พม. จับมือภาคีเครือข่ายลงปฏิบัติการจัดระเบียบคนขอทานทั่วประเทศ

27 Jan 2015
นายอนุสันต์ เทียนทอง ผู้ตรวจราชการกระทรวงและโฆษกกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดเผยว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) ได้บูรณาการการทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร และองค์กรเอกชนต่างๆ ปฏิบัติการลงพื้นที่จัดระเบียบขอทานทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ ๒๖-๓๐ ม.ค. ๒๕๕๘ ซึ่งวันนี้เป็นการปฏิบัติการวันแรก ซึ่งจากการลงพื้นที่ปฏิบัติการเบื้องต้นพบว่ายังมีขอทานที่เป็นคนไทยและคนต่างด้าว ซึ่งขอทานทั้งหมดที่นำเข้าสู่กระบวนการจัดระเบียบคนขอทานครั้งนี้จะต้องผ่านกระบวนการคัดแยกร้อยเปอร์เซ็นต์ทุกคน เพื่อให้ทราบว่าเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์หรือไม่ ซึ่งหากพบว่าขอทานเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ จะดำเนินการนำส่งให้กองบังคับการปราบปรามความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์(ปคม.) เพื่อเข้าสู่กระบวนการคุ้มครองช่วยเหลือผู้เสียหาย และขยายผลการจับกุมนำผู้กระทำความผิดเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายต่อไป ส่วนขอทานที่เป็นชาวต่างด้าว จะนำส่งให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง(ตม.) เพื่อส่งกลับสู่ประเทศต้นทาง สำหรับขอทานที่เป็นคนไทย จะมีการพูดคุยปรับทัศนคติและนำส่งสถานสงเคราะห์ต่างๆ เช่น บ้านพักเด็กและครอบครัว สถานแรกรับเด็กชายปากเกร็ด

(บ้านภูมิเวท) สถานสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่งชายธัญบุรี สถานสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่งหญิงธัญบุรี ส่วนกรณีขอทานที่มีอาการป่วยทางกายหรือทางจิต จะส่งไปที่โรงพยาบาลที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ในส่วนของการคัดกรองขอทาน หากขอทานที่ประสงค์จะหางานทำในตำแหน่งงานที่เหมาะสมกับตนเอง สามารถยื่นความจำนงได้กับกรมพัฒนาฝีมือแรงงานและกรมการจัดหางาน ซึ่งได้จัดเจ้าหน้าที่มาอำนวยความสะดวกให้ที่บ้านมิตรไมตรี เพื่อผลักดันเข้าสู่ตลาดแรงงาน ส่วนขอทานที่ต้องเข้าสู่สถานสงเคราะห์ต่างๆ จะมีการฟื้นฟูสภาพจิตใจและมีการฝึกอาชีพเพื่อให้สามารถประกอบอาชีพเลี้ยงดูตนเองต่อไป

นายอนุสันต์ กล่าวต่อว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้เน้นย้ำการใช้หลัก ๓ p เป็นแนวทางการดำเนินการ ได้แก่๑) การบังคับใช้กฎหมาย (Policy) เช่น การปรับปรุงกฎหมาย การจัดระเบียบจัดทำทะเบียนข้อมูล พัฒนาฐานข้อมูล ขยายผลดำเนินคดีกับขบวนการค้ามนุษย์ ๒) การคุ้มครองช่วยเหลือ (Protection) เช่น การจัดทำบันทึกความร่วมมือเพื่อความมั่นคงทางอาชีพและรายได้ การคัดแยกเหยื่อจากการค้ามนุษย์ และการคุ้มครองสวัสดิภาพ ฟื้นฟูพัฒนาศักยภาพในสถานสงเคราะห์ และ ๓) การป้องกัน(Prevention) ให้ศึกษาวิจัยพัฒนาระบบการคุ้มครองทางสังคม รณรงค์ประชาสัมพันธ์ต่อสาธารณะ ให้ความรู้ด้านกฎหมาย สิทธิการเข้าถึงบริการด้านกฎหมาย สิทธิในการเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐาน ส่งเสริมเครือข่าย พม.เป็นแกนนำเฝ้าระวัง ทำ MOU เครือข่ายแก้ปัญหาขอทานต่างด้าว"สำหรับการลงพื้นที่จัดระเบียบคนขอทานทั่วประเทศในแต่ละวัน กระทรวงฯ จะแจ้งจำนวนขอทานที่จะเข้าสู่กระบวนการจัดระเบียบคนขอทานในวันถัดไป โดยจะสรุปจำนวนทั้งหมดได้ประมาณวันที่ ๓๑ ม.ค. ๒๕๕๘”

นายอนุสันต์ กล่าวตอนท้าย