“ซีพีเอฟ อิ่ม สุข ปลูกอนาคต” ส่งเสริมโรงเรียนทั่วประเทศ ร่วมสร้างโภชนาการที่ดี สู่แหล่งเรียนรู้ต้นแบบการพึ่งพาตนเอง

29 Apr 2015
บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ เปิดตัว “โครงการซีพีเอฟ อิ่ม สุข ปลูกอนาคต” 60 โรงเรียน เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี 60 พรรษา ตั้งเป้าร่วมสร้างโภชนาการที่ดีและส่งเสริมการเข้าถึงอาหารแก่เด็กนักเรียนทั่วประเทศกว่า 14,000 คน ในพื้นที่ 67 โรงเรียนทั่วประเทศ โดยคัดเลือกโรงเรียนที่มีศักยภาพรอบโรงงานและฟาร์มของบริษัท ปลูกความรู้และจิตสำนึก ถ่ายทอดแนวทางการผลิต อาทิ การปลูกผัก เลี้ยงปลา เพื่อส่งเสริมการบริโภคที่มีคุณภาพ ปลอดภัย ถูกหลักโภชนาการ ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ พร้อมพัฒนาสู่แหล่งเรียนรู้ต้นแบบในโรงเรียนและชุมชนในอนาคต

นายวุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซีพีเอฟ กล่าวว่า กว่า 2 ทศวรรษที่ ซีพีเอฟ ในฐานะผู้นำธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร ตระหนักดีถึงความสำคัญของภาวะโภชนาการในเด็กและเยาวชน จึงได้ร่วมกับมูลนิธิพัฒนาชีวิตชนบท สนับสนุนโดยเครือเจริญโภคภัณฑ์และเหล่าพนักงาน ดำเนิน “โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน” ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532 เป็นต้นมา เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งโปรตีนแก่เด็กและเยาวชนในพื้นที่ห่างไกล และเพื่อต่อยอดความมุ่งมั่นในการมีส่วนร่วมสร้างโภชนาการที่ดีในเด็กและเยาวชน ในปีนี้ ซีพีเอฟ จึงได้ร่วมกับ สพฐ. ริเริ่ม “โครงการซีพีเอฟ อิ่ม สุข ปลูกอนาคต” โดยมีเป้าหมายระหว่างปี 2558-2562 ในการขยายผลกระบวนการเรียนรู้และส่งเสริมการเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และเหมาะสมตามหลักโภชนาการไปยังเด็กนักเรียนในพื้นที่รอบโรงงานและฟาร์มของบริษัทจำนวนโรงเรียน 67 แห่ง ได้แก่ ภาคกลาง 26 โรงเรียน ภาคตะวันออก 14 โรงเรียน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 13 โรงเรียน ภาคใต้ 10 โรงเรียน ภาคเหนือ 2 โรงเรียน และภาคตะวันตก 2 โรงเรียน

โครงการนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเป้าหมาย “การส่งเสริมการเข้าถึงอาหาร” ตามทิศทางความรับผิดชอบต่อสังคมของซีพีเอฟภายใต้เสาหลัก “อาหารมั่นคง” ซึ่งเป็น 1 ใน 3 เสาหลักสู่ความยั่งยืน นอกเหนือจากเสาหลัก “สังคมพึ่งตน” และ “ดินน้ำป่าคงอยู่” โดยแนวทางในการดำเนินงานประกอบด้วย 4 ด้านหลัก คือ 1. การส่งเสริมการผลิตอาหาร เช่น การปลูกผัก การเลี้ยงปลา ฯลฯ 2.การส่งเสริมระบบสุขาภิบาลอาหาร เช่น ด้านภาชนะและอุปกรณ์ ด้านสุขอนามัยส่วนบุคคล ด้านสถานประกอบอาหารและรับประทานอาหาร ฯลฯ 3.การให้ความรู้ เช่น ด้านคุณภาพอาหาร ด้านความปลอดภัยอาหาร ด้านโภชนาการอาหาร และ 4.การสนับสนุนผลิตภัณฑ์ โดยตั้งเป้าหมายให้นักเรียนมีภาวะโภชนาการขาด(ผอมและเตี้ย) และภาวะโภชนาการเกิน(อ้วน) ไม่เกินร้อยละ 15 ของจำนวนนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการ

จากแนวคิด “ให้ปลาหนึ่งตัว มีกินหนึ่งวัน สอนจับปลา มีกินตลอดไป” จึงเป็นที่มาของโครงการซีพีเอฟ อิ่ม สุข ปลูกอนาคต โดยเชื่อว่าเมื่อเด็กและเยาวชน “อิ่ม” ท้องจากการเรียนรู้วิธีการผลิตอาหารควบคู่ไปกับวิถีการบริโภคอย่างมีสุขโภชนาการ ไม่เพียงแต่ส่งเสริมการมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง หากยังเป็นปัจจัยสนับสนุนการมีจิตใจแจ่มใส พร้อมเล่นและเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เรียกได้ว่า “สุข” ทั้งกาย ใจ สังคม และปัญญา ซึ่งถือเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญของการ “ปลูกอนาคต” เพื่อเด็กและเยาวชนจะเป็นพลังสำคัญในการพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้าและมั่นคงต่อไป

นายทรงวุฒิ มลิวัลย์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนากิจกรรมนักเรียน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ในปี 2557 พบว่า นักเรียนอนุบาลถึงมัธยมศึกษาตอนปลายในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งมีนักเรียนทั่วประเทศกว่า 7 ล้านคน มีนักเรียนที่มีภาวะโภชนาการขาด (ผอมและเตี้ย) จำนวนกว่า 2.3 ล้านคน หรือราวร้อยละ 33 และภาวะโภชนาการเกิน (อ้วน) จำนวนกว่า 1 ล้านคน หรือราวร้อยละ 14 โดยสาเหตุเกิดจากการบริโภคไม่ถูกหลักโภชนาการ และการบริโภคอาหารที่ไม่มีประโยชน์ ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพชีวิต ปัญหาสุขภาพ พัฒนาทางร่างกายและสติปัญญา รวมถึงส่งผลไปถึงการเรียนของเด็ก

ที่ผ่านมาภาครัฐมุ่งที่จะแก้ปัญหาภาวะทุพโภชนาการของเด็ก เพื่อส่งเสริมให้เด็กได้รับอาหารอย่างถูกต้องตามหลักโภชนาการ และพิจารณาเห็นว่า “โครงการซีพีเอฟ อิ่ม สุข ปลูกอนาคต” เป็นโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อโรงเรียน นักเรียน และชุมชน และนับเป็นต้นแบบของการดำเนินงานและพัฒนาแบบมีส่วนร่วมในเชิงบูรณาการทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคสังคม อีกทั้งสอดคล้องกับแนวทางการแก้ไขปัญหาของภาครัฐเพื่อร่วมกันบรรเทาและส่งเสริมโภชนาการที่ดีแก่เด็กและเยาวชน ซึ่งถือเป็นรากฐานสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ

โครงการ “ซีพีเอฟ อิ่ม สุข ปลูกอนาคต” ดำเนินการภายใต้แผนงาน 5 ปี ระหว่างปี พ.ศ. 2558-2562 โดยในปีที่ 1 (พ.ศ. 2558) จะมุ่งเน้นการปลูกความรู้และจิตสำนึก (Learning) ผ่านการถ่ายทอดแนวทางการผลิตอาหารและการบริโภคเพื่อสุขภาพที่ดี ปีที่ 2-3 (พ.ศ. 2559-2560) ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Sharing) ระหว่างโรงเรียนที่ดำเนินโครงการถึงแนวทางการบริหารโครงการและจัดการผลผลิตให้เกิดความยั่งยืน และในปีที่ 4-5 (พ.ศ.2561-2562) จะพัฒนาสู่เครือข่าย (Networking) โดยสนับสนุนโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จในการดำเนินโครงการ ตลอดจนมีศักยภาพและขีดความสามารถ ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ต้นแบบในโรงเรียนและชุมชนต่อไป