ปักกิ่ง, จีน--(บิสิเนส ไวร์)--28 ม.ค. 2558
การอนุมัติการปลูกมะเขือม่วงและมันฝรั่งช่วยรับมือกับกระแสวิตกจากผู้บริโภค
รายงานซึ่งเผยแพร่ในวันนี้โดยองค์การไอซ่า (International Service for the Acquisition of Agri-Biotech Applications: ISAAA) ระบุว่า การเพาะปลูกพืชเทคโนชีวภาพทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 181.5 ล้านเฮกตาร์ทั่วโลกในปี 2557 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2556 กว่า 6 ล้านเฮกตาร์ โดยบังกลาเทศเป็นประเทศล่าสุดที่ได้เริ่มเพาะปลูกพืชเทคโนชีวภาพ ส่งผลให้ในปีที่ผ่านมามีประเทศที่ดำเนินการเพาะปลูกพืชเทคโนชีวภาพทั้งสิ้น 28 ประเทศ แยกเป็นประเทศกำลังพัฒนา 20 ประเทศ และประเทศอุตสาหกรรมอีก 8 ประเทศ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนกว่า 60% ของจำนวนประชากรโลก
“พื้นที่เพาะปลูกพืชเทคโนชีวภาพรวมกันตั้งแต่ปี 2539-2557 นั้นกินบริเวณมากกว่า 80% ของผืนดินทั้งหมดของจีน” ไคลฟ์ เจมส์ ผู้ก่อตั้งองค์การไอซ่า และผู้เขียนรายงาน กล่าว “พื้นที่เพาะปลูกพืชเทคโนชีวภาพทั่วโลกได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 100 เท่านับตั้งแต่วันเริ่มแรก”
นับตั้งแต่ปี 2539 พืชเทคโนชีวภาพที่ปลูกเพื่อเป็นอาหารและผลิตเส้นใยกว่า 10 ประเภทได้รับการอนุมัติและมีการซื้อขายทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นสินค้าโภคภัณฑ์หลักอย่างข้าวโพด ถั่วเหลือง และฝ้าย ไปจนถึงผักผลไม้อย่างมะละกอ มะเขือม่วง และล่าสุดได้แก่มันฝรั่ง โดยพืชเหล่านี้มีคุณสมบัติที่ช่วยจัดการกับปัญหาที่พบได้ทั่วไปซึ่งส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ของผู้บริโภคและอัตราการผลิตของเกษตรกร เช่น คุณสมบัติในการต้านทานภัยแล้ง แมลง และโรคพืช อีกทั้งทนต่อยาฆ่าพืช และยังมีโภชนาการและคุณภาพมากขึ้นอีกด้วย การเพาะปลูกพืชเทคโนชีวภาพนั้นก่อให้เกิดระบบการเพาะปลูกที่มีความยั่งยืนกว่า และยังสามารถตอบสนองได้อย่างยืดหยุ่นต่อปัญหาท้าทายที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ
รายงานดังกล่าวระบุว่า สหรัฐอเมริกายังคงเป็นประเทศที่เพาะปลูกพืชเทคโนชีวภาพมากที่สุดถึง 73.1 ล้านเฮกตาร์ เพิ่มขึ้น 3 ล้านเฮกตาร์จากปี 2556 หรือคิดเป็นอัตราการขยายตัวที่ 4% ซึ่งขยายตัวมากที่สุดเทียบรายปี แซงหน้าบราซิล ที่ครองสถิติขยายตัวสูงสุดเทียบรายปีในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้ รายงานยังเน้นถึงผลประโยชน์สำคัญที่ได้รับจากเทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งรวมถึงการบรรเทาความยากจนและความหิวโหย ด้วยการส่งเสริมรายได้ของกลุ่มเกษตรกรทั่วโลกที่ขาดแคลนทรัพยากร โดยข้อมูลล่าสุดที่ทำการศึกษาในช่วงปี 2539-2556 แสดงให้เห็นว่าพืชเทคโนชีวภาพได้เพิ่มมูลค่าการผลิตเป็น 1.33 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่มีการใช้ยาฆ่าแมลงลดลงอย่างเห็นได้ชัดในปี 2539-2555 ซึ่งช่วยลดการใช้สารออกฤทธิ์ได้ราว 500 ล้านกิโลกรัม และในปี 2556 เพียงปีเดียว การเพาะปลูกพืชช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่ารถยนต์ถึง 12.4 ล้านคัน
ผลการค้นพบดังกล่าวสอดคล้องกับการวิเคราะห์อภิมานของสองนักเศรษฐศาสตร์ชาวเยอรมันอย่าง Klumper และ Qaim (ปี 2557) ซึ่งได้สรุปไว้ว่า เทคโนโลยีดัดแปลงพันธุกรรมช่วยลดการใช้สารฆ่าแมลงเฉลี่ย 37% ช่วยเพิ่มผลผลิตเฉลี่ย 22% และยังเพิ่มกำไรให้กับเกษตรกรเฉลี่ยถึง 68% ในช่วง 20 ปีนับตั้งแต่ปี 2538-2557
บังกลาเทศ: ต้นแบบความสำเร็จ
บังกลาเทศ ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่มีขนาดเล็กที่สุดและยากจนที่สุดในโลก ได้อนุมัติโครงการเพาะปลูกมะเขือม่วงบีที (Bt brinjal)ในเดือนตุลาคม 2556 และหลังจากนั้นไม่ถึง 100 วันก็เริ่มมีการวางตลาดในเดือนมกราคม 2557 ซึ่งตลอดทั้งปีนั้น พบว่าเกษตรกรจำนวน 120 รายได้ทำการเพาะปลูกบนพื้นที่ 12 เฮกตาร์ การปลูกมะเขือม่วงบีทีไม่เพียงนำโอกาสทางการเงินมาให้เกษตรกรยากจนในประเทศเท่านั้น แต่ยังลดจำนวนเกษตรกรที่ใช้สารกำจัดศัตรูพืชในการเพาะปลูกลงได้อย่างมากถึง 70-90%
“การอนุมัติการเพาะปลูกและจำหน่ายมะเขือม่วงบีทีในบังกลาเทศนั้นแสดงให้เห็นพลังของเจตจำนงทางการเมือง และการสนับสนุนจากรัฐบาล” เจมส์กล่าว “นี่คือการวางรากฐานต้นแบบแห่งความสำเร็จสำหรับประเทศขนาดเล็กและยากจนอื่นๆ ในการสร้างประโยชน์จากการเพาะปลูกพืชเทคโนชีวภาพอย่างรวดเร็ว”
กรณีของบังกลาเทศในปี 2557 ได้เน้นย้ำถึงคุณค่าและความสำเร็จของความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน โดยบริษัท Mahyco ของอินเดียเป็นผู้สนับสนุนสายพันธุ์มะเขือม่วงบีที ซึ่งเป็นผักชนิดหนึ่งที่มีคุณค่าทางโภชนาการมากที่สุดและสำคัญที่สุดในบังกลาเทศ
“ความร่วมมือภาครัฐ-เอกชนยังคงเพิ่มความเป็นไปได้ที่ฟาร์มต่างๆจะสามารถเพาะปลูกและส่งมอบพืชเทคโนชีวภาพที่ผ่านการอนุมัติแล้วออกสู่ท้องตลาดได้ในเวลาที่เหมาะสม” เจมส์กล่าว “ความร่วมมือเหล่านี้จะยังคงมีความสำคัญในช่วงหลายปีนี้”
โครงการ Water Efficient Maize for Africa (WEMA) คืออีกหนึ่งตัวอย่างความร่วมมือภาครัฐ-เอกชน โครงการดังกล่าวจะเริ่มต้นในปี 2560 โดยประเทศแถบแอฟริกาบางประเทศจะได้รับข้าวโพดเทคโนชีวภาพทนแล้งพันธุ์แรก ทั้งนี้ ข้าวโพดเป็นอาหารหลักของชาวแอฟริกันยากจนกว่า 300 ล้านคน พันธุ์ข้าวโพดเทคโนชีวภาพที่มอบให้แก่เกษตรกรในแอฟริกานั้นเป็นพันธุ์เดียวกับข้าวโพด DroughtGard(TM) ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีการเพาะปลูกเพิ่มขึ้นถึง 5.5 เท่าในระหว่างปี 2556-2557 อันแสดงให้เห็นถึงการยอมรับของเกษตรกรที่มีต่อพันธุ์ข้าวโพดทนแล้งนี้ได้เป็นอย่างดี
การอนุมัติครั้งใหม่ช่วยแก้ไขความวิตกของผู้บริโภค
ในประเทศสหรัฐอเมริกา มันฝรั่งสายพันธุ์ Innate(TM) ได้รับการอนุมัติให้เพาะปลูกในเดือนพฤศจิกายน 2557 มันฝรั่งสายพันธุ์ Innate จะช่วยลดการผลิตสารอะคริลาไมด์ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง เมื่อนำมันฝรั่งไปทำอาหารด้วยความร้อนสูง นอกจากนี้ มันฝรั่งสายพันธุ์ดังกล่าวยังช่วยเพิ่มความพึงพอใจให้ผู้บริโภค ขณะเดียวกันก็สามารถลดการสูญเสียผลผลิตได้มากกว่า 40% เนื่องจากมันฝรั่งจะไม่เปลี่ยนสีเมื่อปอกเปลือกแล้วและมีรอยช้ำไม่มากนัก คุณสมบัติเหล่านี้มีผลต่อความปลอดภัยของอาหาร เนื่องจากการสูญเสียอาหารอย่างเปล่าประโยชน์คือปัจจัยที่สำคัญในการอภิปรายเกี่ยวกับการเลี้ยงประชากร 9.6 พันล้านคนในปี 2593 และประมาณ 1.1 หมื่นล้านคนในปี 2643
มันฝรั่งเป็นอาหารหลักที่มีความสำคัญที่สุดเป็นอันดับ 4 ในโลก ด้วยเหตุนี้ จึงมีความพยายามอย่างต่อเนื่องที่จะพัฒนาสายพันธุ์มันฝรั่ง และต่อสู้กับการสูญเสียผลผลิต อันเนื่องมาจากโรค แมลง วัชพืช และข้อจำกัดอื่นๆ
การควบคุมโรคใบไหม้ในมันฝรั่ง ซึ่งเป็นโรคราในพืชที่สำคัญที่สุดของมันฝรั่งทั่วโลก ได้รับการทดสอบภาคสนามแล้วในบังกลาเทศ อินเดีย และอินโดนีเซีย โรคใบไหม้เป็นสาเหตุของภาวะขาดแคลนอาหารในไอร์แลนด์เมื่อปี 2388 ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 1 ล้านคน การควบคุมโรคไวรัสของพืชเทคโนชีวภาพ และด้วงโคโลราโด ซึ่งเป็นแมลงศัตรูพืชที่สำคัญที่สุด สามารถใช้การได้แล้ว แต่ยังไม่ได้มีการนำไปใช้จริง
รายงานสถานการณ์พืชดัดแปลงพันธุกรรมในเอเชีย
ในภูมิภาคเอเชีย จีน และอินเดียยังคงเป็นผู้นำในการเพาะปลูกพืชเทคโนชีวภาพในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา โดยมีการเพาะปลูกบนพื้นที่ 3.9 ล้านเฮกตาร์ และ 11.6 ล้านเฮกตาร์ตามลำดับ ในปี 2557
อัตราการใช้ฝ้ายเทคโนชีวภาพในจีนเพิ่มขึ้นจาก 90% เป็น 93% ในปี 2557 ขณะเดียวกันมีการปลูกมะละกอต้านเชื้อไวรัสเพิ่มขึ้นประมาณ 50% เกษตรกรรายย่อยกว่า 7 ล้านรายในจีนยังคงได้รับประโยชน์จากพืชเทคโนชีวภาพอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดยังบ่งชี้ว่า ตั้งแต่มีการผลิตพืชเทคโนชีวภาพขึ้นมาในปี 2539 จีนสามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้นถึง 1.62 หมื่นล้านดอลลาร์
จากรายงานข้างต้น อินเดียมีการเพาะปลูกฝ้ายพันธุ์บีที (Bt Cotton) มากที่สุดเป็นประวัติการณ์ บนพื้นที่ราว 11.6 ล้านเฮกตาร์ และมีอัตราการนำพืชผลมาใช้ 95% นายบรูเคส (Brookes ) และบาร์ฟุต (Barfoot ) นักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษ เคยคาดการณ์ไว้ว่า อินเดียจะเพิ่มรายได้ทางการเกษตรจากฝ้ายบีทีได้ถึง 2.1 พันล้านดอลลาร์ในปี 2556 เพียงปีเดียวเท่านั้น
กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาอย่าง เวียดนาม และอินโดนีเซีย ต่างก็ยอมรับผลการอนุมัติการนำพืชเทคโนชีวภาพมาใช้ในเชิงพาณิชย์ ซึ่งจะเริ่มในช่วงต้นปีนี้ โดยรวมถึงข้าวโพดเทคโนชีวภาพหลากหลายสายพันธุ์ เพื่อการนำเข้าและเพาะปลูกในเวียดนาม และอ้อยที่ทนต่อสภาพอากาศในหน้าแล้งเพื่อการเพาะปลูกเป็นอาหารในอินโดนีเซีย
การปลูกพืชเทคโนชีวภาพขยายตัวอย่างต่อเนื่องในแอฟริกา และละตินอเมริกา
แอฟริกาใต้ติดอันดับ 1 ด้านการเพาะปลูกพืชเทคโนชีวภาพในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคแอฟริกา โดยมีพื้นที่เพาะปลูกในปี 2557 รวมทั้งสิ้น 2.7 ล้านเฮกตาร์ ขณะที่ซูดานได้เพิ่มปริมาณการเพาะปลูกฝ้ายบีทีขึ้นประมาณ 50% ในปี 2557 และหลายประเทศในแอฟริกา อาทิ แคเมอรูน, อียิปต์, กานา, เคนยา, มาลาวี, ไนจีเรีย และยูกันดา ต่างดำเนินการทดลองการปลูกพืชที่มีมูลค่าต่ำหลากหลายประเภท ได้แก่ ข้าว, ข้าวโพด, ข้าวสาลี, ข้าวฟ่าง, กล้วย, มันสำปะหลัง และมันเทศ เป็นต้น พันธุ์พืชเหล่านี้สามารถต้านทานโรคได้ และให้ผลผลิตคงที่ในสภาวะที่ต้องเผชิญกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงครั้งใหม่
ในภูมิภาคละตินอเมริกานั้น บราซิลเป็นประเทศที่เพาะปลูกพืชเทคโนชีวภาพได้มากเป็นอันดับ 2 รองจากสหรัฐ ในปี 2557 โดยบราซิลมีพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมด 42.2 ล้านเฮกตาร์ ซึ่งเพิ่มขึ้น 5% จากปี 2556
พืชเทคโนชีวภาพมีผลกระทบต่อความมั่นคงด้านอาหาร ความยั่งยืน และสภาพแวดล้อม
ในระหว่างปี 2539 - 2556 พืชเทคโนชีภาพได้เพิ่มมูลค่าผลผลิตเป็น 1.33 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งช่วยบรรเทาความยากจนของเกษตรกรรายเล็กและครอบครัวได้มากถึง 16.5 ล้านราย หรือกว่า 65 ล้านราย โดยบางรายอยู่ในกลุ่มประชากรที่ยากจนที่สุดในโลก และช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของอาหารและการผลิตเส้นใย ด้วยการลดปริมาณการใช้ยาฆ่าแมลงลง เพิ่มที่ดินสำหรับใช้ประโยชน์อย่างอื่น และลดปริมาณการปลดปล่อยก๊าซ CO2
บรู้คส์ และ บาร์ฟุต เปิดเผยว่า หากไม่มีการผลิตอาหาร อาหารปศุสัตว์ และเส้นใยเพิ่มขึ้น 441 ล้านตันในระหว่างปี 2539 - 2556 ก็จะใช้พื้นที่เพาะปลูกพืชธรรมดาเพิ่มขึ้น 132 ล้านเฮคตาร์เพื่อให้ได้ผลผลิตในจำนวนเท่ากัน พื้นที่ที่ต้องใช้เพิ่มนี้อาจจะมีผลกระทบในเชิงลบต่อความหลากหลายทางชีวภาพและสภาพแวดล้อมอันเนื่องมาจากความจำเป็นที่ต้องใช้พื้นที่เพาะปลูกมากขึ้น
ข้อมูลตัวเลข
- สหรัฐยังรั้งตำแหน่งประเทศผู้นำ ด้วยพื้นที่การเพาะปลูกพืชเทคโนชีวภาพจำนวน 73.1 ล้านเฮคตาร์ เพิ่มขึ้น 4% เมื่อเทียบปีต่อปี หรือเท่ากับ 3 ล้านเฮคตาร์
- บราซิลมีพื้นที่เพาะปลูกเป็นอันดับที่สองเป็นปีที่ 6 ติดต่อกัน โดยมีพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้น 1.9 ล้านเฮคตาร์จากปี 2556
- อินเดียและแคนาดามีพื้นที่เพาะปลูกเท่ากันที่ 11.6 ล้านเฮคตาร์ อินเดียมีอัตราการนำฝ้ายเทคโนชีวภาพไปใช้ 95% ในขณะที่พื้นที่การเพาะปลูกคาโนลาและถั่วเหลืองได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในแคนาดา
สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมหรือสรุปสำหรับผู้บริหารได้ที่ www.isaaa.org
เกี่ยวกับองค์การไอซ่า
องค์การไอซ่า (International Service for the Acquisition of Agri-Biotech Applications: ISAAA) เป็นองค์กรที่ไม่แสวงผลกำไร โดยมีเครือข่ายศูนย์กลางนานาชาติสำหรับแบ่งปันความรู้และการใช้พืชเทคโนชีวภาพเพื่อช่วยบรรเทาความหิวโหยและความยากจน ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา ไคลฟ์ เจมส์ ประธานและผู้ก่อตั้งองค์การไอซ่า ได้ใช้ชีวิตและ/หรือทำงานในประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศในเอเชีย ละตินอเมริกา และแอฟริกา โดยอุทิศตนให้กับงานด้านการวิจัยและพัฒนาทางการเกษตร ซึ่งมุ่งเน้นไปที่พืชเทคโนชีวภาพและความมั่นคงทางอาหารทั่วโลก
ติดต่อ:
ตัวแทนองค์การไอซ่า
มอลลี ลาสโทวิกา (Mollie Lastovica)
โทร: 713-513-9524
อีเมล: [email protected]
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit