กิจกรรม “เมืองนี้ฉันรัก (We Love Cities)” ได้จัดขึ้นเป็นปีที่ 3 โดย WWF หรือ กองทุนสัตว์ป่าโลก ได้เชิญชวนให้เมืองต่างๆ รอบโลก ร่วมสร้างความยั่งยืนและช่วยกันประหยัดพลังงาน โดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิได้พิจารณามาตรการต่าง ๆ รวมถึงพันธสัญญาของเมืองจากรายงานที่แต่ละเมืองจัดทำขึ้น โดยในปีนี้ เทศบาลนครขอนแก่น จ.ขอนแก่น และเทศบาลตำบล มาบอำมฤต จ.ชุมพร เป็นอีกสองเทศบาลที่เข้ารอบการแข่งขันนี้ ในบรรดา 44 เมือง จาก 163 เมืองทั่วโลก ที่ได้รับคัดเลือกให้เข้ารอบสุดท้ายจากทั้งหมด 16 ประเทศ อันแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่จะสร้างสรรค์เมืองไปสู่เมืองยั่งยืน โดยเป็นเมืองที่มีมาตรการต่างๆ รวมถึงพันธสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
สำหรับเทศบาลนครหาดใหญ่ ผู้ชนะเลิศ "เมืองยั่งยืนต้นแบบระดับประเทศ" นั้น ได้ดำเนินการอย่างเต็มที่ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากหลุมฝังกลบ ซึ่งถือเป็นยุทธศาสตร์ที่ยั่งยืนของเมืองที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน การเปลี่ยนขยะอินทรีย์ให้เป็นปุ๋ย และการผลิตน้ำมันดีเซลจากน้ำมันพืชที่ใช้แล้วจากครัวเรือน เป็นเพียงสองแนวทางจากอีกหลายแนวทางเพื่อเมืองยั่งยืนของหาดใหญ่ เทศบาลนครหาดใหญ่มีการรณรงค์ลดการใช้พลังงานในหน่วยงานของเทศบาล รวมทั้งดำเนินการร่วมกับภาคเอกชนในโครงการผลิตพลังงานจากของเสียเช่นขยะ
“WWF เชื่อในศักยภาพและพลังของทุกเทศบาลและเมืองในประเทศไทย และเราหวังว่าโครงการนี้จะสร้างแรงบันดาลใจให้กับทุกเทศบาล เป็นที่น่าดีใจว่า WWF จะยังดำเนินโครงการนี้อีกในปีหน้า อันเป็นโอกาสอันดีที่พวกเราจะได้ร่วมกันปลุกเมืองให้โลกเปลี่ยนอีกครั้ง และร่วมกันเปลี่ยนสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้ดีขึ้นเพื่ออนาคตของลูกหลานของเรา”นายกอร์ดอน คองดอน ผู้จัดการฝ่ายงานอนุรักษ์, WWF-ประเทศไทยกล่าว
โครงการ “ปลุกเมืองให้โลกเปลี่ยน” หรือ “Earth Hour City Challenge” มีวัตถุประสงค์เพื่อขับเคลื่อนมาตรการต่าง ๆ และการสนับสนุนของเมืองต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและระบบนิเวศของโลก เพื่อมุ่งสู่อนาคตที่ยั่งยืนที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานหมุนเวียน ในการเข้าร่วมโครงการนั้น แต่ละเมืองจะต้องส่งรายงานการดำเนินงานของเมือง ทั้งในหัวข้อกิจกรรมเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Mitigation) กิจกรรมที่เกิดขึ้นมารองรับการปรับตัวจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Adaptation)นอกจากนี้ WWF ยังต้องการให้เมืองต่างๆ จุดประกายให้ประเทศนั้นๆ สามารถเจรจาต่อรองด้านสภาพภูมิอากาศได้ ในการประชุมเจรจาสมัชชารัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 21 ที่จะจัดขึ้น ณ กรุงปารีส ในเดือนธันวาคมนี้
ปัจจุบัน ความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศ ที่วัดได้คือ 400 ส่วนในล้านส่วน หรือ Part Per Million หรือ400 ppm ซึ่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่มีการปฏิวัติอุตสาหกรรม โดยยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรมนั้นความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เฉลี่ยในชั้นบรรยากาศมีเพียง 280 ppm เท่านั้น ซึ่งทำให้ปัจจุบันโลกของเราร้อนขึ้นกว่า 1.6 องศาฟาเรนไฮท์ หรือเกือบ 1 องศาเซลเซียส ด้วยประชากรมากกว่าสามพันหกร้อยล้านคนที่อาศัยอยู่ในเมืองทั่วโลก เมืองจึงมีรอยเท้าทางสภาพภูมิอากาศที่ยิ่งใหญ่ และเป็นที่คาดการณ์ว่าประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นเป็น 6,300 ล้านคนในปี 2050 ขณะนี้ประชากรส่วนใหญ่ของโลกอาศัยอยู่ในเมืองและการพัฒนาของมนุษย์ที่สูงขึ้นในประเทศที่มีรายได้สูงที่ผ่านมานั้น ต้องแลกมาด้วยรอยเท้านิเวศขนาดใหญ่ การพัฒนาของมนุษย์ที่ไม่ต้องแลกมาด้วยรอยเท้านิเวศขนาดใหญ่ คือความท้าทายที่สำคัญยิ่งของโลก เมืองต่าง ๆ เป็นเสมือนจุดเชื่อมโยงไปสู่การรักษาสภาพภูมิอากาศให้ปลอดภัยในอนาคต ซึ่งหลายๆ เมืองกำลังมองหาวิธีการไปสู่การดูแลสภาพภูมิอากาศที่ดีขึ้น เช่น เมืองเคปทาวน์ ประเทศแอฟริกาใต้ ผู้ชนะเลิศของปีที่แล้ว ประสบผลสำเร็จในการใช้มาตรการลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการพัฒนาไปสู่เมืองคาร์บอนต่ำ โดยเฉพาะการใช้พลังงานหมุนเวียนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือ นครแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา ผู้ชนะเลิศประจำปี 2013 มีนวัตกรรมอันถือเป็นหัวใจหลักของแผนงานของเมืองสู่การเป็น “เมืองที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่สุดในโลก” ภายในปี พ.ศ. 2563 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ร้อยละ 50
สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมและได้ที่ www.welovecities.org
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit