กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) โชว์ 4 โครงการ
เทิดพระเกียรติ 60 พรรษา
สมเด็จพระเทพฯ มุ่งเสริม
สร้างอาชีพแก่ประชาชนในถิ่นทุรกันดาร ด้วยการนำ
ภูมิปัญญาและวัฒนธรรมใน
ท้องถิ่นมาสรรสร้างสู่ผลิตภัณฑ์ที่สร้างรายได้ ตลอดจนทำให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ได้แก่ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ส่งเสริมการพัฒนาและแปรรูปของป่าในท้องถิ่นสู่การเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่ยังคงคุณประโยชน์แก่ผู้บริโภค โครงการผ้าทอกะเหรี่ยง มุ่งส่งเสริมผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นอย่างผ้าทอกะเหรี่ยงให้เป็นที่รู้จักในระดับสากล โครงการภูฟ้าหนึ่งในช่องทางการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์สินค้าของกลุ่มอาชีพในโครงการพัฒนาตามพระราชดำริฯ และ โครงการพัฒนาครูผู้สอนในมูลนิธิศิลปาชีพและโครงการพระราชดำริที่มุ่งส่งเสริมและพัฒนาให้เกิดการเรียนรู้ พร้อมช่วยกันสืบสานศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาในท้องถิ่น พร้อมกันนี้ เพื่อเฉลิมพระเกียรติ “เจ้าฟ้านักพัฒนา” เนื่องในโอกาสฉลองพระชนมายุครบ 5 รอบ 2เมษายน 2558 กสอ. จึงดำเนิน “กิจกรรมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี”ขึ้น โดยการเฟ้นหาผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการพัฒนาสู่การเป็นผลิตภัณฑ์อันทรงคุณค่าและมีศักยภาพที่โดดเด่นกว่า 60 รายการ อาทิ เสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่ม กระเป๋าเดินทาง เครื่องประดับ หมอนและเคหะสิ่งทอ เป็นต้น เพื่อนำไปจัดแสดงและจำหน่ายพร้อมสาธิตขั้นตอนการผลิตภายในงานมหกรรม“ซื้อของไทย ใช้ของดี” (Thailand Industry Expo 2015) ในช่วงเดือนกันยายน 2558 ณ อาคารชาเลนเจอร์ 1 - 3 เมืองทองธานี
นายอาทิตย์ วุฒิคะโร อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า ด้วยน้ำพระทัยของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีที่มีต่อพสกนิกรชาวไทยในการช่วยเหลือประชาชนที่ด้อยโอกาสในถิ่นทุรกันดาร ด้วยการดำเนินการรวมกลุ่มประชาชนในท้องถิ่นเป็นกลุ่มอาชีพ โดยนำวัฒนธรรมและภูมิปัญญาในแต่ละท้องถิ่นและทักษะฝีมือต่างๆ อันเป็นเอกลักษณ์และยากต่อการเลียนแบบ มาผลิตสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ของกลุ่มเพื่อจัดจำหน่ายซึ่งนำมาสู่รายได้ที่เพียงพอหาเลี้ยงตนเองและครอบครัวให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ตลอดจนชุมชนมีความเข้มแข็งและประชาชนทุกคนสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
นายอาทิตย์ กล่าวต่อว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม จึงน้อมนำพระกระแสรับสั่งด้วยการดำเนินโครงการตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีในการช่วยเหลือ ส่งเสริมและสนับสนุน พร้อมอนุรักษ์ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นที่แสดงถึงวิถีชีวิตและภูมิปัญญาของประชาชน ผ่านการดำเนินงานในโครงการต่างๆ ได้แก่
- โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ เป็นโครงการที่ กสอ. ร่วมกับ สำนักงานโครงการส่วนพระองค์ฯ ส่งเสริมและพัฒนาการแปรรูปของป่า 6 ชนิด ได้แก่ ยางรัก เห็ดเผาะ มะขามป้อม สมอไทย กาแฟ และ ผลก่อ โดยนำมาผ่านกระบวนการแปรรูป 2แบบ คือ ภูมิปัญญาท้องถิ่น และเทคโนโลยี ตลอดจนเชื่อมโยงงานวิจัยต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ร่วมกับภาคเอกชนและภาคการศึกษา เพื่อต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริมต่างๆ ที่ยังคงประโยชน์และคุณค่า อาทิ ชามะขามป้อม ยาอมมะขามป้อมผสมหญ้าหวานที่อุดมไปด้วยวิตามินซี รวมทั้งกาแฟออแกนิกทั้งแบบคั่วและบดพร้อมชงบรรจุถุง เป็นต้น ทั้งนี้ สามารถสร้างรายได้เพิ่มให้ครัวเรือน โดยเฉลี่ยกว่า 500-1,000 บาทต่อเดือน
- โครงการผ้าทอกะเหรี่ยง ของชาวปกาเกอะญอ ในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ และ จ.ตาก เป็นโครงการส่งเสริมและสนับสนุนผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นด้วยการพัฒนาผ้าทอกะเหรี่ยงให้เป็นที่รู้จักในระดับสากลผ่านการผสมผสานศิลปะการออกแบบที่ทันสมัยและได้คุณภาพ ตอบโจทย์ทุกความต้องการของตลาด ภายใต้ 3 แนวคิดหลัก คือ “พัฒนาราษฎร” “พัฒนาผลิตภัณฑ์” และ “พัฒนาตลาด” โดยเริ่มตั้งแต่การพัฒนารูปแบบของผลิตภัณฑ์ การเลือกใช้วัตถุดิบ การออกแบบผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลายและการทำการตลาด ทั้งนี้ จากการดำเนินโครงการดังกล่าว สามารถพัฒนาประชาชนในท้องถิ่นได้ทั้งสิ้น 47 ราย อีกทั้งตั้งเป้าพัฒนาเพิ่มเติมอีก 50 รายภายในปีนี้โดยโครงการดังกล่าว ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปัจจุบัน
- โครงการภูฟ้า จัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ต่างๆของกลุ่มอาชีพประชาชนในถิ่นทุรกันดารและมีฐานะยากจนให้มีอาชีพเสริม นำมาสู่รายได้เพิ่มเติมจากอาชีพเกษตรกรรม ตลอดจนสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน อาทิ ผ้าทอกะเหรี่ยง กาแฟ มะขามป้อม น้ำพริก และเสื้อโปโลภาพฝีพระหัตถ์ เป็นต้น ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวได้กระจายอยู่ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ อาทิ จ.น่าน และ จ.นราธิวาส ซึ่งจากผลการดำเนินงาน พบว่า สามารถส่งเสริมประชาชนในท้องถิ่นได้ทั้งสิ้น 120 ราย พร้อมตั้งเป้าส่งเสริมเพิ่มเติมอีกกว่า 110 รายในปี 2558 โดยคาดว่า จะสามารถพัฒนาและเพิ่มมูลค่าสินค้าในท้องถิ่นได้กว่า 10-30%
- โครงการ “พัฒนาครูผู้สอนในมูลนิธิศิลปาชีพและโครงการพระราชดำริ” ในพื้นที่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แพร่ เพชรบูรณ์ สกลนคร กาญจนบุรี นครนายก สระแก้ว เชียงราย อุดรธานี อ่างทอง สุพรรณบุรี และกรุงเทพมหานคร เป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของแต่ละท้องถิ่นจากบรรพบุรุษ และผู้รู้ในชุมชนที่เป็นรากเหง้าของวัฒนธรรมท้องถิ่นเพื่อช่วยกันอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญา โดยการถ่ายทอดองค์ความรู้ต่างๆ แก่ประชาชน และวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่โครงการฯ ที่มีความสามารถด้านการผลิตผลงานหัตถศิลป์ให้สามารถเป็นครูผู้สอน สืบสานภูมิปัญญาจากรุ่นสู่รุ่นได้ จากผลการดำเนินงานสามารถพัฒนาส่งเสริมและพัฒนาประชาชนในท้องถิ่นได้จำนวนทั้งสิ้น 362ราย และตั้งเป้าพัฒนาเพิ่มเติมอีก 245 รายภายในปี 2558
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ“เจ้าฟ้านักพัฒนา” ในปีนี้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้จัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสฉลองพระชนมายุครบ 5 รอบ 2เมษายน 2558 โดยเฟ้นหาผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการพัฒนาสู่การเป็นผลิตภัณฑ์อันทรงคุณค่า และมีศักยภาพที่โดดเด่นกว่า 60 รายการ อาทิ เสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่ม กระเป๋าเดินทาง เครื่องประดับ หมอนและเคหะสิ่งทอ เป็นต้น ภายใต้โครงการพระราชดำริในสมเด็จพระเทพฯ มาจัดแสดงและจัดจำหน่าย พร้อมสาธิตขั้นตอนการผลิต ภายในงานมหกรรม“ซื้อของไทย ใช้ของดี” (Thailand Industry Expo 2015)ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมจะจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 22–27กันยายน2558ณ อาคารชาเลนเจอร์ 1 - 3 เมืองทองธานี นายอาทิตย์ กล่าวสรุป
ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือติดตามรายละเอียดของโครงการฯได้ ที่ สำนักพัฒนาอุตสาหกรรมชุมชน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ถนนพระรามที่ 4ซอยตรีมิตร กล้วยน้ำไท เขตคลองเตย กรุงเทพฯ โทรศัพท์023678354หรือhttp://bcid.dip.go.thและสามารถติดตามข่าวสารกิจกรรมโครงการต่างๆ ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้ที่ www.dip.go.thหรือwww.facebook.com/dip.pr