การแข่งขันระดับประเทศนี้จัดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างบริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด สมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย ศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ และองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) โดยมีจุดมุ่งหมายในการส่งเสริมเยาวชนไทยให้มีโอกาสเรียนรู้และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับบุคลากรทางการแพทย์ นักกายภาพบำบัด วิศวกร นักวิทยาศาสตร์ นักออกแบบ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านหุ่นยนต์รวมทั้งนักวิชาการ และสร้างนวัตกรรมที่เอื้ออำนวยให้คนพิการได้ใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุข
ในการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ ผู้เข้าแข่งขันทั้ง 8 ทีมได้นำเสนออุปกรณ์ที่สร้างขึ้น สาธิตการทดลองใช้และแสดงผลลัพธ์ที่ได้ รวมทั้งนำเสนอผลงานบนเวที ทั้งนี้ หลักเกณฑ์การตัดสินผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศคืออุปกรณ์ที่นิสิต นักศึกษาประดิษฐ์ขึ้นจะต้องได้รับการทดสอบและทดลองแล้วว่าสามารถใช้งานได้จริง นำความสะดวกมาให้ผู้ใช้งาน และก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีกดร. พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวในระหว่างพิธีเปิดการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศว่า “การประกวดนวัตกรรมเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการนี้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในการสนับสนุนให้เยาวชนไทยมีความรักและความสนใจทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาศักยภาพของตนไปสู่การเป็นนักประดิษฐ์ในอนาคต”
ทีมไอนอยด์ (iNoid) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศได้ส่งผลงานหัวข้อ “ชุดอุปกรณ์ช่วยเรื่องการเดินของผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีกแบบแยกโมดูล” นวัตกรรมนี้ได้แสดงความสามารถพิเศษของนิสิตนักศึกษาในการพัฒนาโมดูลจำนวน 4 โมดูลเพื่อช่วยเรื่องการเดินของผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีก คืออุปกรณ์ที่ติดไว้กับตัวผู้ป่วย อุปกรณ์สำหรับติดตั้งไว้ภายในบ้าน เซ็นเซอร์ที่ทำหน้าที่หลักในการเก็บข้อมูลที่ส่งมาจากอุปกรณ์ภายในบ้าน และ API ซึ่งทางโรงพยาบาลหรือญาติสามารถใช้ข้อมูลที่เก็บไว้ที่เซ็นเซอร์ได้
นายพชร โรจนดิชกุล สมาชิกในทีมไอนอยด์ เล่าถึงชุดอุปกรณ์ช่วยเรื่องการเดินของผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีกแบบแยกโมดูล ที่ทางทีมพัฒนาขึ้นว่า “จุดเด่นของชิ้นงานที่ทางทีมประดิษฐ์คือการแยกอุปกรณ์ออกเป็น 4 โมดูล เนื่องจากผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีกแต่ละคนมีความต้องการที่ไม่เหมือนกัน การพัฒนาโมดูลแยกชิ้นทั้ง 4 โมดูลซึ่งในแต่ละโมดุลก็มีอุปกรณ์ที่แยกย่อยไปอีก จะช่วยตอบสนองความต้องการของผู้ป่วยได้มากยิ่งขึ้น ส่วนการพัฒนาศักยภาพของชิ้นงานในอนาคตนั้น ทางทีมจะพยายามทำให้ระบบมีความเสถียรมากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ป่วยได้หลายระดับ”อาจารย์ที่ปรึกษาของทีมไอนอยด์ คือ ดร. จุมพล พลวิชัย ซึ่งสมาชิกในทีมไอนอยด์ ประกอบด้วย 1. นายวิศณุ จูธารี2. นายฉัตริยะ จริยวจี3. นายพชร โรจดิชกุล4. นายอธิราช ภุมมะภูติ5. นายสุวัฒน์ แซ่ก๊วย
ส่วนอีกทีมที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศคือทีมไบโอแม็กซ์ (BIOMAX) จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ส่งผลงานหัวข้อ “อุปกรณ์ป้องกันสะโพกพร้อมระบบแจ้งเตือนการล้ม” ซึ่งเป็นการออกแบบอุปกรณ์ป้องกันการกระแทกของสะโพกที่ผลิตจาก PVC Foam และ NBR พร้อมกับออกแบบระบบตรวจจับการล้ม เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้กระดูกสะโพกหักเมื่อผู้สวมใส่ล้มพร้อมกับทำการแจ้งเตือน รูปแบบอุปกรณ์เป็นกางเกง โดยจะมีกระเป๋าบริเวณเหนือปุ่มกระดูกเกรทเตอร์โทรแคนเตอร์ (greater trochanter) เพื่อใช้ใส่แผ่นกันกระแทก และมีอุปกรณ์ที่ใช้ในระบบแจ้งเตือนการล้มติดบริเวณขอบของกางเกงอาจารย์ที่ปรึกษาของทีมคือ ดร. ภาคภูมิ สมบูรณ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมาชิกในทีม ไบโอแม็กซ์ ประกอบด้วย1. นายเผ่าพิชญ์ ศิริอาชาวัฒนา2. ว่าที่ร.ต. วีรพล สุวรรณฉาย3. นายณัฐบดี มีเดชประเสริฐ4. นายอติชาต อภิรักษ์คุณวงษ์5. นางสาวณัฐนพิญช์ จรูญศักดิ์
นายสุรัตน์ เสมาพงศ์พันธ์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิศวกรรม บริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ซีเกทได้สนับสนุนการแข่งขันหุ่นยนต์ในประเทศไทยมาเป็นเวลา 15 ปี ทางบริษัทฯ มีวัตถุประสงค์ในการสร้างการตระหนักและความสนใจในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์และคณิตศาสตร์หรือ STEM (Science Technology Engineering and Mathematics) ผ่านทางการปฏิบัติจริง ตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมา เราได้เห็นว่าศักยภาพในการพัฒนานวัตกรรมของเยาวชนไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก และที่สำคัญคือการทำงานร่วมกันเป็นทีมของนักประดิษฐ์ เราจึงอยากเห็นพวกเขาพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมที่ก่อเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีกต่อไป”
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ถวิดา มณีวรรณ์ นายกสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงการประกวดนวัตกรรมเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการว่า “18 ทีม จาก 10 สถาบันการศึกษาเข้าร่วมการแข่งขันในปีนี้ นวัตกรรมของแต่ละทีมต่างมีข้อดี-ข้อด้อยที่แตกต่างกันสำหรับผู้พิการ ซึ่งเชื่อมั่นว่านอกจากเยาวชนที่เข้าร่วมการประกวดจะได้เรียนรู้และแลกเปลี่ยนแนวคิดและประสบการณ์กับทีมอื่นๆ ซึ่งจะช่วยพัฒนาต่อยอดให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการใช้งานจริง”
แพทย์หญิงดารณี สุวพันธ์ ผู้อำนวยการศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ กล่าวว่า “ทางศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติขอขอบคุณทางบริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด สมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทยและองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติที่ร่วมกันจัดกิจกรรมการประกวดซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้พิการอัมพาตครึ่งซีก ซึ่งทางศูนย์สิรินธรฯ จะนำนวัตกรรมที่น้อง ๆ นิสิต นักศึกษาได้สร้างสรรค์ขึ้นไปใช้เพื่อประโยชน์ของผู้พิการต่อไป”
นางกรรณิการ์ วงศ์ทองศิริ รองผู้อำนวยการ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กล่าวว่า “ขอแสดงความยินดีกับเยาวชนทุกคนที่ได้รับรางวัลในการประกวดครั้งนี้ สำหรับเยาวชนที่เข้าร่วมการแข่งขันแต่ไม่ได้รับรางวัล ก็อย่าเพิ่งหมดกำลังใจ อยากให้มองลึกลงไปถึงขั้นตอนต่าง ๆ ที่ร่วมกับทีมพัฒนาผลงานกว่าจะนำเข้าประกวดได้ต้องผ่านการลองผิดลองถูกซ้ำแล้วซ้ำเล่า ประสบการณ์ตรงนั้นต่างหากที่สำคัญเพราะหาไม่ได้จากชั้นเรียนเราต้องลงมือทำเองจึงเกิดความตระหนักและเรียนรู้ อีกทั้งยังได้เพื่อนใหม่ ได้สังคมใหม่ๆ ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีคุณค่ามากกว่ารางวัลใดๆ ”เนื่องจากคณะกรรมการได้ตั้งหลักเกณฑ์ไว้ว่าทีมที่จะได้รับรางวัลชนะเลิศ ซึ่งประกอบด้วยถ้วยรางวัลพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และเงินรางวัล 300,000 บาท จะต้องได้คะแนนรวมไม่ต่ำกว่า 80 จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน แต่จากการรวมคะแนนแล้วไม่มีผู้เข้าแข่งขันทีมใดได้คะแนนเกิน 80 คะแนน และผลงานทั้งหมดยังต้องผ่านการขัดเกลาเพิ่มเติม จึงจะสามารถนำไปให้ผู้พิการอัมพาตครึ่งซีกใช้งานจริงต่อไปได้ ดังนั้น จึงไม่มีทีมใดได้รับรางวัลชนะเลิศในปีนี้สมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย
สมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2543 โดยกลุ่มบุคคลที่มีความสนใจและดำเนินงาน เกี่ยวข้องกับวิศวกรรมหุ่นยนต์ ท่านสามารถติดต่อสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ได้ที่เว็บไซต์ www.trs.or.thซีเกท
ซีเกทคือผู้ผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์และโซลูชั่นสำหรับจัดเก็บข้อมูลชั้นนำของโลก ท่านสามารถพบข้อมูลเกี่ยวกับซีเกทได้ที่ www.seagate.com
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit