ดร.นายแพทย์สุวิช ธรรมปาโล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์มีการเกิดอุบัติเหตุสูงมากกว่าช่วงปกติ สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุส่วนใหญ่มาจากพฤติกรรม เมาแล้วขับ ขับรถเร็ว ง่วงหลับใน และผลให้เกิดความรุนแรงเมื่อเกิดอุบัติเหตุ ได้แก่ การไม่สวมหมวกกันน็อค ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย นั่งท้ายรถกระบะ หรือมีวัตถุอันตรายอยู่ข้างทางถนน ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุที่มากที่สุดคือในช่วงเวลาเย็น/หัวค่ำ ไปจนถึงหลังเที่ยงคืน เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่อนุญาตให้จำหน่ายสุราได้ และมีงานเลี้ยงสังสรรค์ มีการดื่มสุรา การบาดเจ็บ มักจะเกิดกับผู้ใช้รถจักรยานยนต์ บนถนนหมู่บ้านและถนนสายรอง
ด้านมาตรการลดปัญหาอุบัติเหตุจราจรในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เน้นการทำงานเชิงรุก โดยขอความร่วมมือให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ร่วมกับชุมชนและหน่วยงานท้องถิ่น ตั้งด่านชุมชนตั้งจุดตรวจหรือจุดสกัดบนถนนในชุมชน โดยความร่วมมือขององค์กรกลุ่มต่างๆในชุมชน เพื่อสกัดกลุ่มเสี่ยง ลดพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนน ป้องกันปราบปรามกลุ่มเสี่ยงในชุมชน ดูแลความสงบเรียบร้อยในหมู่บ้าน ใช้หลัก 3 ต. ได้แก่ ต.เตรียม คือการ เตรียมความพร้อมร่วมสร้างมาตรการชุมชน เน้นประชาสัมพันธ์ให้ความรู้การใช้รถใช้ถนนที่ปลอดภัย ปลูกฝังพฤติกรรม การสวมหมวกนิรภัย เมาไม่ขับ รวมทั้งสำรวจหาข้อมูลความเสี่ยง จุดที่ขายสุรา ต.ตั้ง คือการ ตั้งด่านชุมชนสกัดกลุ่มเสี่ยง เลี่ยงอุบัติเหตุ 7 วันอันตราย โดยตั้งด่านชุมชนที่ปากทางเข้าหมู่บ้าน ให้อาสาสมัครสาธารณสุข หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขร่วมกับฝ่ายปกครอง อาสาสมัครป้องกันภัยฯในชุมชนและประชาชน ใช้เป็นจุดตรวจ จุดบริการ หากพบทำผิดให้พูดคุยทำความเข้าใจ ตักเตือน หรือยึดกุญแจรถ ถ้าเป็นเด็กจะเชิญผู้ปกครองมารับตัวกลับบ้าน หากฝ่าฝืนไม่เชื่อฟัง ให้ประสานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่ และ ต.ติดตาม คือการ ทบทวนการทำงานระดับจังหวัดและระดับประเทศ เพื่อวางแผนการป้องกันอุบัติเหตุทางถนนต่อเนื่องตลอดทั้งปี
ดร.นายแพทย์สุวิช กล่าวเพิ่มเติมว่า องค์การอนามัยโลกจัดอันดับให้ประเทศไทย เป็นประเทศที่มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเป็นอันดับ 3 ของโลกเนื่องจากเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่กำลังเผชิญกับปัญหาและท้าทายในด้านความปลอดภัยทางถนน สำหรับสถานการณ์การเกิดอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2558 ในพื้นที่ 7 หวัดภาคใต้ตอนล่างพบว่าไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต จังหวัดที่มีอัตราบาดเจ็บสูงสุดได้แก่ จังหวัดสงขลา 593 ราย รองลงมาได้แก่จังหวัดตรัง 333 ราย จังหวัดพัทลุง 190 ราย จังหวัดนราธิวาส 144 ราย จังหวัดยะลา 107 ราย จังหวัดปัตตานี 104 ราย และจังหวัดสตูล 88 ราย ตามลำดับ หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติมสอบถามเพิ่มเติมได้ที่เบอร์โทร 1422 สายด่วนกรมควบคุมโรค ข่าวโดย : กลุ่มสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลาโทรศัพท์ : 0-7433-6079-81,83 ต่อ 29E-mail: [email protected]