นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการ
สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง แถลงข่าวประมาณการเศรษฐกิจไทย ณ เดือนเมษายน 2558 ว่า “เศรษฐกิจไทยในปี 2558 คาดว่าจะสามารถขยายตัวได้ร้อยละ 3.7 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.2 – 4.2) ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 0.7 โดยมีสาเหตุหลักจากการส่งออกบริการ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ภายหลังจากนักท่องเที่ยวมีความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์การเมืองไทยมากขึ้น นอกจากนี้ การใช้จ่ายภาครัฐยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากมาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายที่เริ่มดำเนินการตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ 2558 ประกอบกับโครงการลงทุนที่มีความชัดเจน อาทิ โครงการบริหารจัดการน้ำ โครงการพัฒนาระบบขนส่งทางถนน และโครงการลงทุนยกระดับโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ด้านการคมนาคมขนส่ง จะเป็นแรงกระตุ้นให้กับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี สำหรับการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องเช่นกัน เนื่องจากแนวโน้มการจ้างงาน และรายได้นอกภาคเกษตรยังอยู่ในเกณฑ์ดี รวมทั้ง แนวโน้มราคาน้ำมันที่ลดลงและอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับต่ำจะช่วยให้ต้นทุนการดำเนินธุรกิจอยู่ในระดับที่เอื้อต่อการลงทุนภาคเอกชน อย่างไรก็ตาม การส่งออกสินค้าของไทยในปีนี้จะยังคงมีข้อจำกัดในการขยายตัวจากความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่คาดว่าจะส่งผลให้การส่งออกสินค้าของไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำลงจากที่คาดการณ์ครั้งก่อน
สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจของไทยยังคงแข็งแกร่ง โดยในส่วนของเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศคาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2558 จะปรับลดลงจากปีก่อนหน้ามาอยู่ที่ร้อยละ 0.2 (โดยมีช่วงประมาณการที่ร้อยละ -0.3 ถึง 0.7) ตามแนวโน้มการปรับลดลงของราคาน้ำมันดิบและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตและค่าขนส่งสินค้าในประเทศ ขณะที่เสถียรภาพเศรษฐกิจภายนอกประเทศ คาดว่าดุลการค้าจะเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว เนื่องจากมูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ขณะที่มูลค่านำเข้าสินค้าคาดว่าจะหดตัวตามราคาน้ำมันในตลาดโลก ส่งผลให้คาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุลประมาณ 17.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 4.6 ของGDP (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.3 – 6.7 ของ GDP)”
ทั้งนี้ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังได้กล่าวทิ้งท้ายว่า “ในการประมาณการเศรษฐกิจไทยจำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด อาทิ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังคงอ่อนแอ ความ ผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศและอัตราแลกเปลี่ยน และแนวโน้มการลดลงของราคาน้ำมันและราคาสินค้าเกษตร”