นายสุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลีสซิ่งกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า ยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อเช่าซื้อรถในระบบธนาคารพาณิชย์ปี 2557 ชะลอตัวต่อเนื่องจากปี 2556 โดยมีปัจจัยหลักจากโครงการรถคันแรกที่ทำให้เกิดแรงซื้อล่วงหน้าจำนวนมากและฐานเปรียบเทียบที่สูง ประกอบกับปัจจัยเศรษฐกิจและอำนาจซื้อของผู้บริโภคที่ลดลง ส่งผลกระทบโดยตรงต่อยอดขายรถยนต์ใหม่ ขณะเดียวกันยังส่งผลกระทบต่อตลาดรถใช้แล้วให้มีราคาลดต่ำลงแรง ซึ่งทำให้เกิดปัญหาการทิ้งรถและสถาบันการเงินต้องเร่งระบายรถยึด รวมถึงปัญหาหนี้เสียที่เพิ่มขึ้นตามมา โดยในปีที่ผ่านมาตลาดรถยนต์โดยรวมในประเทศหดตัวลงประมาณ 35%
สำหรับผลประกอบการของบริษัท ลีสซิ่งกสิกรไทย จำกัด ในปี 2557 สามารถปล่อยสินเชื่อได้ประมาณ61,027 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 18.36 % แบ่งเป็นสินเชื่อใหม่เช่าซื้อและลีสซิ่ง 33,606 ล้านบาท ลดลง 14.40% และสินเชื่อผู้แทนจำหน่ายรถยนต์ (Floorplan) 27,421 ล้านบาท ลดลง 22.73% สำหรับยอดสินเชื่อคงค้าง (Outstanding Loan) มียอดรวม 89,783 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 0.63% และสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) อยู่ที่ 1.16% ส่งผลให้บริษัทมีกำไร 499 ล้านบาทด้านแผนการดำเนินงานในปี 2558 บริษัทยังคงเน้นสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และลีสซิ่งรถยนต์ รวมถึงฟลีท (Fleet) โดยสินเชื่อรถช่วยได้กสิกรไทยยังคงเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำให้ผลการดำเนินธุรกิจเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปี 2557 สินเชื่อรถช่วยได้กสิกรไทยปล่อยสินเชื่อเติบโตจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 15% ในส่วนของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์กสิกรไทย ยังคงลุยตลาดรถจักรยานยนต์บิ๊กไบค์ พร้อมเน้นความร่วมมือกับกลุ่ม OEM และลูกค้าอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเชื่อมโยงผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ครบวงจรด้วยหลักการ Synergy กับธนาคารกสิกรไทย และเพิ่มโอกาสทางธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ในการวางแผนแนวทางธุรกิจสู่ตลาดอาเซียน (CLMV) โดยบริษัทตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อใหม่และลีสซิ่งรถยนต์ไว้ที่ 71,796 ล้านบาท เพิ่มจากปีที่แล้วประมาณ 17.6% ซึ่งจะทำบริษัทมียอดสินเชื่อคงค้างในระบบรวม (Outstanding Loan) 89,923 ล้านบาท ตั้งเป้าสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ไม่เกิน (NPL) ไว้ไม่เกิน1.50% และกำไรตลอดปี 2558 ประมาณ 532 ล้านบาท
นายสุรัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ภาพรวมยอดขายรถยนต์ในประเทศปี 2558 คาดว่าจะยังคงมียอดขายต่ำกว่า 1 ล้านคันต่อไปอีก 1 ปี โดยยอดขายจะมีประมาณ 900,000 ถึง 950,000 คัน ขยายตัว 4-9% เนื่องจากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังคงสูงอยู่ ซึ่งอาจทำให้มีการอนุมัติสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่ยากขึ้น อีกทั้งราคาสินค้าเกษตรโดยเฉพาะข้าวและยางพาราที่ตกต่ำต่อเนื่อง ส่งผลให้ยอดขายรถยนต์ในบางภูมิภาคที่เป็นแหล่งเพาะปลูก อาจต้องเผชิญกับภาวะตลาดที่ซบเซาอยู่โดยเฉพาะพื้นที่ภาคใต้และภาคกลาง และสภาพเศรษฐกิจต่างประเทศที่ยังน่ากังวลซึ่งอาจทำให้การส่งออกและการท่องเที่ยวฟื้นตัวในกรอบที่ค่อนข้างจำกัด รวมถึงจำนวนรถมือสองใหม่ๆ ที่หลุดไฟแนนซ์เข้ามาแข่งขันในตลาดจำนวนมาก จะเป็นแรงกดดันสำคัญในปี 2558 เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ยอดขายที่เพิ่มขึ้นคาดว่าจะเกิดขึ้นได้จากปัจจัยบวก ได้แก่ การเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ จากการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงการเปิดเสรีการค้าภายใต้กรอบ AEC ที่จะทำให้ทิศทางการค้าและการท่องเที่ยวบริเวณชายแดน รวมถึงการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ขณะที่ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศมีการปรับตัวลดลง รวมทั้งยังมีการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ ซึ่งน่าจะส่งผลบวกต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภคและการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินให้กับผู้บริโภคบางกลุ่มด้านตลาดรถจักรยานยนต์บิ๊กไบค์ในปี 2558 นั้น ยังคงมีการตอบรับที่ดีและมีโอกาสขยายตัวได้ไม่น้อยกว่า10% โดยจำนวนผู้ประกอบการที่เพิ่มเข้ามาในตลาด น่าจะยิ่งทำให้ตลาดมีการแข่งขันและคึกคักมากขึ้น ส่งผลดีต่อผู้บริโภคทั้งในแง่ของทางเลือกที่มีมากขึ้น ทั้งรูปแบบรถจักรยานยนต์และราคา
สำหรับแนวโน้มธุรกิจสินเชื่อเพื่อเช่าซื้อรถยนต์ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2558 จะยังอยู่ภายใต้แรงกดดันเช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา ทั้งจากปัจจัยด้านการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ สถาบันการเงินยังคงเน้นการพิจารณาสินเชื่ออย่างระมัดระวัง อย่างน้อยจนกว่าจะเห็นสัดส่วนเอ็นพีแอล (NPLs) ที่เริ่มทรงตัว ซึ่งทำให้มีความเป็นไปได้ที่อาจจะยังเห็นยอดคงค้างสินเชื่อเช่าซื้อในระบบธนาคารพาณิชย์อยู่ในระดับใกล้เคียงกับเมื่อสิ้นปี 2557
ธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อ อาจจะผ่านจุดต่ำสุดในช่วงครึ่งแรกของปี 2558 และฟื้นตัวได้อย่างช้าๆ ทำให้สินเชื่อรวมในปี 2558 ยังเติบโตได้ในระดับต่ำ โดยมีปัจจัยหลักจากยอดขายรถยนต์ใหม่ที่คงจะทยอยปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ ขณะเดียวกันการแข่งขันของผู้ให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ น่าจะยังคงหลีกเลี่ยงการแข่งขันด้านราคา เพราะส่วนต่างดอกเบี้ย (Margins) ค่อนข้างต่ำมากอยู่แล้ว ส่วนการแข่งขันด้านเทอมการชำระเงิน อาจมีผลต่อคุณภาพลูกหนี้ ซึ่งยังเป็นประเด็นที่บริษัทให้ความสำคัญในการเฝ้าระวังปัญหาหนี้อยู่ นอกจากนี้ ยังต้องติดตามประเด็นการบังคับใช้กฎหมายค้ำประกันฯ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ซึ่งหน่วยงานทางการอยู่ระหว่างการหาข้อสรุปเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบธุรกิจในวงกว้างต่อไป
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit