ทั้งนี้ จากการสำรวจประชากรสูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ในประเทศไทย พ.ศ.2557 โดย สำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ประเทศไทยมีจำนวนและสัดส่วนของผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ล่าสุด ปี 2557 มีจำนวนผู้สูงอายุ คิดเป็น ร้อยละ 14.9 ของประชากรทั้งหมด หรือประมาณ 10 ล้านคน (10,014,699 คน) และจากการคาดประมาณการประชากรผู้สูงอายุของประเทศไทย โดย สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พบว่า ในอีก 10 ปี ข้างหน้า หรือ ปี พ.ศ. 2568 ไทยจะก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) จะมีผู้สูงอายุประมาณ 15.1 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นเกินร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด กล่าวคือ จะมีผู้สูงอายุ1 คน ในประชากรทุกๆ 5 คน อีกทั้ง จากการสำรวจข้อมูลครัวเรือนโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ยังพบว่า ครอบครัวที่อยู่ครบทั้งสามีภรรยาและลูกมีอัตราส่วนลดลงอย่างเห็นได้ชัด จาก 1 ใน 3 (ร้อยละ34.9) ในปี 2545 เหลือเพียง 1 ใน 4 (ร้อยละ 27.5) ในปี 2555 โดย ครอบครัวที่อยู่เฉพาะสามีและภรรยาเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 13.3 ในปี 2545 เป็นร้อยละ 15.7 ในปี 2555 สอดคล้องกับข้อมูลของครัวเรือนที่หลานอยู่กับปู่ย่าตายายมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 29.9 ในปี 2545 เป็น ร้อยละ 33.9 ในปี 2555 ซึ่งเหล่านี้สะท้อน ให้เห็นถึงความรักความผูกพันในครอบครัวไทยที่มีน้อยลง ภาระการเลี้ยงดูหลานตกอยู่กับผู้สูงอายุมากขึ้น
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า ช่วงวันหยุดยาวจึงเป็นโอกาสดีที่คนทั้ง 3 วัย พ่อแม่ ลูก และปู่ย่าตายาย จะได้ใช้เวลาสร้างความสุขร่วมกันในครอบครัว โดย ผู้สูงอายุ ควรใส่ใจดูแลสุขภาพกายและใจของตนเอง ตลอดจนนำพลังของตนมาร่วมสร้างสรรค์ครอบครัวและสังคมไทย เพราะการดำรงชีวิตอย่างมีคุณค่าของผู้สูงอายุจะนำความสุข ความมีชีวิตชีวา ความหวังและความภาคภูมิใจมาให้กับตัวผู้สูงอายุ ตลอดจน ก่อให้เกิดประโยชน์แก่บุคคลใกล้ชิด ครอบครัว ชุมชน และสังคมต่อไปได้ ขณะที่ ลูกหลาน สามารถมอบสิ่งดีๆ ให้กับผู้สูงอายุได้ โดย การมอบความรัก ด้วยการเคารพยกย่องให้เกียรติ ห่วงใย เอื้ออาทร ทั้งการกระทำและคำพูด มอบความเข้าใจ โดยต้องยอมรับธรรมชาติของผู้สูงอายุที่มีความเสื่อมไปตามวัย เข้าใจถึงวัยและสภาพร่างกายที่เปลี่ยนแปลง อาจมีการหลงลืม หรือกระทำเรื่องเดิมซ้ำๆ มอบการสัมผัส เช่น การกอด บีบนวด จับมือ เพื่อถ่ายทอดความรัก มอบเวลา ด้วยการพาท่องเที่ยว พูดคุยถามทุกข์สุข ความเป็นอยู่ และ มอบโอกาส เปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุแสดงประสบการณ์ หรือความภาคภูมิใจ และสนใจเรื่องราวต่างๆ รวมถึงเปิดโอกาสให้ได้ทำงานหรือกิจกรรมที่สามารถทำได้ โดยพึงระลึกไว้เสมอว่า ต้องทำด้วยใจ ด้วยความรักและความปรารถนาดี ไม่ใช่ทำเพราะหน้าที่
นอกจากนี้ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ยังได้แนะแนวทางสร้างความรักความผูกพันให้เกิดขึ้นในครอบครัว ตลอดจนเป็นการบริหารสมองและสร้างคุณค่าให้กับพ่อแม่และปู่ย่าตายาย ด้วยการสอนลูกหลานให้มีความเก่ง ฉลาด โดยการใช้เทคนิค 1.เพิ่มความอยากรู้อยากเห็นในตัวเด็ก ฝึกเด็กให้เป็นคนช่างถาม ช่างสังเกต ด้วยคำถามว่า “ทำไม”และ “อย่างไร”และจงภูมิใจว่าหลานเรามีแววเก่งเมื่อถาม 2. ให้กำลังใจเด็กและสร้างความมั่นใจให้กับเด็กด้วยการชมเชยว่า “ลูกเก่ง” “ถามดีนี่” “ฉลาด”
3. ถ้าผู้ใหญ่ยังไม่พร้อมที่จะตอบคำถาม ให้บอกเหตุผลกับเด็กตรงๆ เช่น “วันนี้ พ่อแม่/ตายายเหนื่อยมากให้เด็กไปทำอย่างอื่นก่อน” หรือตัดบทเมื่อเด็กพูดซ้ำเรื่องเดิม เช่น “เมื่อวานพูดเรื่องนี้ไปแล้ว แล้วเราแก้ไขอย่างไร ลองบอกพ่อแม่/ตายายซิ แล้ววันนี้หนูมีอะไรใหม่หรือไม่ ลองนึกดูซิ” และ 4. ทำให้การ ถาม-ตอบ เป็นเกมที่สนุกสำหรับเด็ก ด้วยคำถาม “ทำไม” “อย่างไร” บ่อยๆ ที่สำคัญ ต้องพึงระลึกไว้เสมอว่า การดุด่า เมื่อเด็กถามคำถามจะเป็นการทำลายความอยากรู้อยากเห็นของเด็ก และไม่จำเป็นว่าต้องตอบคำถามเด็กให้ได้ทุกคำถาม ตอบไม่ได้ก็ใช้วิธีการถามเด็กกลับ เพื่อให้หาคำตอบร่วมกัน ต้องจำไว้ว่า สิ่งสำคัญในการพัฒนาความฉลาดของเด็ก คือ “การให้ความสำคัญกับสิ่งที่เด็กสนใจและตัวเด็ก”
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit