สำหรับคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่เข้าร่วมกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ มีการแบ่งห้องอบรมออกเป็นสาขา ผ่านการแนะนำ และซักถามข้อมูลจากคณะกรรมการ โดยให้น้องๆ นิสิต นักศึกษาสามารถนำข้อเสนอแนะไปพัฒนา และปรับปรุงโครงการในการนำไปใช้ได้จริง อีกทั้ง ชุมชนสามารถต่อยอดแนวคิดเพื่อให้เกิดความยั่งยืนทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ดังนี้
สาขาเกษตรกรรม ได้แก่ อาจารย์เดชา ศิริภัทร ผู้อำนวยการมูลนิธิข้าวขวัญ และรองศาสตราจารย์ บำเพ็ญ เขียวหวาน ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและเสริมสร้างศักยภาพการจัดการทรัพยากรเพื่อท้องถิ่น มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
“ก้าวแรกของการทำงานด้านการเกษตร ไม่จำเป็นต้องเรียนเก่งมาก ขอแค่มีความตั้งใจและเต็มที่กับการทำงาน ถือเป็นการเริ่มต้นในการพัฒนาเกษตรกรรมแล้ว การทำงานด้านเกษตรกรรมต้องมองเห็นคุณค่าของเกษตรกรเป็นอันดับแรก มองเห็นความต้องการของเขา หาวิธีการแก้ไขปัญหาที่เราสามารถเข้าไปช่วยเหลือได้ และลงมือลงแรงปฏิบัติงานอย่างจริงจังต่อไป” อาจารย์เดชากล่าว
สาขาการศึกษา ได้แก่ ดร.บังอร เสรีรัตน์ รองศาสตราจารย์ประจำสาขาวิชาจิตวิทยา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา และคุณเกื้อ แก้วเกตุ มูลนิธิชนะใจ , อดีตผู้อำนวยการสมาคมศูนย์พัฒนาเยาวชน (YPDC)
“ร่วมกันคิด ร่วมกันริเริ่ม ร่วมกันทำงาน ด้วยสมองและสองมือของเรา เพราะประสบการณ์เหล่านี้จะกลายเป็นทักษะที่ใช้ในชีวิตของการทำงานต่อไปในอนาคตได้” คุณเกื้อกล่าว
สาขาการแพทย์และสาธารณสุข ได้แก่ พญ.จรินรัตน์ ศิริรัตนพันธ์ อาจารย์แพทย์หญิง ประจำศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และคุณนิธิภา อุดมสาลี หัวหน้าหน่วยสื่อสารความรู้และขับเคลื่อนสังคม สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข
“การทำงานเพื่อชุมชนหรือสังคม เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับคนที่ด้อยโอกาสกว่าเรา การให้ คือ โอกาสที่สำคัญในการดูแลชีวิต ก่อนที่จะดูแลหรือรักษาผู้อื่น สิ่งแรกที่เราควรเริ่มหันกลับมาดูแล คือ สุขภาพของตัวเอง เพราะถ้าหากเรามีกระบวนการดูแลสุขภาพตัวเองดีแล้ว จะทำให้รู้จุดบกพร่องในการรักษาและสามารถนำกลับไปแก้ปัญหาได้ต่อไปในครั้งหน้า ซึ่งจะนำไปสู่การดูแลคนอื่นได้ง่ายขึ้นด้วย” พญ.จรินรัตน์กล่าว
และสาขานวัตกรรมเพื่อวิสาหกิจชุมชน ได้แก่ ดร.วรวัฒน์ เชิญสวัสดิ์ อาจารย์วิจัยคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการ Multimedia Intelligent Technology และดร.ดอน อิสรากร อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
“การสร้างสรรค์นวัตกรรมชุมชนอย่างยั่งยืน ต้องคำนึงถึงปัจจัยทางสังคมและทางวัฒนธรรม ที่เอื้อให้ชุมชนยืนหยัดได้ด้วยตัวเอง ซึ่งต้องตอบสนองต่อความต้องการของคนในรุ่นปัจจุบันและจะต้องไม่ทำลายโอกาสของคนรุ่นต่อไปในอนาคตด้วย” ดร.ดอนกล่าว
ทั้งนี้ โครงการกระทิงแดง U Project จัดขึ้นเป็นปีที่ 2 หลังจากได้รับผลการตอบรับที่ดีในปีที่ผ่านมา เนื่องจาก โครงการกระทิงแดง U Project ไม่ได้เป็นโครงการที่มุ่งเน้นให้นิสิต นักศึกษาได้ใช้ความรู้ ความสามารถจากสาขาวิชาที่เรียนมาเท่านั้น แต่เน้นเรื่องการจุดพลังใจ พลังความคิด เพื่อสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ผ่านการลงมือปฏิบัติ โดยมุ่งหวังให้เยาวชนได้มีส่วนช่วยพัฒนาชุมชนไปสู่ความยั่งยืนอย่างแท้จริงอีกด้วย
นายกฤษฎา ผลทรัพย์ หรือน้องนัด นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง 1 ใน 20 สถาบันที่ผ่านเข้ารอบ ร่วมกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ กล่าวว่า “เพิ่งได้ส่งโครงการเข้าร่วมในปีนี้ครับ หลังจากเข้าร่วมอบรมแล้วได้รับความรู้เกี่ยวกับแนวทางการเขียนโครงการ เขียนอย่างไรให้สามารถดำเนินกิจกรรมได้จริงในชุมชน ชุมชนสามารถดำเนินกิจกรรมด้วยตัวชุมชนเองต่อไปได้ ซึ่งผมเห็นว่าโครงการหลายๆ โครงการยังขาดประเด็นสำคัญในส่วนนี้อยู่ การเข้าร่วมโครงการในครั้งนี้จึงเป็นประโยชน์มากที่สามารถนำไปปรับแก้ในตัวโครงการก่อนส่งเข้าในรอบต่อไปครับ”
นายวิชิรวิทย์ เปรุณวิน หรือน้องปลาทู นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงใหม่ ยังกล่าวอีกว่า “การเข้าร่วมอบรมในครั้งนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีมาก นอกจากได้ความรู้ในเรื่องหลักการเขียนโครงการแล้ว ยังได้เพื่อนใหม่ต่างสถาบันมาแลกเปลี่ยนพูดคุยถึงโครงการในแต่ละพื้นที่ ถือเป็นโอกาสที่ดีมาก จากการเป็นเพียงแค่กิจกรรมภายในมหาวิทยาลัยได้ขยายผลออกสู่ชุมชนและสังคมเป็นวงกว้าง ดำเนินงานร่วมกับชุมชน เป็นอีกส่วนหนึ่งในการต่อเติมและร่วมพัฒนาสังคม”
คุณสมคิด รุจีปกรณ์ ผู้จัดการแผนกกิจกรรมเพื่อสังคม กลุ่มเครื่องดื่มกระทิงแดง กล่าวปิดท้ายกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ว่า “จากการเข้าร่วมกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการตลอด 2 วัน 1 คืน ที่ผ่านมาในครั้งนี้ ในฐานะที่นิสิต นักศึกษาเป็นคนรุ่นใหม่ อยู่ในช่วงวัยกล้าคิด กล้าทำ กล้าแสดงออก หากนำความรู้ในห้องเรียนมาปรับใช้กับการทำงานเพื่อสังคม จะทำให้เกิดการพัฒนาความคิด การทำงานร่วมกับผู้อื่น ซึ่งสิ่งสำคัญมากกว่าเงินรางวัล คือ ประสบการณ์ดีๆ ที่เราได้ทำร่วมกัน กระทิงแดง U Project จึงเป็นแค่สะพานเชื่อมหนึ่งที่อยากให้นิสิต นักศึกษารุ่นใหม่ได้สร้างสรรค์สิ่งดีๆ เพื่อชุมชนและสังคมร่วมกัน”
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit