พลตำรวจเอกอดุลย์ เปิดเผยว่า วันนี้เป็นวันที่สี่ของการจัดระเบียบขอทานพร้อมกันทั่วประเทศ โดยมีหน่วยงานต่างๆมาบูรณาการการดำเนินงาน ได้แก่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน กรุงเทพมหานคร และองค์กรเอกชนต่างๆ ในพื้นที่ส่วนกลางกรุงเทพมหานคร มีการลงพื้นที่จัดระเบียบขอทาน ๖ โซน ได้แก่ ๑)บริเวณสยาม มาบุญครอง ประตูน้ำ พันธุ์ทิพย์ ๒)บริเวณสุขุมวิท อโศก นานา ราชประสงค์ ๓)บริเวณสวนลุมพินี คลองเตย ๔)บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ หมอชิต ๕)บริเวณเซ็นทรัลปิ่นเกล้า สายใต้ใหม่ และ ๖)บริเวณมีนบุรี โดยการจัดระเบียบขอทานมีการดำเนินการ ดังนี้ ๑)ชุดหาข่าว ลงพื้นที่เพื่อสืบหาข่าว ผู้กระทำการขอทานในแต่ละพื้นที่ ๒)ชุดปฏิบัติการ ลงพื้นที่เพื่อดำเนินการนำตัวผู้ที่กระทำการขอทานส่งยังจุดคัดกรอง ณ บ้านมิตรไมตรี ๓)ชุดคัดกรอง ตรวจสัมภาระ/อาวุธ/ทรัพย์สิน และทำการบันทึกประวัติผู้รับบริการ คัดแยกประเภทของขอทาน ระหว่างขอทานไทย ขอทานต่างด้าว และขอทานที่ตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์ ทำการตรวจร่างกายเบื้องต้นโดยทีมแพทย์ และประสานส่งต่อโรงพยาบาล/ดำเนินการส่งคนขอทาน ตามที่คัดกรองเข้าสู่กระบวนการให้ ความช่วยเหลือฟื้นฟูต่อไป ทั้งนี้การแก้ไขปัญหาขอทาน ได้ใช้หลัก ๓P ประกอบด้วย ๑)Policy : ด้านนโยบาย ได้แก่ จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาขอทาน การแต่งตั้งคณะกรรมการ พนักงานเจ้าหน้าที่ การจัดทำทะเบียนข้อมูลคนขอทาน การแก้ไขปรับปรุง พระราชบัญญัติควบคุมขอทาน การขยายผลการดำเนินคดีกับขบวนการค้ามนุษย์ ๒)Protection : การคุ้มครอง ช่วยเหลือ ได้แก่ การคัดแยกเหยื่อจากการค้ามนุษย์และการคุ้มครองสวัสดิภาพ คนขอทาน การจัดบริการฟื้นฟูการพัฒนาศักยภาพ และการจัดทำบันทึกความร่วมมือ เพื่อความมั่นคงในอาชีพและรายได้ และ๓)Prevention : การป้องกัน ได้แก่ การส่งเสริมเครือข่ายแกนนำเฝ้าระวังปัญหา การรณรงค์ประชาสัมพันธ์เพื่อแก้ไขปัญหาการขอทานที่ยั่งยืน เพื่อสร้างพลังการมีส่วนร่วมตามแนวคิด “ให้ทานถูกวิธี ลดวิถีการขอทาน”
พลตำรวจเอกอดุลย์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับในส่วนภูมิภาคได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหา การขอทานระดับจังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน และตั้งชุดปฏิบัติการในพื้นที่และจัดโซน เพื่อลงพื้นที่ปฏิบัติการจัดระเบียบขอทาน ทั้งนี้ ได้กำหนดจุดคัดกรองเป็นหน่วยงานบ้านพักเด็กและครอบครัวหรือสถานที่อื่น ตามความเห็นชอบของคณะกรรมการฯ และได้มีการเตรียมความพร้อมสถานสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่ง ๑๑ แห่งทั่วประเทศ เพื่อรองรับการดูแลและฟื้นฟูคนขอทานในระยะยาวต่อไป
“ในส่วนของการคัดกรองขอทาน หากขอทานประสงค์จะหางานทำในตำแหน่งงานที่เหมาะสมกับตนเอง สามารถยื่นความจำนงได้กับกรมพัฒนาฝีมือแรงงานและกรมการจัดหางาน ซึ่งได้จัดเจ้าหน้าที่มาอำนวยความสะดวกให้ เพื่อจะสามารถหาเลี้ยงชีพได้และออกจากการเป็นขอทานอย่างยั่งยืน” พลตำรวจเอกอดุลย์ กล่าวท้าย
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit