เสียงและความฝัน สู่โลกนิทาน สื่อเสียงเพื่อน้อง มทร.ธัญบุรี

30 Apr 2015
นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขาวิชาเทคโนโลยีการโทรทัศน์และวิทยุกระจายเสียง จำนวน 30 คน โดยมีดร.วิภาวี วีระวงศ์ และ ดร.กุลกนิษฐ์ ทองเงา เป็นที่ปรึกษา จัดโครงการสื่อเสียงเพื่อน้อง Sound For Young “เสียงและความฝัน สู่โลกนิทาน” รับสมัครเด็กอายุ 5 – 7 ขวบ จำนวน 35 คน ฝึกให้น้องๆ เป็นนักเล่านิทานผ่านสื่อวิทยุกระจายเสียง เสริมสร้างการจำ การแสดงออกและส่งเสริมนิสัยในการรักการอ่าน

ดร.กุลกนิษฐ์ ทองเงา อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีการโทรทัศน์และวิทยุกระจายเสียง อาจารย์ที่ปรึกษาโครงการ เล่าว่า Sound For Young “เสียงและความฝัน สู่โลกนิทาน” เด็กที่มีอายุ 5 – 7 ขวบ จำนวน 35 คน เข้าร่วมกิจกรรมฝึกให้น้องๆ เป็นนักเล่านิทานผ่านสื่อวิทยุกระจายเสียง จัดทำการบันทึกเสียงของน้องๆ ลงซีดี และมอบให้กับน้องที่มาร่วมโครงการ รวมทั้งนำไปเผยแพร่ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงต่อไป นอกจากนี้น้อง ๆ จะได้รับประกาศนียบัตรเพื่อเป็นการการันตีถึงความสามารถ ซึ่งเป็นการใช้เวลาว่างในช่วงปิดเทอมของน้องๆให้เกิดประโยชน์เสริมสร้างการจำ การแสดงออกและส่งเสริมนิสัยในการรักการอ่าน นอกจากนี้นักศึกษาสาขาวิชาเทคโนโลยีการโทรทัศน์และวิทยุกระจายเสียง คณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน การเรียนรู้ทฤษฎีและการผลิตสื่อวิทยุกระจายเสียง (Radio Production) เรียนรู้ทักษะการใช้ภาษา และมีทักษะในการใช้เครื่องมือ อุปกรณ์ และเทคโนโลยีการผลิตรายการวิทยุกระจายเสียง มีความเข้าใจในกระบวนการ และสามารถผลิตรายการวิทยุกระจายเสียงได้ ตลอดจนสามารถประเมินผลรายการที่นำไปออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงได้ เพื่อเป็นการฝึกให้นักศึกษาประยุกต์ใช้ความรู้ที่ตนมีอยู่มาถ่ายทอดให้กับผู้อื่น และเป็นการทบทวนความรู้เพื่อความเชี่ยวชาญมากขึ้น

ทางด้าน “พี่น้อยหน่า” นางสาวณฐิกา โถทอง นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขาวิชาเทคโนโลยีการโทรทัศน์และวิทยุกระจายเสียง คณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน เล่าว่า สมาชิกเข้าร่วมเป็นพี่เลี้ยงน้องๆ ในโครงการ ทั้งหมด 30 คน กิจกรรมเสริมทักษะการอ่านและออกเสียงเล่านิทาน “เสียงและความฝัน สู่โลกนิทาน” รับสมัครเด็กอายุ 5 – 7 ขวบเข้าร่วมกิจกรรมตลอดระยะเวลา 5 วัน ช่วงเวลาระหว่าง 09.00 – 12.00 น. โดยกิจกรรมประกอบด้วย การแบ่งเด็กออกเป็นกลุ่ม ประดิษฐ์โทรศัพท์แก้วกระดาษ และตกแต่งโทรศัพท์ เพื่อนำมาใช้ในกิจกรรม “การสื่อสารผ่านโทรศัพท์มือถือ” ฝึกน้องๆ ให้อ่านออกเสียง ร.เรือ – ล.ลิง กำหนดนิทานของแต่ละกลุ่ม และให้น้องๆ แต่ละกลุ่มสวมบทบาทสมมุติ และกิจกรรมส่งท้ายการพาน้องๆ เข้าห้องอัดเสียงเพื่อเล่านิทานของกลุ่มที่ตนเองได้รับ จากการสังเกตตลอดการเข้าร่วมโครงการ น้องๆ ทุกคนมีความกล้าแสดงออก มีความมั่นใจในการออกเสียง สำหรับตนเอง ได้รู้จักการทำงานที่เป็นระบบ มีการวางแผนภายในชั้นเรียนทางด้าน “พี่โอห์ม” นายณัฐวัฒน์ ยอดมณี เล่าว่า ความแตกต่างของน้องๆ ทำให้ตนเองปรับตัวให้เขากับน้องๆ ที่เข้ามาร่วมค่ายในครั้งนี้ เช่น น้องอายุน้อยสุด ต้องดูแลเป็นพิเศษ พยายามเล่าเรื่องต่างๆ ให้น้องฟัง สำหรับเด็กที่อายุ 7 ขวบ ขึ้นไป เด็กพวกนี้จะมีความชอบส่วนตัว จะพยายามซักถามและเล่าที่พวกน้องๆ ชอบ น้องคนหนึ่งชอบเรื่องฟุตบอล เล่าเรื่องฟุตบอลให้น้องฟัง 5 วันกับการทำกิจกรรม เป็นกิจกรรมที่แตกต่างกับกิจกรรมที่ตนเองเคยทำมา ได้เรียนรู้ รวมไปถึงความต้องการของเด็กๆ เป็นอีกสังคมที่หาในห้องเรียนไม่ได้ นำความรู้ในเรื่องของการจัดรายการวิทยุมาใช้สอนน้องๆ ในการฝึกเล่านิทาน ทำให้น้องๆ รู้ถึงกระบวนการ นิทานที่น้องๆ ได้ฟังกันในห้องเรียน

“น้องมุนมุน” เด็กหญิงมุนลมัย เพชรรัตน์ นักเรียนชั้นประถมศึกษาชั้นปีที่ 1 โรงเรียนสาธิต มศว.องครักษ์ เล่าว่า โครงการสนุกมาก ได้ทำกิจกรรมกับพี่ๆ และเพื่อนๆ ดีใจที่ได้เล่านิทานผ่านไมโครโฟน ในห้องอัดเสียง นอกจากนี้ยังได้ประดิษฐ์โทรศัพท์ใช้ในการพูดกับเพื่อนๆ โทรศัพท์จากแก้วที่เหลือใช้ รอยเชือก ไม่เคยประดิษฐ์มาก่อน เป็นครั้งแรก พี่ๆ สอนทำเสียงสัตว์ สนุกมาก นอกจากนี้ตนเองยังได้แสดงท่าทาง” ใบ้คำให้เพื่อน อยากมาเข้าร่วมโครงการนี้อีก เพราะว่า มีเพื่อนเยอะ ได้รู้จักเพื่อนต่างโรงเรียนด้วย

“น้องปุณปุณ” เด็กชายปวรปรัชญ์ ประดิษฐ อายุ 5 ขวบ นักเรียนเตรียมอนุบาลโรงเรียนอานุบาลราชมงคลธัญบุรี เล่าว่า ได้เข้าห้องอัดเสียงเล่านิทานเรื่อง “เจ้าหญิงขนมปัง” ตนเองได้รับมอบหมายให้เป็นคุณตา ต้องดัดเสียงคุณตา เล่าผ่านไมโครโฟน มีสาย และหูฟัง อยู่ในห้องสี่เหลี่ยม สนุกดี อยากมาอบรมอีก ได้มีเพื่อนเยอะ มีเพื่อนสนิท ชื่อพี่น้ำอิง พี่โอโต้ และได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์

ทางด้าน “น้องเบียร์” เด็กชายพัสกร มาแจ้ง นักเรียนชั้นประถมศึกษาชั้นปีที่ 2 โรงเรียนสารสาสน์วิเทศรังสิต เล่าว่า ดีใจที่ได้ทำกิจกรรมกับเพื่อนๆ ได้ช่วยกันเล่านิทาน ตนเองชอบ เพราะว่า เคยแต่ฟัง ไม่เคยได้เล่านิทาน นอกจากนี้ยังได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ได้รู้จักเพื่อนต่างโรงเรียน ซึ่งความฝันของตนเอง อยากเป็นเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ

ใครจะรู้ว่า 1 ใน 35 คน อาจเป็นดีเจชื่อดังของเมืองไทย ผลผลิตที่มีจุดเริ่มต้นมาจากโครงการนี้ และต้องขอเสียงปรบมือให้กับน้องๆ นักศึกษาสาขาวิชาเทคโนโลยีการโทรทัศน์และวิทยุกระจายเสียง คณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี รุ่นพี่ใจดี ที่ต้องการจะถ่ายทอดความรู้ให้กับน้องๆ