นายอยุทธ์ หรินทรานนท์ อธิบดี
กรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า องค์การโรคระบาดสัตว์ประเทศ (OIE) ได้ตรวจประเมินสถานภาพของเขตปลอดโรคปากและเท้าเปื่อยในพื้นที่ภาคตะวันออกของประเทศไทย พบว่า
กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมปศุสัตว์ มีศักยภาพในการสร้างพื้นที่ดังกล่าว จึงได้เสนอแนวทางในการปรับมาตรการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการสร้างพื้นที่ปลอดโรคที่ยั่งยืน ได้แก่ ขอบเขตของพื้นที่ปลอดโรคโดยใช้ลักษณะภูมิประเทศเป็นแนวกั้นที่สำคัญ กฎหมายควบคุมการเคลื่อนย้ายสัตว์และซากสัตว์ และปรับแผนการเฝ้าระวังโรคให้สอดคล้องกับข้อกำหนดของ OIE ดังนั้น กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมปศุสัตว์ จึงได้ดำเนินการจัดทำมาตรการต่างๆ รวมถึงกำหนดระเบียบกรมปศุสัตว์ภายใต้กรอบของกฎหมายหลัก คือ พระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ และจัดประชุมสร้างความ
เข้าใจให้กับเจ้าหน้าที่และผู้ประกอบการเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2558 โดยนายสัตวแพทย์ประวัติ รัตนะภุมมะ ปศุสัตว์เขต 2 และ นายสัตวแพทย์ประภาส ภิญโญชีพ ผู้อำนวยการสำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ ณ ศูนย์ราชการกรมปศุสัตว์ จังหวัดปทุมธานี พร้อมทั้งเจ้าหน้าที่และผู้ประกอบการจากหลายพื้นที่เข้าร่วมประชุมจำนวนเกือบ 100 คน โดยผู้ประกอบการ มีผู้แทนสมาคมและภาคเอกชนจากกลุ่มต่างๆ ทั้งธุรกิจสุกร โคเนื้อ โคนม ได้ให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะในการปฏิบัติงานที่เป็นประโยชน์หลายประเด็น และให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีในการรับนโยบายการเดินหน้าให้มีการสร้างเขตปลอดโรคปากและเท้าเปื่อยในพื้นที่ภาคตะวันออกอย่างยั่งยืน
สำหรับเขตปลอดโรคปากและเท้าเปื่อยภาคตะวันออก ประกอบไปด้วยพื้นที่ 7 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด สระแก้ว ปราจีนบุรี และฝั่งตะวันออกแม่น้ำบางปะกงของจังหวัดฉะเชิงเทรา ในการควบคุมเคลื่อนย้ายสัตว์และซากสัตว์เข้าเขตจะต้องมีการตรวจสอบจากคณะกรรมตรวจรับรองสัตว์ หรือซากสัตว์เข้าพื้นที่ปลอดโรคปากและเท้าเปื่อยภาคตะวันออก โดยมีปศุสัตว์เขต 2 ผู้ตรวจราชการกรมปศุสัตว์ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่เป็นประธาน โดยสัตว์ที่จะเคลื่อนย้ายเข้าพื้นที่จะต้องมาจากฟาร์มปลอดโรคที่ได้รับการรับรอง เลี้ยงอยู่ในพื้นที่ต้นทางมานาน 3 เดือนโดยไม่เป็นโรค ไม่มีการระบาดของโรคในระยะ 10 กิโลเมตร ซึ่งก่อนเคลื่อนย้ายต้องกักดูอาการ 30 วัน เพื่อตรวจสอบว่าไม่พบอาการป่วย และมีการทดสอบทางห้องปฏิบัติการว่าไม่ติดเชื้อโรคปากและเท้าเปื่อย จึงจะได้รับอนุญาตให้เข้าเขตปลอดโรคได้ ขณะที่น้ำเชื้อหรือซากสัตว์ก็ต้องได้รับการรับรองว่ามาจากสัตว์ต้นทางที่ไม่เป็นโรคและไม่มีโรคในพื้นที่ และเนื้อสัตว์ต้องมาจากโรงฆ่าสัตว์ที่ได้รับการรับรองการปฏิบัติที่ดี (Good Manufacturing Practice: GMP) พร้อมทั้งหลักเกณฑ์อื่นๆ ที่กำหนดไว้เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าจะไม่นำโรคเข้าพื้นที่ นอกจากนี้ จะต้องมีการควบคุมดูแลความสะอาดและทำลายเชื้อโรคให้กับยานพาหนะที่ใช้ขนส่งสัตว์หรือซากสัตว์เข้าพื้นที่ปลอดโรคอีกด้วย