นายอาทิตย์ วุฒิคะโร อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า ปัจจุบันวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)ของประเทศไทยมีจำนวนกว่า 2.74 ล้านราย คิดเป็นร้อยละ 98.5 ของจำนวนวิสาหกิจทั้งประเทศ ซึ่งในแต่ละสาขาอุตสาหกรรมมีลักษณะการดำเนินธุรกิจ ประสบปัญหาและข้อจำกัดที่แตกต่างกัน ฉะนั้นเพื่อให้การส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ไทยด้วยเทคโนโลยีเป็นไปอย่างครบวงจร กรมฯ จึงได้พยายามสร้างเครือข่ายความร่วมมือโดยบูรณาการกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้เกิดการบริการที่ครอบคลุมความต้องการของ SMEs ตั้งแต่การสร้างเครือข่ายกับหน่วยงานวิจัยและพัฒนา การเชื่อมโยงการบริการด้านการทดสอบตรวจสอบและรับรองมาตรฐานต่างๆ การสร้างความร่วมมือกับสถาบันการเงินในการสนับสนุนด้านเทคนิคแก่ลูกค้าสถาบันการเงินตามโครงการสินเชื่อเพื่อปรับเปลี่ยนเครื่องจักร และเทคโนโลยี การเชื่อมโยงธุรกิจและถ่ายทอดเทคโนโลยีระหว่างประเทศ เป็นต้น โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้ร่วมมือกับสถาบันเครือข่ายกระทรวงอุตสาหกรรม เช่น ความร่วมมือกับสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทยในการเปิดศูนย์บริการทดสอบไดออกซิน ความร่วมมือกับสถาบันไทย-เยอรมันในการยกระดับขีดความสามารถอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ไทย ความร่วมมือกับสมาคมอุตสาหกรรมเฉพาะทางต่างๆ เช่น สมาคมอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ไทย สมาคมอุตสาหกรรมหล่อโลหะไทย สมาคมเครื่องจักรกลไทย สมาคมผู้ประกอบการชิ้นส่วนยานยนต์และอะไหล่ทดแทนไทย สมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย สมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย เพื่อเตรียมการเป็นศูนย์ทดสอบแรงงานมาตรฐานวิชาชีพ เป็นต้น
สำหรับความร่วมมือกับหน่วยงานต่างประเทศที่ผ่านมา กรมฯ มีความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนจากหลายประเทศ อาทิ องค์กร Japan International Cooperation Agency (JICA) และ The Overseas Human Resources and Industry Development Association (HIDA) ของประเทศญี่ปุ่น เพื่อเป็นศูนย์ฝึกอบรมด้านเทคนิคให้กับบุคลากรในอุตสาหกรรมสนับสนุนของกลุ่มประเทศ CLMV และประเทศแอฟริกาใต้ ซึ่งในปีนี้ได้เตรียมนำร่องกับอุตสาหกรรมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ของประเทศเวียดนามและแอฟริกาใต้ อีกทั้งอุตสาหกรรมสนับสนุนของพม่าและลาว ซึ่งนอกจากจะเป็นการถ่ายทอดความรู้กับบุคลากรในประเทศเพื่อนบ้านแล้ว ยังมีการเชื่อมโยงเครือข่ายกับหน่วยงานภาคอุตสาหกรรมทั้งภาครัฐและเอกชนของประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง ตลอดจนการสร้างความสัมพันธ์และก่อให้เกิดการเชื่อมโยงธุรกิจให้กลุ่มประเทศ CLMV และแอฟริกาใต้อีกด้วย ซึ่งกิจกรรมนี้จะเริ่มต้นในเดือนมีนาคม 2558 นี้ เป็นต้นไป นายอาทิตย์ กล่าว
สำหรับด้านการวิจัยและพัฒนานั้น ในเดือนพฤศจิกายน 2557 ที่ผ่านมา กรมฯ ได้ลงนามความร่วมมือ ด้านงานวิจัยและพัฒนากับสถาบันวิจัยเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรมแห่งมหานครโตเกียว (Tokyo Metropolitan Industrial Technology Research Institute : TIRI) ซึ่งเป็นสถาบันของญี่ปุ่นที่ให้บริการทางด้านเทคนิคกับ SME ในประเทศญี่ปุ่น มีการดำเนินการกว่า 100 ปี ได้ตัดสินใจเลือกประเทศไทย (กสอ.) เป็นที่ตั้งสำนักงานในต่างประเทศเป็นครั้งแรก โดยเป็นการให้บริการในหลายด้าน ได้แก่ 1. Technical Assistance เช่น การรับจ้างทดสอบผลิตภัณฑ์ การให้คำปรึกษา เป็นต้น 2. Supporting Product Development เช่น ให้บริการเช่าห้องทดลอง และเครื่องมือเครื่องจักร เป็นต้น 3. Research and Development เช่น การวิจัยร่วมกัน 4. การพัฒนาบุคลากร เช่น การให้การฝึกอบรม 5. การเผยแพร่ข้อมูลอุตสาหกรรม เช่น การจัดนิทรรศการ การพิมพ์บทความ เป็นต้น 6. Supporting Technology Management เช่น การจัดการสิทธิบัตร เป็นต้น 7. Collaboration in Industrial Circle โดยการบริการจะเริ่มต้นตั้งแต่เดือนเมษายน ปี 2558 เป็นต้นไป อีกทั้ง หน่วยงานวิจัยและพัฒนา จากประเทศจีน ยังพร้อมที่จะเข้ามาให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึกแก่สถานประกอบการไทยในการปรับปรุงเทคโนโลยีกระบวนการผลิตและเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติ โดยจะขยายการบริการเป็นโต๊ะจีน (China Desk)นอกเหนือจากโต๊ะญี่ปุ่น (Japan Desk) ที่มีอยู่เดิม
นอกจากนี้ กรมฯ ยังได้ร่วมมือกับหน่วยงานต่างประเทศในการถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับมาตรฐานใหม่ให้กับภาคอุตสาหกรรม เช่น มาตรฐานระบบอัตโนมัติ IEC/TC65 มาตรฐานฟองอากาศระดับอนุภาค (Fine Bubble Technology) ISO/TC281เป็นต้น ทั้งนี้ เนื่องจากปัจจุบันเทคโนโลยีสมัยใหม่โดยเฉพาะเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติได้เข้ามามีบทบาทต่ออุตสาหกรรมไทยมากยิ่งขึ้น หลายครั้งที่อุตสาหกรรมได้ซื้อและลงทุนในระบบอัตโนมัติมากมาย แต่ขาดซึ่งการเรียนรู้เทคโนโลยีและมาตรฐานสากล ทำให้ส่งผลต่อการซ่อมบำรุงรักษาและความปลอดภัยต่อผู้ใช้งานได้ กรมฯ จึงได้ให้ความสำคัญกับสัมมนาด้านมาตรฐานและเทคโนโลยีนอกเหนือจากฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการให้กับบุคลากรในภาคอุตสาหกรรมที่เป็นบทบาทหลักของ กรมฯ อีกด้วย
นายอาทิตย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2558 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักพัฒนาอุตสาหกรรมสนับสนุน (สพส.) ได้กำหนดนโยบายเพื่อการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมสนับสนุน ดังต่อไปนี้
1. สนับสนุนการเจรจาทางการค้า (Business Matching) และขยายการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ ตั้งเป้าขยายการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติโดยเฉพาะ SME เพิ่มขึ้นประมาณ 500 ตลอดจนการใช้เครื่องมือทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อการสนองนโยบายดิจิทัล เอสเอ็มอี (Digital SMEs)
2. ยกระดับบุคลากรและผู้ประกอบการ โดยการเสริมสร้างองค์ความรู้ทั้งในเชิงทฤษฎีและเชิงปฏิบัติ และพัฒนาฝีมือแรงงานให้พร้อมรับกับการขยายตัวของอุตสาหกรรม ตั้งเป้าพัฒนาบุคลากร 30,000 คน
3. พัฒนาเทคโนโลยีเครื่องจักรและระบบอัตโนมัติ ตลอดจนพัฒนาผลิตภาพการผลิตให้มีประสิทธิภาพทั้งคุณภาพ ปริมาณ และรักษาสิ่งแวดล้อม โดยตั้งเป้าพัฒนาเทคโนโลยีและเครื่องจักร 2,000 กิจการ
4. สนับสนุนให้สถานประกอบการ SMEs เข้าถึงสินเชื่อเพื่อพัฒนาผลิตภาพการผลิต อย่างน้อย 500 กิจการ โดยร่วมมือกับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ เอสเอ็มอีแบงค์ (SME Bank) ตามโครงการสินเชื่อเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการตามแผนยุทธศาสตร์กระทรวงอุตสาหกรรม
5. ส่งเสริมและสนับสนุนในการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคตอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเครื่องมือและวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ มีการสร้างเครือข่ายผู้ผลิตไทย เพื่อให้ผู้ประกอบการเห็นโอกาสใหม่ในอุตสาหกรรมดาวรุ่งแห่งอนาคตที่มีมูลค่าเพิ่มสูงทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่สนใจ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักพัฒนาอุตสาหกรรมสนับสนุน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม อาคารสำนักพัฒนาอุตสาหกรรมสนับสนุน ซอยตรีมิตร ถนนพระราม 4 เขตคลองเตย กรุงเทพฯ หมายเลขโทรศัพท์ 0 2367 8169 หรือเข้าไปที่ http://www.dip.go.th