นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน ในฐานะโฆษก กกพ. ได้กล่าวว่า หลังจากได้มีมติ กพช. ในเรื่องนี้แล้ว กกพ. ได้แจ้งให้การไฟฟ้าทั้งสามหยุดรับคำร้องขอขายไฟฟ้าในรูปแบบ Adder โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2557 และเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2558 ที่ผ่านมา กกพ. ได้ออก “ประกาศคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เรื่อง การรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (ไม่รวมพลังงานแสงอาทิตย์) ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากแบบ Adder เป็น Feed-in Tariff (FiT) พ.ศ. 2558” มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 24 มกราคม 2558 โดยสาระสำคัญคือ ผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) จากพลังงานหมุนเวียนที่ประสงค์จะเข้าร่วมโครงการภายใต้รูปแบบ FiT ให้มายกเลิกสัญญาเดิมโดยไม่มีการหักเงินค้ำประกัน ภายในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2558 และให้ยื่นคำร้องขอขายไฟฟ้าฯ ใหม่ในรูปแบบ FiT ภายในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2558 แล้วแต่กรณี แยกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
กลุ่มที่ 1: กลุ่มโครงการฯ ที่มีการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบแล้ว อยู่ในระบบ Adder เดิมต่อไป
กลุ่มที่ 2: กลุ่มโครงการฯ ที่ยังไม่ได้จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า หรือเป็นโครงการที่ได้รับอนุมัติตอบรับซื้อไฟฟ้าในปี 2557 และต้องเป็นโครงการที่ยังไม่เคยมีการต่ออายุโครงการหรือยังไม่พ้นกำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) สามารถยื่นคำร้องขอยกเลิกสัญญาเดิม โดยไม่มีการหักเงินค้ำประกัน และให้ยื่นค้ำร้องขอขายไฟฟ้าฯ ใหม่ ในรูปแบบ FiT โดยอัตราจะเป็นไปตามอัตรา FiT ใหม่
กลุ่มที่ 3: กลุ่มโครงการฯ ที่ยื่นคำขอขายไฟฟ้าแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการอนุมัติการตอบรับซื้อไฟฟ้า สามารถปรับเปลี่ยนเป็นแบบ FiT ได้ จะต้องยื่นขอยกเลิกคำร้องเดิมภายในเวลาที่กำหนด โดยไม่มีการหักเงินค้ำประกัน และให้ยื่นคำร้องขอขายไฟฟ้าฯ ใหม่ในรูปแบบ FiT โดยการรับซื้อไฟฟ้าจะเป็นรูปแบบการแข่งขันด้านราคา (Competitive Bidding) เสมือนเป็นโครงการใหม่
ผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) จากพลังงานหมุนเวียนที่เข้าข่ายในกลุ่มต่างๆ ข้างต้น (ยกเว้นพลังงานแสงอาทิตย์) สามารถยื่นคำร้องขอยกเลิกสัญญาเดิมฯ/ขอขายไฟฟ้าฯ ได้ตั้งแต่วันที่ 26 มกราคม ถึง 2 กุมภาพันธ์ 2558 และยื่นคำร้องขอขายไฟฟ้าในรูปแบบ FiT ได้ตั้งแต่วันที่ 26 มกราคม ถึง 27 กุมภาพันธ์ 2558 ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ในเวลาทำการ 09.00 – 12.00 น.และ 13.00 – 15.30 น.
หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร 02-207-3599 ต่อ 836 และ 838 และ www.erc.or.th
นายวีระพลฯ กล่าวเสริมว่า การดำเนินการของ กกพ. จะเป็นการพลิกโฉมกระบวนการและมาตรการในการส่งเสริมพลังงานทดแทน โดยเฉพาะขั้นตอนรับซื้อไฟฟ้ารูปแบบใหม่ รวมถึงการจัดทำโซนนิ่งศักยภาพสายส่งรองรับการซื้อไฟฟ้า ซึ่งจะเป็นการเปิดโอกาสและสร้างความโปร่งใสให้เกิดกับการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้น อีกทั้งเป็นการส่งเสริมให้กลุ่มขยะ ชีวมวล แก๊สชีวภาพ พลังน้ำ และลม เข้าระบบได้มากขึ้น
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit