นายกมลธัญ พรไพศาลวิจิต ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทองคำ เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำในเดือนเมษายน 2558 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำฟื้นตัวเล็กน้อยหลังอ่อนตัวลงติดต่อกัน 3 เดือน แต่ค่าดัชนียังอยู่ใกล้ระดับ 50 จุดจึงยังไม่สะท้อนมุมมองเชิงบวกต่อราคาทองคำมากนัก โดยค่าดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำมาอยู่ที่ระดับ 49.93 จุด เพิ่มขึ้น 4.37 จุด ขณะที่ปัจจัยที่กลุ่มตัวอย่างคิดเห็นว่าจะมีผลต่อราคาทองคำระหว่างเดือนยังเป็นเรื่องการปรับตัวของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ทิศทางค่าเงินบาทที่เริ่มปรับแข็งค่า ความกังวลเรื่องการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ราคาน้ำมันดิบ รวมถึงการเก็งกำไรของนักลงทุน ที่น่าสนใจคือกลุ่มผู้ค้าทองคำกลับมีมุมมองที่ค่อนข้างบวกต่อราคาทองคำเดือนเมษายนซึ่งเป็นผลมาจากการอ่อนตัวของราคาทองคำเดือนมีนาคมที่ปรับตัวลงค่อนข้างมากและเชื่อว่าจะอยู่ในช่วงของการฟื้นตัว โดยดัชนีความเชื่อมั่นเฉพาะกลุ่มผู้ค้าเพิ่มขึ้น 12.67 จุด หรือเกือบ 30% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำในระยะสามเดือนข้างหน้าปรับตัวลดลงต่อเนื่องโดยลดลง 1.06 จุดมาอยู่ที่ระดับ 48.78 สะท้อนให้เห็นว่านักลงทุนและผู้ค้าทองคำยังมีความกังวลต่อการฟื้นตัวของราคาทองคำและเชื่อว่าราคาทองคำอาจจะมีการอ่อนตัวลงอีกครั้งในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า อย่างไรก็ดีเราประเมินว่าการปรับดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ น่าจะยังอยู่ในช่วงปลายไตรมาส 2 ถึงช่วงไตรมาส 3 เนื่องจากยังมีผลกระทบจากการแข็งค่าของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่กระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอยู่พอสมควร
ดร.ทรรศนะ บุญขวัญ ประธานคณะทำงานศูนย์วิจัยทองคำ ด้านบทสรุปความคิดเห็นผู้ค้าทองคำ (Gold Trader Consensus) จากผู้ประกอบกิจการค้าทองคำรายใหญ่ ผู้ค้าส่งทองคำ และผู้ประกอบกิจการนายหน้าซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่อ้างอิงกับราคาทองคำ จำนวน 7 ตัวอย่าง พบว่าผู้ค้าส่วนใหญ่มีมุมมองต่อราคาทองคำในช่วงเดือนเมษายน 2558 ในเชิงบวก โดยมีผู้ค้า 4 รายมองทองคำเฉลี่ยจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 3 รายมองราคาทองเฉลี่ยจะใกล้เคียงกับเดือนมีนาคม ขณะที่ไม่มีผู้ค้าหรือผู้ประกอบการรายใดเชื่อว่าราคาทองคำเฉลี่ยในเดือนเมษายนจะปรับตัวลดลง
โดยผู้ค้ามองว่าราคาทองคำในตลาดโลกน่าจะมีกรอบราคาสูงสุดอยู่ระหว่าง 1,240-1,260 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์ ส่วนกรอบการเคลื่อนไหวของราคาต่ำสุดอยู่ที่ 1,160-1,180 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์ สำหรับราคาทองคำแท่งในประเทศ (ความบริสุทธิ์ 95.5%) กลุ่มตัวอย่างให้น้ำหนักราคาสูงสุดที่ 19,000-19,500 บาทต่อหนึ่งบาททองคำ และกรอบการเคลื่อนไหวต่ำสุดอยู่ที่ 17,500-18,000 บาทต่อหนึ่งบาททองคำ
นอกจากนี้ศูนย์วิจัยทองคำยังเก็บข้อมูลต้นทุนหน้าเหมืองจาก 9 บริษัทผู้ผลิตรายใหญ่ในปี 2557 เพื่อดูแนวโน้มต้นทุนหน้าเหมืองพบว่าต้นทุนรวมในการประกอบธุรกิจเหมืองทองลดลงในช่วงปี 2557 ตามแนวโน้มตลาดทองคำที่ราคาตกต่ำลง จากต้นทุนรวม (All-In Sustaining Cost) เฉลี่ยถ่วงน้ำหนักในปี 2556 ประมาณ 1,036 เหรียญ/ออนซ์ มาอยู่ที่ระดับ 959 เหรียญ/ออนซ์ ในปี 2557 แต่ต้นทุนเฉพาะการผลิตทองคำ (Cash Cost) เฉลี่ยถ่วงน้ำหนักปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 672.47 เหรียญ/ออนซ์ ในปี 2556 มาอยู่ที่ระดับ 676.49 เหรียญ/ออนซ์ ในปี 2557
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit