รมว.สธ. หนุนวิจัยมุ่งเป้า Thai CV Risk Score ประเมินความเสี่ยงโรคหัวใจ

08 Apr 2015
ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมเสนอผลงานประจำปี “คลัสเตอร์วิจัยด้านโรคหัวใจ หลอดเลือดและเมแทบอลิซึม” (Cardiovascular-Metabolic Research Cluster) นำโดย ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ในฐานะนักวิจัยโครงการวิจัยเพื่อการป้องกัน รักษา และการดูแลผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCD) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) พร้อมนำเสนอความก้าวหน้าการวิจัยกว่า 20 หัวข้อที่เกี่ยวข้อง อาทิ การติดตามผู้ป่วยที่มีโรคหลอดเลือดหัวใจตีบร่วมกับภาวะบีบตัวของหัวใจผิดปกติแบบสหสถาบัน การติดตามผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดแบบสหสถาบัน(ส.ห.ส.) การศึกษาระดับ INR ที่เหมาะสมในผู้ป่วย valvular atrial fibrillation และผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดใส่ลิ้นหัวใจเทียม การพัฒนาแบบประเมินความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด “Thai CV Risk Score” เป็นต้น ที่โรงแรมอีสตัน แกรนด์ สาธร กรุงเทพฯ
รมว.สธ. หนุนวิจัยมุ่งเป้า Thai CV Risk Score ประเมินความเสี่ยงโรคหัวใจ

ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สาธารณสุข เผยว่า โรคหัวใจและหลอดเลือด ในประเทศไทยถือเป็นปัญหาสาธารณสุขระดับชาติ ปัจจุบันพบอัตราการเจ็บป่วยในคนไทยปีละ 1 แสนคน เสียชีวิต 70,000 รายต่อปีหรือเฉลี่ยเสียชีวิต 8 รายต่อชั่วโมง พบมากในกลุ่มวัยแรงงานที่มีอายุต่ำกว่า 60 ปี เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรและบางรายทุพพลภาพจากอาการอัมพาต ส่งผลต่อเศรษฐกิจและการพัฒนาของประเทศ ขณะเดียวกันการเจ็บป่วยดังกล่าว ยังส่งผลกระทบถึงค่าใช้จ่ายด้านการรักษาในระบบสุขภาพของประเทศเพิ่มขั้นอย่างน่าตกใจ ดังนั้นการบรรเทาค่าใช้จ่ายในระบบสุขภาพ จะต้องมีการสร้างองค์ความรู้จากงานวิจัย เพื่อนำมาพัฒนาแนวทางการป้องกันรักษา หรือสร้างแบบประเมินคัดกรองความเสี่ยงต่างๆ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ชุดโครงการวิจัยด้านโรคหัวใจ หลอดเลือดและเมแทบอลิซึม แสดงให้เห็นถึงการเป็นแบบอย่างที่ดีของการพัฒนาวงการแพทย์และสาธารณสุขไทย มีความโดดเด่นสำคัญ 5 ประการ คือ 1.เป็นโครงการที่เกิดจากวิสัยทัศน์ของนักวิชาการ คือ ศ.นพ.สมชาติ โลจายะ และ ศ.นพ.วิชัย ตันไพจิตร ที่มองไกลถึงปัญหาสุขภาพโรคที่เป็นปัญหาของคนไทยในอนาคต จึงเริ่มต้นศึกษาปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด ใน พนง.กฟผ. จำนวน 9,084 คน ที่มีการศึกษายาวนานที่สุดในประเทศมาถึงปัจจุบัน รวมแล้วกว่า 30 ปี เพื่อติดตามปัจจัยเสี่ยงและการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด 2.เป็นโครงการวิจัยที่เป็นแบบอย่างของการวิจัยทางคลินิก การวิจัยทางระบาดวิทยา ที่ผสมผสานกับวิทยาศาสตร์พื้นฐาน ในการศึกษาวิจัยในประเด็นที่ประเทศกำลังต้องการองค์ความรู้หรือนวัตกรรมใหม่มาใช้ประโยชน์ เพื่อหาปรับแนวทางการรักษาพยาบาล การดูแลผู้ป่วย และการป้องกันโรค

“3.เป็นโครงการวิจัยที่มีการพัฒนาในเชิงศักยภาพของการสร้างเครือข่ายอย่างเสมอมา จากการทำงานวิจัยมากว่า 30 ปี ทำให้มีเครือข่ายสหสาขาวิชาเกิดขึ้น ไม่เพียงแต่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางโรคหัวใจ แต่ยังมีสาขาอื่นๆ เข้ามาร่วมศึกษา เช่น ด้านพันธุ์ศาสตร์ ด้านทันตแพทย์ เป็นต้น ถือเป็นการขยายฐานความเข้มแข็งจากศาสตร์ต่างๆ ร่วมดำเนินงานด้านวิจัยให้เกิดความเข้มแข็ง ตลอดจนการสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ๆ ได้เข้ามาเรียนรู้การทำงาน 4.เป็นโครงการวิจัยมีผลงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารชั้นนำของโลก กว่า 10 เรื่อง ถือเป็นโอกาสในการแสดงความสามารถของนักวิจัยของประเทศไทย นอกจากนี้ ผลงานวิจัยยังผ่องถ่ายมาเป็นงานใช้ประโยชน์ เช่น การพัฒนามาเป็นแบบประเมินความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด “Thai CV Risk Score” ในการใช้คัดกรองความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและเส้นเลือดตีบในสมอง และ 5.เป็นต้นแบบของคลัสเตอร์วิจัย ที่มีการทำงานศึกษาวิจัยอย่างต่อเนื่องเหมาะกับการเป็นต้นแบบของการเกิดคลัสเตอร์งานวิจัยในประเด็นอื่นๆ” ศ.นพ.รัชตะ กล่าว

ศ.นพ.รัชตะ กล่าวด้วยว่า สำหรับการดำเนินงานตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุข จะเน้นหนักในเรื่องของงานควบคุมป้องกันโรค โดยเฉพาะการสร้างเสริมสุขภาพ มองว่าแบบประเมินความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด “Thai CV Risk Score” จากการวิจัยในชุดโครงการฯ ที่สนับสนุนโดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) นั้น สามารถนำมาใช้ในการทำงานคัดกรองความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและเส้นเลือดตีบในสมองในระบบบริการสุขภาพได้ เช่น การนำมาใช้กับทีมหมอครอบครัวที่สามารถเข้าถึงประชาชนทุกกลุ่มได้ โดยเบื้องต้นจะมอบให้กรมการแพทย์ พิจารณาแบบประเมินดังกล่าวไปใช้ในการทำงานด้านสาธารณสุขต่อไป

ทั้งนี้ แบบประเมิน “Thai CV Risk Score” ได้ออกแบบให้สามารถใช้งานได้ง่าย เหมาะสำหรับผู้มีอายุ 35-70 ปี ที่ยังไม่ป่วย มีคำถามหลักๆ เช่น อายุ เพศ พฤติกรรมการสูบบุหรี่ โรคประจำตัว ส่วนสูง น้ำหนัก ระดับไขมันในเลือด เป็นต้น จากนั้นระบบจะทำการประมวลผลความเสี่ยงในอีก 10 ปีข้างหน้า ถึงโอกาสการเจ็บป่วย พร้อมกับแนะนำแนวทางในการดูแลตนเอง โดยแบบประเมินความเสี่ยงนี้ยังสามารถใช้ได้กับผู้ไม่มีผลเลือด โดยใช้ขนาดรอบเอวและส่วนสูลแทนค่าระดับไขมันในเลือด ปัจจุบันมีการพัฒนาให้ประชาชนสามารถใช้บนสมาร์ทโฟนและระบบออนไลน์ ได้ทาง http://med.mahidol.ac.th/cvmc/th/event/thaiCVriskscore ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่เคยมีแบบประเมินความเสี่ยงประเภทนี้

ด้าน ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวว่า สวรส. ได้รับมอบหมายจาก วช. ในการสนับสนุนทุนวิจัยมุ่งเป้าในแผนงานวิจัยเพื่อการป้องกัน รักษา และการดูแลผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCD) ในปี 2557 โดยกลุ่มวิจัยด้านโรคหัวใจ หลอดเลือดและเมแทบอลิซึม ได้รับทุนสนับสนุนดังกล่าว มีความก้าวหน้าในการวิจัยและได้นำมาผลงานมานำเสนอในเวทีเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้อง โดยมีผลงานที่โดดเด่นหลายด้าน เช่น การทำ Application Thai CV risk score ผลงานวิจัยนี้เป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากในการคัดกรองความเสี่ยง ถือเป็นการนำผลงานวิจัยมาใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้ที่มีอยู่ จะช่วยให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชนที่จะนำไปสู่การดูแลสุขภาพ ลดการเจ็บป่วยให้กับประชาชนคนไทยเกือบ 70 ล้านคนในอนาคต

รมว.สธ. หนุนวิจัยมุ่งเป้า Thai CV Risk Score ประเมินความเสี่ยงโรคหัวใจ