สำหรับโรงไฟฟ้าหงสาหน่วยที่ 1 ได้เริ่มขนานเครื่องเข้าระบบส่งของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2558 และดำเนินการทดสอบสมรรถนะโรงไฟฟ้าตามข้อกำหนดในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ. ตั้งแต่กลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทั้งนี้ระหว่างวันที่ 10-19 เมษายน 2558 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่แหล่งก๊าซธรรมชาติในพม่าหยุดซ่อมบำรุง โรงไฟฟ้าหงสาได้เดินเครื่องต่อเนื่องตั้งแต่ วันที่ 12 เมษายน เป็นต้นมา ด้วยกำลังการผลิตเฉลี่ย 450 เมกะวัตต์ พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้จาก การทดสอบเดินเครื่องของโรงไฟฟ้าหงสาหน่วยที่ 1 ได้ช่วยสนับสนุนระบบไฟฟ้าของประเทศให้สามารถตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศในช่วงวิกฤติอีกทางหนึ่ง สำหรับปริมาณพลังงานไฟฟ้าที่ ผลิตจากโรงไฟฟ้าหงสาหน่วยที่ 1 ที่ส่งเข้าระบบไฟฟ้าของไทยในช่วงวันที่ 12-21 เมษายน 2558 รวมประมาณ 85 ล้านหน่วย ซึ่งช่วยลดการใช้น้ำมันเตาผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 20 ล้านลิตร
นายพงษ์ดิษฐ พจนา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โรงไฟฟ้าพลังความร้อนหงสาเป็นโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ ด้วยกำลังผลิตติดตั้งรวม 1,878 เมกะวัตต์ ที่ใช้ลิกไนต์เป็นเชื้อเพลิง จะเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าฐานที่ช่วยเสริมระบบไฟฟ้าของประเทศไทยให้มั่นคงยิ่งขึ้น และรักษาค่าไฟฟ้าให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ของทุกภาคส่วน ที่สำคัญ โรงไฟฟ้าหงสาหน่วยที่ 1 ยังได้ผลิตไฟฟ้าช่วยเสริมระบบไฟฟ้ารองรับความต้องการไฟฟ้าสูงสุดในวันที่ 7เมษายน และวันที่ 21 เมษายน ที่ผ่านมาได้อย่างราบรื่น บริษัทฯ มั่นใจว่าการทดสอบสมรรถนะโรงไฟฟ้าหงสาหน่วยที่ 1 จะผ่านเกณฑ์มาตรฐานของ กฟผ. และมาตรฐานสากลที่กำหนดไว้ได้ และสามารถเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ ตามกำหนดเวลาในวันที่ 2 มิถุนายน 2558 ส่วนโรงไฟฟ้าหน่วยที่ 2 และที่ 3 คาดว่าการทดสอบสมรรถนะโรงไฟฟ้าตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจะดำเนินการแล้วเสร็จจนสามารถเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าได้ตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าในเดือนพฤศจิกายน 2558 และมีนาคม 2559 ตามลำดับ
โรงไฟฟ้าพลังความร้อนปากเหมืองหงสาเป็นการร่วมทุนระหว่าง บริษัทฯ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) และ Lao Holding State Enterprise ในบริษัท ไฟฟ้า หงสา จำกัด ซึ่งเป็นผู้ดำเนินโครงการ โดยแต่ละฝ่ายถือหุ้นร้อยละ 40-40-20 ตามลำดับ โครงการดังกล่าว มีกำลังผลิตติดตั้งรวม 1,878 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย 3 หน่วยผลิตไฟฟ้ามีกำลังการผลิตติดตั้งหน่วยละ 626 เมกะวัตต์ โครงการตั้งอยู่ที่เมืองหงสา แขวงไซยะบูลี สปป. ลาว และถือเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงถ่านหินแห่งแรกและมีขนาดใหญ่ที่สุดของ สปป. ลาว