25 เม.ย. “วันมาลาเรียโลก” สคร.12 ย้ำประชาชนที่เดินทางไปในพื้นที่เสี่ยงต้องป้องกันตนเอง

30 Apr 2015
วันที่ 25 เมษายน ของทุกปี องค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้เป็นวันมาลาเรียโลก ซึ่งในปี 2558 นี้รณรงค์ภายใต้แนวคิด “ร่วมลงทุนเพื่ออนาคตที่สดใส ร่วมใจเอาชนะมาลาเรีย”( Invest in the Future: Defeat Malaria) โดยมุ่งหวังให้ประชาชนทุกคนร่วมแรงร่วมใจในการต่อสู้กับโรคมาลาเรียแต่ละปีจะมีประชาชน เจ็บป่วยและได้รับความทุกข์จากโรคมาลาเรีย และ เสียชีวิต นอกจากนี้มีประชาชนที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อและเจ็บป่วยจากโรคนี้ ย้ำประชาชนที่เดินทางเข้าไปในพื้นที่เสี่ยงมาลาเรียต้องป้องกันตนเอง

ดร.นายแพทย์สุวิช ธรรมปาโล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา กล่าวว่า มาลาเรีย เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อพลาสโมเดียมโดยมียุงก้นปล่องซึ่งมักอาศัยอยู่ตามป่าเขาเป็นพาหะเมื่อยุงก้นปล่องตัวเมียที่มีเชื้อกัดคน ยุงจะปล่อยเชื้อจากต่อมน้ำลายเข้าสู่กระแสเลือดของคน ซึ่งจะใช้ระยะฟักตัวอยู่ระหว่าง ๑๐ - ๑๔ วันส่วนมากพบในจังหวัดชายแดนประเทศไทยที่มีบริเวณเป็นภูเขาสูง ป่าทึบ สวนยางพารา แหล่งน้ำธรรมชาติหรือเขาชันลาดเอียงมีลำธาร ขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อ โดยเชื้อจะเข้าสู่ตับและแตกออกจากตับเข้าสู่วงจรในเม็ดเลือดโลหิตแดง ระยะนี้ผู้ป่วยจะเริ่มแสดงอาการของโรค คือ มีไข้สูง หนาวสั่น ปวดศรีษะ เหงื่อออก รู้สึกสบายแล้วกลับมาเป็นไข้ใหม่อีกครั้ง ให้คิดว่าอาจเป็นโรคมาลาเรีย รีบไปพบแพทย์ในสถานพยาบาลทุกแห่งใกล้บ้านทันที เพื่อเจาะเลือดตรวจหาเชื้อมาลาเรีย และต้องแจ้งประวัติการเข้าป่าหรือไปบริเวณพื้นที่เสี่ยงให้แพทย์ทราบ เพื่อให้การรักษาที่รวดเร็ว หากไปพบแพทย์ช้าผู้ป่วยอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ภาวะมาลาเรียขึ้นสมอง ภาวะปอดบวมน้ำ ภาวะไตวาย อาจทำให้เสียชีวิตได้

ดร.นายแพทย์สุวิช ธรรมปาโล กล่าวเพิ่มเติมว่า ถึงแม้ว่า มาลาเรียเป็นโรคที่ป้องกัน และรักษาได้ แต่การเจ็บป่วยทำให้ต้องขาดงาน หรือหากเด็กๆเจ็บป่วย ผู้ปกครองต้องขาดงาน เสียรายได้เพื่อดูแลเด็กๆ ในขณเดียวกันเด็กๆ ก็ขาดเรียน การล้มป่วยด้วยโรคมาลาเรียจึงทำให้ครอบครัวสูญเสียรายได้ และเด็กๆขาดโอกาสในการศึกษาอีกด้วย เพิ่มขึ้น ซึ่งจากการงานสถานการณ์โรคมาลาเรียในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง ของสคร. 12 สงขลา ระหว่างวันที่ 1 มกราคม - 18 เมษายน 2558 พบว่ามีผู้ป่วยโรคมาลาเรียแล้วทั้งสิ้นจำนวน 230 ราย โดยพบผู้ป่วยมากที่สุดที่จังหวัดยะลา 163 ราย รองลงมาคือจังหวัดนราธิวาส 48 ราย จังหวัดสงขลา 19 ราย ไม่มีรายงารผู้เสียชีวิต สำหรับจังหวัดตรัง พัทลุง สตูล ปัตตานี ไม่มีรายงานผู้ป่วยหรือผู้เสียชีวิต

การป้องกันตนเองจากโรคมาลาเรีย คือ การนอนในมุ้ง มุ้งที่ใช้ควรอยู่ในสภาพดีไม่มีรูขาดและเสียหาย ในพื้นที่แพร่เชื้อมาลาเรีย ควรนำมุ้งไปชุบสารเคมีที่มีฤทธิ์ไล่และฆ่ายุง การใช้ยาทากันยุงในการป้องกันไม่ให้ยุงมากัด การใช้ยาจุดกันยุง เมื่อใช้จุดไฟแล้วสามารถระเหยสารออกฤทธิ์ขับไล่และฆ่ายุงได้ การสวมเสื้อผ้าปกปิดร่างกายให้มิดชิด เช่น ใช้เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการป้องกันหรือการดูแลผู้ป่วยโรคมาลาเรีย สามารถโทรศัพท์สอบถามได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422