วันที่สามเทศกาลแห่งความสุข อุบัติเหตุเป็นศูนย์ 2 จังหวัด สั่งกำชับดูแลสายรอง - พื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์

16 Apr 2015
ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์พ.ศ. 2558 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 11 เม.ย. 58 เกิดอุบัติเหตุ 492 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 62 ราย ผู้บาดเจ็บ 516 คน รวม 3 วัน (วันที่ 9 - 11 เม.ย.58) เกิดอุบัติเหตุ 1,215 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 121 ราย ผู้บาดเจ็บ 1,281 คน กำชับจังหวัดให้ความสำคัญดูแลถนนสายรอง บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดกับผู้ดื่มแล้วขับ ขับรถเร็ว เน้นเรียกตรวจรถจักรยานยนต์และรถกระบะที่บรรทุกคน พร้อมคุมเข้มการเข้าถึงและการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด รวมถึงจัดโซนนิ่งพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์รณรงค์การเล่นน้ำสงกรานต์อย่างปลอดภัย เพื่อสืบสานประเพณีสงกรานต์ให้เป็นเทศกาลแห่งความสุขและความปลอดภัย

ว่าที่ร้อยตรี เชิดศักดิ์ จำปาเทศ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ประธานแถลงข่าวสรุปผลการดำเนินงานลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2558 เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2558 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่ายรายงานสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 11 เมษายน 2558 ซึ่งเป็นวันที่สามของการรณรงค์ “สติ วินัย น้ำใจ ปลอดภัยสงกรานต์ สืบสานประเพณี” เกิดอุบัติเหตุ 492 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 62 ราย ผู้บาดเจ็บ 516 คน สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เมาสุรา ร้อยละ 35.77 ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 25.00 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 80.35 ส่วนใหญ่เกิดบนทางหลวงแผ่นดิน ร้อยละ 39.63 ถนนอบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 35.37 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.01 – 20.00 น. ร้อยละ 28.25 ผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มวัยแรงงาน ร้อยละ 55.88 ทั้งนี้ ได้จัดตั้งจุดตรวจ 2,247 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 66,583 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 634,786 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดีตามมาตรการ 1ร. 2ส. 3ข. 4ม. รวม 99,519 ราย

โดยมีความผิดฐานไม่มีใบขับขี่ 29,020 ราย ไม่สวมหมวกนิรภัย 28,130 ราย จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ สุรินทร์ 24 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ ร้อยเอ็ด 6 ราย จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ สุรินทร์ 28 คน สรุปอุบัติเหตุทางถนนรวม 3 วัน ( 9 - 11 เม.ย.58) เกิดอุบัติเหตุรวม 1,215 ครั้ง ผู้เสียชีวิตรวม 121 ราย ผู้บาดเจ็บรวม 1,281 คน จังหวัดที่ไม่เกิดอุบัติเหตุ มี 2 จังหวัด ได้แก่ สมุทรปราการ และอำนาจเจริญ จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต มี 24 จังหวัด จังหวัดที่ไม่มีผู้บาดเจ็บในช่วง 3 วัน มี 3 จังหวัด ได้แก่ สมุทรปราการ หนองคาย และอำนาจเจริญ จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี 49 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ นครราชสีมา และร้อยเอ็ด จังหวัดละ 7 ราย จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี 59 คน

ว่าที่ร้อยตรี เชิดศักดิ์ จำปาเทศ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่า จากสถิติอุบัติเหตุทางถนนในช่วง 3 วัน เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา จำนวนครั้ง จำนวนผู้เสียชีวิตและจำนวนผู้บาดเจ็บลดลงกว่าร้อยละ 20 – 25 ขณะที่เมาแล้วขับ ขับรถเร็วยังเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุและรถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะที่ประสบอุบัติเหตุสูงสุด ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) จึงได้ประสานให้จังหวัดบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดกับผู้ที่ดื่มแล้วขับ ขับรถเร็ว เน้นเรียกตรวจรถจักรยานยนต์และรถกระบะที่บรรทุกผู้โดยสาร พร้อมย้ำเจ้าหน้าที่ประจำจุดตรวจปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มข้นสูงสุดในช่วงบ่าย - ค่ำ ระหว่างเวลา 13.00 – 21.00 น. ซึ่งเป็นช่วงที่มีสถิติการเกิดอุบัติเหตุสูง รวมถึงบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเข้มงวด เพื่อคุมเข้มการเข้าถึงและการจำหน่าย ครอบคลุมทั้งสถานที่จำหน่าย ช่วงเวลา และกลุ่มบุคคล โดยเฉพาะการจำหน่ายและดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนทางและพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์

นายไมตรี อินทุสุต รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า วันนี้ประชาชนส่วนใหญ่กลับถึงภูมิลำเนาและท่องเที่ยวในพื้นที่ ศปถ.จึงได้กำชับให้จังหวัดปรับแผนจัดตั้งจุดตรวจหลัก จุดสกัด จุดตรวจเคลื่อนที่ จุดบริการประชาชน โดยกระจายกำลังเจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัยในการเดินทางทุกเส้นทาง ให้ความสำคัญถนนสายรองเป็นพิเศษ พร้อมใช้มาตรการทางสังคมป้องปรามผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มิให้ขับขี่ยานพาหนะ และใช้กลไกของชุมชนเป็นพลังสำคัญสร้างความปลอดภัยทางถนนในระดับพื้นที่ ตลอดจนให้จังหวัดปรับแผนปฏิบัติการสร้างความปลอดภัยทางถนนให้สอดคล้องกับปัจจัยเสี่ยง บริบททางสังคมและวัฒนธรรมการเล่นน้ำสงกรานต์ เพื่อลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนให้ได้มากที่สุด

นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า จากสถิติ พบว่า วันที่ 13 – 14 เมษายน ของทุกปีเป็นช่วงที่เกิดอุบัติเหตุทางถนนสูง เนื่องจากมีการเล่นน้ำสงกรานต์และสังสรรค์ด้วยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ศปถ.จึงได้ประสานให้จังหวัดจัดโซนนิ่งพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์กำหนดช่วงเวลาในการเล่นน้ำที่ปลอดภัยและไม่กระทบต่อการจราจร พร้อมรณรงค์การเล่นน้ำสงกรานต์ตามประเพณี คุมเข้มสถานที่จัดกิจกรรมงานสงกรานต์มิให้มีการจำหน่ายและดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยสนธิกำลังเจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัยทางถนนและป้องกันอุบัติภัยจากการเล่นน้ำสงกรานต์บริเวณสถานที่จัดงานและเส้นทางโดยรอบเป็นพิเศษ คุมเข้มผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์และรถกระบะบรรทุกคนเล่นน้ำสงกรานต์ในพื้นที่ชุมชนหรือบริเวณที่จัดงานสงกรานต์ทั้งนี้ ฝากเตือนผู้เล่นน้ำสงกรานต์ให้คำนึงถึงความปลอดภัย ไม่เล่นน้ำด้วยความคึกคะนอง เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งเป็นสืบสานประเพณีอันดีงามของเทศกาลสงกรานต์ให้เป็นเทศกาลแห่งความสุขและความปลอดภัย