กรมศุลกากรได้มอบหมายให้สำนักสืบสวนและปราบปรามสืบสวนเส้นทางการลักลอบที่ได้รับจากสายข่าวอย่างต่อเนื่อง อันสืบเนื่องจากการจับกุมครั้งที่ผ่านมาและจากการใช้เทคโนโลยีการติดตามตู้คอนเทนเนอร์ประกอบกับได้รับแจ้งจากบริษัท อินโดจีน อินเตอร์กรุ๊ป จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ถูกระบุในใบตราส่งว่าเป็นผู้ขนส่งผ่านแดน ที่แจ้งว่าบริษัทตนเองไม่เคยได้รับการติดต่อหรือว่าจ้างจากบริษัท SOUPHA SONG IMPORT-EXPORT จำกัด สปป.ลาว อันเป็นข้อพิรุธจึงมาแจ้งให้กรมศุลกากรทราบ เจ้าหน้าที่สำนักสืบสวนและปราบปรามจึงใช้เทคโนโลยี TRACKING ตู้คอนเทนเนอร์เพื่อตรวจสอบความเคลื่อนไหว พบว่า ตู้ดังกล่าวได้มีการนำไปบรรทุกสินค้าที่เมือง Mombasa ประเทศเคนยา เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2558 และนำลงเรือชื่อ CAPE MOSS เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2558 เดินทางผ่านท่าเรือโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา และท่าเรือพอร์ท กลัง ประเทศมาเลเซีย และถูกนำขึ้นไว้ที่ท่าเรือสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2558 และถูกย้ายลำมายังประเทศไทย โดยเรือ RHL FELICITAS เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2558 มาถึงประเทศไทย ณ ท่าเรือแหลมฉบัง วันที่ 25 เมษายน 2558 โดยใช้เวลาทั้งสิ้น 19 วัน จากท่าต้นทาง เจ้าหน้าที่สำนักสืบสวนและปราบปรามที่ได้เฝ้าติดตามตู้คอนเทนเนอร์ดังกล่าว ได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบังปฏิบัติการตรวจค้นจับกุมจนเป็นผลสำเร็จ
สินค้างาช้างแอฟริกาจำนวนดังกล่าว ที่ได้ถูกยึดเป็นของกลาง ตามความผิดมาตรา 38, 99 พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 ประกอบกับ มาตรา 16, 17 แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482, มาตรา 58/1 แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469, มาตรา 23 วรรค 1 แห่ง พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 ซึ่งงาช้างเป็นสินค้าต้องห้ามผ่านประเทศ ตามอนุสัญญาไซเตสว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์
การจับกุมของกรมศุลกากรในครั้งนี้ เป็นนโยบายหลักของรัฐบาลที่ให้หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ปราบปรามการกระทำความผิดให้เข้มงวดในการปราบปรามซึ่งสินค้าตามอนุสัญญาไซเตส และกรมศุลกากรได้กำหนดมาตรการต่างๆ ที่จะปราบปรามซึ่งสินค้าต้องห้ามที่มีการผ่านแดนโดยกลุ่มอาชญากรรมข้ามชาติซึ่งสินค้าดังกล่าว โดยใช้งานการข่าวและเทคนิคการสืบสวนด้วยเทคโนโลยี และถือว่าเป็นการจับกุมครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศไทยเป็นครั้งที่สองในเวลาเพียง 7 วัน โดยข้อมูลและจากการสืบสวนสอบสวน เชื่อว่า งาช้างเหล่านี้เมื่อผ่านแดนไป สปป.ลาว แล้วจะมีการจำหน่ายให้กับกลุ่ม ผู้ซื้อในประเทศจีน, เวียดนาม และไทยต่อไป
อนึ่ง ในปี 2557 กรมศุลกากรจับกุมงาช้างไปแล้ว จำนวน 11 คดี รวมจำนวนโดยประมาณ 50 ชิ้น น้ำหนักรวม 103.27 กิโลกรัม มูลค่า 19,688,154 บาท
และในรอบปี พ.ศ. 2558 จับกุมจำนวน 3 คดี รวมจำนวนโดยประมาณ 1,302 ชิ้น น้ำหนักรวม 2,079.25 กิโลกรัม มูลค่า 205,000,000 บาท
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit