป่าเด็งหลายเรื่องเกี่ยวกับโซล่าเซลล์ เช่น การติดตั้งเครื่องตั้งเวลาอัตโนมัติ ในเครื่องปั๊มน้ำ หรือในอุปกรณ์ไฟฟ้าอื่นๆ ก็จะช่วยประหยัดเวลาของชาวบ้าน จนทำให้ทุกคนประทับใจความรู้ที่เขามี และเชิญเขามาเป็นวิทยากรให้กับทีมในที่สุด ซึ่งเป็นเรื่องที่ เขาเองก็ดีใจเป็นอย่างมาก เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมาเขาอยากจะเผยแพร่ความรู้นี้กับคนอื่นๆ แต่เพราะอยู่ในเมืองและไม่มีปัญหาเรื่องไฟฟ้า จึงทำให้ไม่มีโอกาส เพราะฉะนั้นงานนี้เจ้าตัวจึงตกลงทันที โดยไม่คิดค่าวิทยากรแต่อย่างใด ขอเพียงได้มีโอกาสเผยแพร่ความรู้และช่วยชาวบ้านได้เท่านั้น
ทั้งนี้จากการที่ “เครือข่ายรวมใจตามรอยพ่อ” ได้รับเชิญจากหน่วยงานต่างๆมาให้ความรู้ที่กรุงเทพฯ ทำใหัเครือข่ายรวมใจฯเริ่มมีชื่อเสียง และเริ่มมีประชาชนจากพื้นที่ต่างๆ ขอให้เครือข่ายฯไปช่วยวางระบบพลังงานทดแทนให้ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ไฟฟ้าเข้าไม่ถึง ทั้งนี้การถ่ายทอดเทคโนโลยีต่างๆ ก็จะเป็นแบบ “ป่าเด็งโมเดล” สไตล์ ที่ผู้ขอคำปรึกษาต้องร่วมลงมือทำทุกขั้นตอน ตั้งแต่การขุดหลุมไบโอแก๊ส หาเศษอาหาร และอื่นๆ เพราะเครือข่ายฯไม่ใช่ผู้รับเหมา ดังนั้นคนในพื้นที่ต้องทำได้จริงๆ
การทำงานดังกล่าวจึงเป็นงานบริการสาธาณะไม่แสวงหากำไร เพราะทุกพื้นที่ที่ไปช่วยส่วนใหญ่ก็เป็นพื้นที่ที่ห่างไกลและมีฐานะค่อนข้างยากจน ทำให้ทางเครือข่ายฯต้องระดมทุนด้วย เช่น การขายอุปกรณ์ติดตั้งโซล่าเซลล์สำเร็จรูป สำหรับผู้ที่สนใจอยากทดลองใช้พลังงานแสงอาทิตย์ เป็นต้น
ในการทำงานติดตั้งระบบแต่ละครั้ง “โกศล” และ “สมชาย” จะลงพื้นที่กันก่อน เพื่อเก็บข้อมูล และนำกลับมาวางแผนว่าต้องทำอะไรบ้าง จากนั้นเมื่อถึงเวลาการปฏิบัติงานจริงๆ เขาจะพาคณะทำงานในเครือข่ายฯไปเรียนรู้ด้วย อีกทั้งยังให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมทางเพศ โดยได้สร้างทีม “แม่บ้านพลังงานทางเลือก” ที่แม่บ้านในเครือข่ายฯต้องสามารถติดตั้งระบบพลังงานทางเลือกได้ ดังนั้น บางครั้งวิทยากรของเครือข่ายฯ จะเป็นผู้หญิงทั้งทีม นอกจากนี้ที่ขาดไม่ได้ คือ สำนักงานพลังงานจังหวัดเพชรบุรี ที่ร่วมเป็นกำลังใจและสนับสนุนทีม "ป่าเด็งโมเดล"เสมอ....
นี่คือเรื่องราวน่าประทับใจของทีม “ป่าเด็งโมเดล” ที่เต็มไปด้วยความทุ่มเท ตั้งใจทำงาน เพื่อเปลี่ยนความมืดมิดในพื้นที่ห่างไกลให้เป็นแสงสว่าง ที่ต้องปรบมือให้ดังๆ เลยทีเดียว
มหัศจรรย์ “ป่าเด็งโมเดล”นวัตนกรรมพลังงานทดแทน ในพื้นที่สายส่งเข้าไม่ถึง ตอนที่ 1 (เปลี่ยนความมืดมิดให้เป็นแสงสว่าง) http://www.progressth.org/2015/01/1.html
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit