นายวิมล จันทรโรทัย โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงข้อมูลสถานการณ์ผลไม้ปี 2558 และแผนบริหารจัดการผลไม้ที่จะเริ่มออกสู่ตลาด ว่า กระทรวงเกษตรฯ ได้เตรียมมาตรการรองรับสถานการณ์ผลผลิตผลไม้ที่จะออกสู่ตลาดที่อาจส่งผลกระทบในด้านราคาไว้ล่วงหน้า เช่น การประเมินสถานการณ์การผลิตไม้ผลช่วงธันวาคม 2557 โดยสำรวจและคาดคะเนความต้องการผลผลิตจากผู้ประกอบการ ตามเกรดคุณภาพในแต่ละช่วงเวลาของแต่ละจังหวัด เพื่อปรับสมดุลระหว่างปริมาณผลผลิตและความต้องการ โดยมีการเจรจาซื้อขายล่วงหน้า รวมถึงเชื่อมโยงการผลิต การตลาด ในการบริหารจัดการผลผลิตช่วงที่ออกมาก เช่น ใช้เครือข่ายสหกรณ์ การค้าภายใน พาณิชย์จังหวัด โดยการบูรณาการแผนงานร่วมกับหน่วยงานในสังกัด ทั้งด้านการบริหารจัดการก่อนผลผลิตออกสู่ตลาด การเพิ่มช่องทางการตลาดเพื่อจำหน่ายผลผลิตสู่ผู้บริโภคโดยตรง รวมทั้งการควบคุมมาตรฐานการผลิตเพื่อให้ได้คุณภาพสามารถส่งออกไปตลาดต่างประเทศได้อีกด้วย ขณะเดียวกัน ได้มอบหมายให้ สศก.ติดตามสถานการณ์ผลผลิตผลไม้และราคาอย่างใกล้ชิด เพื่อวิเคราะห์ผลผลิตเป็นรายภาคที่จะเริ่มออกสู่ตลาดเป็นระยะๆ และนำมากำหนดมาตรการบริหารจัดการก่อนผลผลิตจะออกสู่ตลาดมากและส่งผลกระทบต่อราคา
ด้าน นางสาวจริยา สุทธิไชยา รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เปิดเผยว่า จากการคาดการณ์ผลผลิตผลไม้ในปี 2558 ที่จะออกสู่ตลาด โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร พบว่า ปริมาณผลผลิตโดยส่วนใหญ่มีแนวโน้มลดลงกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการติดช่อดอก และเกษตรกรลดพื้นที่ปลูกลงปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่น โดย มังคุด ผลผลิตรวมทั้งประเทศปริมาณ 0.279 ล้านตัน ลดลงจากปีที่แล้ว 10,735 ตัน หรือร้อยละ 3.71 และในช่วงเดือนมิ.ย.คาดว่าจะมีผลผลิตออกสู่ตลาดสูงสุด หรือประมาณร้อยละ 31 เงาะ ผลผลิตรวมทั้งประเทศปริมาณ 0.314 ล้านตัน ลดลงจากปีที่แล้ว 7,310 ตัน หรือร้อยละ 2.27 คาดว่าผลผลิตจะเริ่มออกสู่ตลาดเดือนเม.ย. และจะออกมากในช่วง มิ.ย.ประมาณร้อยละ 34 ลองกอง ผลผลิตรวมทั้งประเทศปริมาณ 0.176 ล้านตัน ลดลงจากปีที่แล้ว 1,762 ตัน หรือร้อยละ 0.99 ลำไย ผลผลิตรวมทั้งประเทศ 0.966 ล้านตัน ลดลงจากปีที่แล้ว 28,755 ตัน หรือร้อยละ 2.89 ซึ่งคาดว่าจะมีผลผลิตออกสู่ตลาดเดือนพ.ค. และจะออกมากในช่วงเดือน ก.ค. ถึง ส.ค. ลิ้นจี่ ผลผลิตรวมทั้งประเทศ 59,912 ตัน ลดลงจากปีที่แล้ว 9,648 ตัน หรือร้อยละ 13.87 โดยลิ้นจี่ทางภาคเหนือคาดว่าจะมีผลผลิตออกสู่ตลาดในช่วงเม.ย. ประมาณร้อยละ 2 และคาดว่าจะออกสู่ตลาดมากในช่วงพ.ค. ขณะที่ ทุเรียน ผลผลิตรวมทั้งประเทศ 0.671 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 38,985 ตัน หรือร้อยละ 6.17 เนื่องจากสภาพอากาศเอื้ออำนวย ทุเรียนออกดอกและติดผลดี ประกอบกับราคาทุเรียนในปีที่ผ่านมาอยู่ในเกณฑ์ดี จูงใจให้เกษตรกรดูแลเอาใจใส่มากขึ้น ส่งผลให้ภาพรวมผลผลิตเพิ่มขึ้น โดยผลผลิตจะออกสู่ตลาดมากในเดือนพฤษภาคม
สำหรับสถานการณ์ราคาในภาพรวมในปีนี้ นายมนู โป้สมบูรณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านส่งเสริมและจัดการการผลิตไม้ผล ไม้ยืนต้น และยางพารา กรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า คาดว่าราคาที่เกษตรกรขายได้จะสูงกว่าปีที่ผ่านมา โดย ทุเรียน ราคาที่เกษตรกรขายได้ในช่วงปลายเดือนมีนาคมซึ่งเป็นช่วงต้นฤดู ราคาโดยรวมค่อนข้างมีราคาดี โดยราคาที่เกษตรกรขายได้ช่วงนี้เป็นราคาทุเรียนพันธุ์หมอนทองคละของจังหวัดจันทบุรี และตราดเฉลี่ย เฉลี่ย กก.ละ 79.30 บาท ในขณะที่พันธุ์ชะนีคละเฉลี่ย กก.ละ 62.46 บาท หากเทียบกับปีที่ผ่านมาในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกันทุเรียนหมอนทองมีราคาเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่แล้วร้อยละ 64.62 เนื่องจากมีผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยร้อยละ 3 เพราะเป็นช่วงต้นฤดูผลผลิต มังคุด ราคาที่เกษตรกรขายได้ที่สวนในภาคตะวันออก พบว่า ในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี ราคาที่เกษตรกรขายได้มังคุดเกรดคละ (เพื่อส่งออก) ราคาเฉลี่ย กก.ละ 172 บาท เนื่องจากเป็นช่วงต้นฤดูผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยมาก เพียงร้อยละ 0.05 เท่านั้น และคาดว่าราคาน่าจะยังอยู่ในเกณฑ์ดีตลอดเดือนเม.ย. ลำไย ราคาที่เกษตรกรขายได้ลำไยสดทั้งช่อ เกรด AA เฉลี่ย กก.ละ 40.21 บาท ราคาสูงกว่าปีที่แล้วในช่วงเดียวกันร้อยละ 16.58 เกรด A มีราคาเฉลี่ย กก.ละ 33.71 บาท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 10.74 แต่ราคาที่เกษตรกรขายได้ของลำไยสดทั้งช่อชนิดคละกลับมีราคาลดลงกล่าวคือ ราคาที่เกษตรกรขายเฉลี่ย กก.ละ 39.60 บาท ลดลงจากปีที่แล้วร้อยละ 13.91 เนื่องจากเป็นราคาลำไยนอกฤดูของจันทบุรี ลิ้นจี่ ในแหล่งผลิตสำคัญที่จังหวัดสมุทรสงคราม เป็นลิ้นจี่พันธุ์ค่อม ช่วงนี้ยังไม่มีราคา คาดว่าจะเริ่มเก็บผลผลิตได้กลางเดือนเมษายน ซึ่งในปีนี้ผลผลิตออกช้ากว่าปีที่แล้วเนื่องจากได้รับผลกระทบจากอากาศร้อน ลมแรง และน้ำทะเลหนุน ทำให้ลูกหล่นจึงมีแนวโน้มว่าราคาน่าจะดีกว่าปีที่แล้ว
ด้าน นายเชิดชัย พรหมแก้ว ผู้อำนวยการกองพัฒนาสหกรณ์ภาคการเกษตรและกลุ่มเกษตรกรกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้จัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินการตามโครงการพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรสู่มาตรฐาน วงเงินงบประมาณ จำนวน 10,304,300 บาท สำหรับ 92 สหกรณ์ ใน 19 จังหวัด ดำเนินกิจกรรม 3 ลักษณะ ได้แก่ งบประมาณเพื่อช่วยเหลือและส่งเสริมติดตามการดำเนินธุรกิจรวบรวมและจำหน่ายผลไม้ของสถาบันเกษตรกร งบประมาณเพื่อการประชาสัมพันธ์ และส่งเสริมการขายผลไม้ของสถาบันเกษตรกรในส่วนกลาง และสำนักงานสหกรณ์จังหวัด 19 จังหวัด และงบอุดหนุนเพื่อเพิ่มศักยภาพธุรกิจรวบรวมแปรรูป การตลาดและกระจายสินค้าของสหกรณ์ เป็นต้น รวมทั้งได้มีการส่งเสริมการส่งออกผักผลไม้ไทยให้มีปริมาณเพิ่มมากขึ้น ซึ่งผักผลไม้ไทย เป็นผักผลไม้ที่มีคุณภาพและเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ จัดกิจกรรม “เทศกาลผักผลไม้ไทยคุณภาพ” ขึ้นในระหว่างวันที่ 4 – 31 พฤษภาคม 2558 ณ ข้างทำเนียบรัฐบาล บริเวณริมคลองผดุงกรุงเกษม เพื่อจัดเป็นกิจกรรมรณรงค์ให้ประชาชนทั่วไปได้หันมาบริโภคผักผลไม้ในช่วงฤดูกาลที่มีคุณภาพ ที่จำหน่ายทั้งภายในและต่างประเทศ หากินได้ยาก หรือที่มีความโดดเด่นไม่มีขายทั่วไปตามท้องตลาด และประชาสัมพันธ์สร้างความมั่นใจในการบริโภคผักผลไม้ไทยให้แก่ผู้บริโภค เพื่อเป็นแรงกระตุ้นในการพัฒนาผักผลไม้ไทย และเพิ่มปริมาณความต้องการใช้ผักผลไม้ไทยทั้งภายในและภายนอกประเทศ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและสร้างเครือข่ายการผลิตและจำหน่ายผักผลไม้
ขณะที่ น.ส.ธัญลักษ์ เจริญปรุ รองผู้อำนวยการและรักษาการแทนตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) กล่าวว่า อ.ต.ก. เตรียมจัดกิจกรรมส่งเสริมการบริโภคและจำหน่ายลิ้นจี่คุณภาพ ระหว่างวันที่ 12 – 26 พฤษภาคม 2558 ณ ตลาด อ.ต.ก. ย่านพหลโยธิน จตุจักร และยังได้มีการประสานกับตลาดเอกชนใน กทม. ที่มีศักยภาพและกำลังซื้อของผู้บริโภคจำนวน 5 แห่ง เพื่อให้เกษตรกรได้นำผลผลิตลิ้นจี่ที่มีคุณภาพไปจำหน่ายถึงผู้บริโภคโดยตรง โดยเกษตรกรไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น ได้แก่ ตลาดนัดซันทาวน์เวอร์?(ข้างธนาคาร TMB สำนักงานใหญ่) ตลาดนัดรวมทรัพย์ (ถนนอโศก) เป็นต้น เพื่อส่งเสริมการบริโภคและจำหน่ายลิ้นจี่คุณภาพและเพิ่มช่องทางระบายผลผลิตการเกษตร?ทั้งในยามปกติ และภาวะผลผลิตล้นตลาด ทั้งนี้ ผลผลิตลิ้นจี่ที่เกษตรกรจะนำมาจำหน่ายต้องปฏิบัติตามขั้นตอนการบำรุงรักษาที่กำหนด โดยเฉพาะการห่อผลลิ้นจี่ตามวิธีการที่ถูกต้องเพื่อให้ได้ลิ้นจี่คุณภาพพรีเมี่ยมเกรดมาจำหน่ายแก่ผู้บริโภค
และ นายกฤษ อุตตมะเวทิน รองโฆษกสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.)กล่าวว่ามกอช. เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ขอร่วมสนับสนุนให้ขยายช่องทางการจำหน่ายไปยังตลาดต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น โดยส่งเสริมให้เกษตรกรและผู้ประกอบการมีความเข้าใจในกฎระเบียบของมาตรฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น มาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practice : GAP) ที่มีการตรวจประเมินในระบบฟาร์มหรือแปลงเพาะปลูก 8 ด้าน ด้วยกัน เช่น แหล่งน้ำ พื้นที่ปลูก การเก็บรักษาและขนย้ายผลผลิตภายในแปลง เป็นต้น เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐานการส่งออก มีความปลอดภัย และเป็นที่ยอมรับในการแข่งขันกับตลาดต่างประเทศด้วย
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit