กระทรวงเกษตรฯ ร่วม อบจ.ตรัง จัดงานวันยางพาราแห่งชาติ ประจำปี 2558” ระหว่างวันที่ 2 - 10 เมษายน 2558 พร้อมเปิดเวทีระดมความคิดเห็นผู้เกี่ยวข้องวงการยาง หวังพัฒนายางทั้งระบบให้ยั่งยืน

09 Apr 2015
นายอำนวย ปะติเส รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2547 เห็นชอบให้วันที่ 10 เมษายนของทุกปี เป็น "วันยางพาราแห่งชาติ” ซึ่งตรงกับวันถึงแก่อนิจกรรมของพระยารัษฎานุประดิษฐ์ มหิศรภักดี ดังนั้น เพื่อเชิดชูเกียรติและรำลึกถึงพระยารัษฎาฯ “บิดาแห่งยางพาราไทย” กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) ร่วมกับ องค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง จึงกำหนดจัดงาน “วันพระยารัษฎา บิดายางพาราไทย และวันยางพาราแห่งชาติประจำปี 2558” ภายใต้แนวคิด "ฝ่าวิกฤติยางพารา พัฒนาอย่างยั่งยืน”ระหว่างวันที่ 2 - 10 เมษายน 2558 ณ ลานเรือพระ สนามกีฬาเทศบาลนครตรัง (ทุ่งแจ้ง) อำเภอเมือง จังหวัดตรัง” โดยในปีนี้เป็นโอกาสครบรอบปีที่ 10 ของการจัดงานวันยางพาราแห่งชาติอีกด้วย

นายอำนวย กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันมีผู้ประกอบอาชีพการทำสวนยางประมาณ 1.5 ล้านครัวเรือน และประเทศไทยส่งออกยางพาราในรูปวัตถุดิบยาง ได้แก่ ยางแผ่นดิบ ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง ยางคอมปาวด์ น้ำยางสด รวมถึงไม้ยางพาราแปรรูป ซึ่งสร้างรายได้เข้าประเทศปีละไม่น้อยกว่า 4 แสนล้านบาท ดังนั้น ในช่วงภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ชาวสวนยางรายย่อยจึงได้รับผลกระทบจากราคายางที่ผันผวน การจัดงานในครั้งนี้ จึงเป็นโอกาสที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และทุกภาคส่วน จะได้บูรณาการร่วมกัน เพื่อพัฒนายางพาราทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ประกอบกับในปี 2557/58 เกษตรกรชาวสวนยางประสบปัญหาราคายางตกต่ำ ดังนั้น เกษตรกรจึงต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต และแนวคิดในการประกอบอาชีพการทำสวนยาง โดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นนโยบายที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำลังเร่งผลักดันให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อเกษตรกรชาวสวนยางและสถาบันเกษตรกร ให้อยู่รอดได้ด้วยความเข้มแข็งบนหลักการพึ่งพาตนเอง เพื่อให้อาชีพการทำสวนยางมีความยั่งยืน

“การจัดงานครั้งนี้ นอกจากเพื่อเชิดชูพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) อดีตเจ้าเมืองตรัง ที่ได้ส่งเสริมให้ชาวตรังปลูกยางพาราเป็นแห่งแรก และขยายไปจังหวัดอื่นในภาคใต้ รวมทั้งภาคตะวันออก กลายเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญ ทำให้เกษตรกรชาวสวนยางมีรายได้ดี และมีอาชีพที่มั่นคง ภายหลังเมื่อพื้นที่ปลูกยางขยายขึ้น ประกอบกับประเทศอื่นก็ปลูกยางพาราเพิ่มเช่นกัน ปริมาณผลผลิตยางมากกว่าความต้องการของตลาด ราคายางจึงตกต่ำ เกษตรกรชาวสวนยางได้รับผลกระทบและเดือดร้อน ซึ่งรัฐบาลตระหนักในเรื่องนี้ดี และได้ดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว นอกจากนี้ ยังมีนโยบายเพิ่มปริมาณใช้ยางในประเทศ เช่น นำยางพาราผสมยางแอสฟัลท์หรือราดถนน ส่งเสริมแปรรูปน้ำยางพาราเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ เช่น ใช้ในสนามกีฬา เป็นต้น” นายอำนวย กล่าว

กิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย การเสวนา "ฝ่าวิกฤติยางพารา พัฒนาสู่ความยั่งยืน” เพื่อระดมความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องกับวงการยางพาราไทยจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะสถาบันเกษตรกรทุกกลุ่ม พร้อมเปิดโอกาสให้ร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการแก้ปัญหายางตามนโยบายรัฐบาลตลอด 8 เดือนที่ผ่านมา ว่ามีปัญหาอุปสรรค ข้อดี ข้อเสียอย่างไร เพื่อร่วมกันหาทางออกและข้อเสนอแนะสำหรับปรับปรุงแนวทางการพัฒนายางพาราของประเทศ ซึ่งจะเป็นข้อมูลสำคัญที่รัฐบาลต้องการนำไปใช้สำหรับวางนโยบายพัฒนายางพาราทั้งระบบของประเทศ ในปี 2558/59 ต่อไป นอกจากนี้ ยังมีการแข่งขันนกกรงหัวจุก การประกวดกลุ่มชาวสวนยางดีเด่น การประกวดชาวสวนยางลูกทุ่งเสียงทอง การประกวดยางแผ่นดิบ