เริ่มจาก แฟ้ม – สหรัตน์ กุฏอินทร์ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม ภาควิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา เปิดประเด็นอย่างน่าสนใจถึงคำว่าโกง
“ทุกคนรู้อยู่แล้วว่าพฤติกรรมโกงเป็นอย่างไร ทำอย่างไร แต่หากมีจิตสำนึกเป็นพื้นฐานในทุก ๆ เรื่อง รู้จักผิดชอบชั่วดี ตระหนักคิดก่อนลงมือ ทำในสิ่งที่ตนเอง สังคมและประเทศไม่เดือนร้อน เพียงเท่านี้ประเทศของเราคงจะก้าวหน้าไปได้ไกลกว่านี้ หากเราได้รับการปลูกฝังความรู้และจริยธรรมอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ชั้นอนุบาล หรือประถมศึกษาเรื่อยมาก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดี การอบรมบัณฑิตไทยโตไปไม่โกง ก็เป็นโครงการที่ดี ให้ข้อคิดเกี่ยวกับการนำเงินกองทุนกู้ยืมไปใช้ในทางที่ถูกต้องและเน้นถึงการมีจิตสำนึกในการชำระหนี้คืน เพราะหากรุ่นพี่ที่จบออกไปแล้ว ไม่ชำระหนี้ รุ่นน้อง ๆ ซึ่งถือเป็นอนาคตของชาติ ต่อมาก็จะขาดโอกาส”
ความเห็นดังกล่าว สอดคล้องกันกับ ทราย – ธนัญญา นฤนาทวัฒนา นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม ภาควิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา เล่าว่า ตนทราบปัญหาการค้างชำระหนี้ของผู้ที่กู้ยืมเงินกองทุนฯ มีจำนวนค่อนข้างสูง หากผู้กู้ยืมมีความซื่อสัตย์ มีใจเมตตา เสียสละและตรงเวลาต่อการชำระหนี้คืน เพื่ออนุเคราะห์รุ่นน้องให้ได้กู้ยืมต่อไป หากรุ่นพี่ไม่ชำระหนี้ รุ่นน้องก็ขาดโอกาส และเงินให้กู้ยืมนี้เป็นเงินจากภาษีอากรของประชาชน ผู้เสียภาษีที่ช่วยผู้กู้ยืม ให้มีโอกาสทางการศึกษา ได้มีวิชาชีพติดตัว เพื่อใช้เลี้ยงชีพของตนเองและครอบครัว ผู้กู้ยืมทุกคนควรตระหนักในข้อนี้ และรู้คุณค่าของเงินให้กู้ยืม เพื่อจะได้ให้เงินกู้ยืมได้หมุนเวียนนำไปสร้างโอกาสและสร้างอนาคตให้กับเยาวชนของชาติรายอื่นต่อไป
ฟังรุ่นน้องไปแล้ว หันมาฟังความเห็นของรุ่นพี่กันบ้าง นิก – จตุรงค์ อินทรสาด นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า เผยความตั้งใจในการชำระหนี้ กยศ. ว่า
“เมื่อเรียนจบและมีงานทำ ตนจะตั้งใจทำงานและจะชำระหนี้ตามหลักเกณฑ์การชำระหนี้ของ กยศ. และเห็นด้วยกับมหาวิทยาลัยที่มีการจัดอบรมนักศึกษาที่กู้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ใกล้จะสำเร็จการศึกษา ให้มีความรู้ความเข้าใจในหลักเกณฑ์ ขั้นตอน วิธีการชำระหนี้ และจิตสำนึกในการชำระหนี้ เพื่อเสริมสร้างบัณฑิตไทยโตไปไม่โกง และสำเร็จการศึกษาเป็นบัณฑิตไทยไม่โกง ทั้งยังสอดแทรกธรรมะ ดี ๆ โดยพระอาจารย์วรวัฒน์ จากรายการธรรมะเดลิเวอรี่ ที่เน้นย้ำถึงเรื่องความกตัญญูต่อพ่อแม่ การเห็นคุณค่าต่อความรัก และการใช้เงินให้เป็นประโยชน์ ซึ่งน่าสนใจและรู้สึกไม่น่าเบื่อ เพราะสิ่งที่ได้รับ คือ เรื่องราวเกี่ยวกับการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยทั้งหมด”
ปิดท้ายด้วย ปาล์ม – รสริน วรรณฑโก นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า เผยว่า
“กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษานี้ เป็นการมอบโอกาสให้กับผู้ที่ไม่พร้อมทางการเงิน ได้มีโอกาสศึกษาเล่าเรียนและใช้ชีวิตอย่างราบรื่นในมหาวิทยาลัย ช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของครอบครัว เพราะตนเป็นลูกคนที่สอง พ่อแม่ทำอาชีพเกษตรกรรม ค่าใช้จ่ายทุกบาททุกสตางค์ ต้องคำนวณและคิดแล้วคิดอีก การได้รับโอกาสจาก กยศ. นี้ ถือว่าได้ช่วยเหลือตนเองได้เป็นอย่างมาก แม้จะได้รับจาก กยศ. ทุกเดือน ๆ ละ 2,200 บาท จะไม่ค่อยเพียงพอ จึงต้องรู้จักประหยัด อดออม และหาวิธีเพิ่มรายได้ระหว่างที่ศึกษาอยู่ เช่น การทำงานนอกเวลาเรียน และอยากฝากถึงรุ่นน้องว่า ควรติดตามข้อมูลข่าวสาร กยศ. ให้ดี ๆ และทำตามขั้นตอน เพื่อไม่ให้เสียสิทธิ์ และรุ่นพี่ ๆ ที่กำลังจะจบ ต้องส่งต่อโอกาสที่ตนได้รับไปถึงผู้ที่ไม่พร้อมทางการเงินให้มีโอกาสได้กู้ยืมต่อไป โดยไม่โกง ไม่ผิดการชำระหนี้ เนื่องจากมีมาตรการ การดำเนินกฎหมายที่เข้มงวดขึ้น เพื่อจะได้ไม่มีภาระผูกพันหนี้”
นี่คือจุดเริ่มต้นในการบ่มเพาะนักศึกษา ที่จะเติบโตเป็นกำลังหลักในการพัฒนาประเทศ และมุ่งมั่นไปในทิศทางเดียวกันคือ “โตไป จะไม่โกง”