กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกประกาศจำนวน 3 ฉบับ เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการประกอบธุรกิจสินเชื่อ Nano-Finance โดยผู้ประสงค์จะประกอบธุรกิจ Nano-Finance สามารถยื่นคำขอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังผ่านธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท. ) ได้ตั้งแต่วันที่ 26 มกราคม 2558 เป็นต้นไป และในขณะนี้มีผู้สนใจยื่นคำขออนุญาตเป็นผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับหรือสินเชื่อ Nano-Finance แล้ว ทั้งหมดจำนวน 20 ราย และมีผู้สนใจยื่นขอเอกสารเพื่อประกอบธุรกิจดังกล่าว แต่ยังไม่ได้ยื่นขออนุญาตอีกประมาณ 70 ราย ทั้งนี้ ใน 20 รายที่ยื่นขออนุญาตกับธนาคารแห่งประเทศไทยแล้วนั้นสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม ดังนี้ 1) ผู้ยื่นคำขออนุญาตจำนวน 15 ราย อยู่ระหว่างการจัดส่งเอกสารให้ ธปท. เพิ่มเติม 2) ผู้ยื่นคำขออนุญาต 1 ราย ที่จัดส่งเอกสารให้ธนาคารแห่งประเทศไทยครบถ้วนแล้ว และธนาคารแห่งประเทศไทยอยู่ระหว่างส่งคำขออนุญาตให้กระทรวงการคลัง และ 3) ผู้ยื่นคำขออนุญาตจำนวน 4 รายที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแล้ว
ในวันนี้ กระทรวงการคลังได้จัดพิธีมอบใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อ Nano-Finance จำนวน 4 ราย ได้แก่ 1) บริษัทเงินสดทันใจ จำกัด 2) บริษัทไทยเอซ แคปปิตอล จำกัด 3) บริษัทแมคคาเล กรุ๊พ จำกัด (มหาชน) 4) บริษัทสหไพบูลย์ (2558) จำกัด ทั้งนี้ บริษัททั้ง 4 แห่ง จะเริ่มทำการประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์สินเชื่อ Nano-Finance ทันที และคาดว่าจะสามารถเริ่มให้สินเชื่อ Nano-Finance ได้ภายในเดือนพฤษภาคม 2558
มาตรการสินเชื่อ Nano-Finance ดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของประชาชนและธุรกิจ โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยที่ใช้บริการหนี้นอกระบบ 6 แสนครัวเรือน และที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการสินเชื่อจากสถาบันการเงินใด ๆ เลยเป็นจำนวน 1.3 ล้านครัวเรือน ซึ่งถือเป็นการเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจ และการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนอันเนื่องมาจากการใช้บริการหนี้นอกระบบ เนื่องจากมีหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยที่เป็นธรรมและไม่เอาเปรียบผู้บริโภค
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit