ประกาศความพร้อม โครงการพลังงานและเทคโนโลยีที่ยั่งยืนแห่งเอเชีย 2559 หรือ SETA 2016

24 Apr 2015
ประกาศความพร้อม โครงการพลังงานและเทคโนโลยีที่ยั่งยืนแห่งเอเชีย 2559 หรือ SETA 2016 ยกระดับประเทศไทย ศูนย์กลางองค์ความรู้ด้านพลังงานและเทคโนโลยีในระดับภูมิภาคเอเชีย
ประกาศความพร้อม โครงการพลังงานและเทคโนโลยีที่ยั่งยืนแห่งเอเชีย 2559 หรือ SETA 2016

กระทรวงพลังงาน และ สมาคมนิวเคลียร์แห่งประเทศไทย ร่วมด้วย กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ กระทรวงคมนาคม แถลงข่าวการจัดประชุมวิชาการและนิทรรศการนานาชาติ “โครงการพลังงานและเทคโนโลยีที่ยั่งยืนแห่งเอเชีย 2559” หรือ “SETA 2016” ภายใต้ 4 หัวข้อหลัก ได้แก่ นโยบายและการวางแผนด้านพลังงาน เทคโนโลยีระบบไฟฟ้า พลังงานเพื่อการคมนาคมขนส่งและพลังงานทางเลือก และ พลังงานยั่งยืนและเทคโนโลยีสีเขียว เพื่อผลักดันและยกระดับประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางองค์ความรู้ด้านพลังงานและเทคโนโลยีในระดับภูมิภาคเอเชีย

งานประชุมวิชาการและนิทรรศการนานาชาติ “โครงการพลังงานและเทคโนโลยีที่ยั่งยืนแห่งเอเชีย 2559”หรือ “SETA 2016” เปิดโอกาสให้ผู้บริหารภาครัฐและภาคเอกชน ผู้ผลิต บริษัทผู้ผลิตไฟฟ้า นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ บริษัทผู้ผลิตพลังงานทดแทน ธนาคาร นักลงทุน จากทุกภาคส่วนและผู้สนใจทั่วไป ทั้งในและต่างประเทศ รับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งด้านวิชาการ และด้านธุรกิจ

ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร รองปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า “ประเทศไทยมีพลังงานใช้ไม่เพียงพอจึงยังคงต้องมีการพึ่งพาจากต่างชาติ ดังนั้น การวางแผนนโยบายด้านพลังงานของไทยที่ดี จะช่วยให้เกิดการปรับปรุงและนำไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนการใช้พลังงานจากต่างประเทศ และประเทศเพื่อนบ้าน นั่นหมายรวมถึง การใช้พลังงานทางเลือกและการคิดค้นเทคนิควิธีที่ยั่งยืน รวมถึงการกระตุ้นและให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชนเรื่องการประหยัดพลังงาน อย่างไรก็ตาม การจัดการในภาพรวมของประเทศย่อมหมายถึง การมีส่วนรับผิดชอบจากหลายองค์กร ทั้งภาครัฐภาคเอกชน และภาคประชาชน รวมถึงการสร้างความร่วมมือในทุกหน่วยงานหรือทุกองค์กร เพื่อให้มั่นใจว่า เราจะมีพลังงานใช้ในอนาคตอย่างมั่นคง กระทรวงพลังงานยินดีสนับสนุนงานSETA 2016 ในการเป็นสื่อกลางเพื่อเผยแพร่ข้อมูล อีกทั้งเป็นการกระตุ้นนโยบาย และพัฒนาด้านเทคโนโลยี รวมถึงการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศอย่างแท้จริง”

คุณอลงกรณ์ เหล่างาม ผู้ช่วยปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า “ด้วยบทบาทและหน้าที่ของกระทรวงวิทยาศาสตร์ในการผลักดัน รวมถึงส่งเสริมนโยบายและการวางแผนในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การคิดสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จึงร่วมสนับสนุนโครงการ SETA 2016 เทคโนโลยีถือเป็นเครื่องมือในการผลักดันให้เกิดการสร้างผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมสำหรับการเพิ่มประสิทธิภาพด้านการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่าและมีคุณภาพ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดปริมาณการปล่อยก๊าซสู่อากาศ นอกจากนี้ เทคโนโลยี ยังเป็นส่วนสำคัญในการใช้พลังงานให้เกิดประโยชน์ในเชิงการผลิตและการพาณิชย์ ตลอดจนการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างมั่นคง”

คุณสมศักดิ์ ห่มม่วง ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการขนส่งทางน้ำ กระทรวงคมนาคม กล่าวว่า “การพัฒนาด้านการขนส่ง มีการหยิบยกเรื่องพลังงานขึ้นมาเป็นประเด็นสำคัญลำดับแรกๆ และถือเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการค้าในระดับนานาประเทศ ความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นในด้านการขนส่ง ส่งผลให้เกิดการใช้พลังงานเพิ่มขึ้น จนเป็นเหตุให้เกิดผลกระทบ ได้แก่ การเกิดภาวะก๊าซเรือนกระจก ดังนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องหาวิธีที่เหมาะสมในการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและยานพาหนะที่มุ่งลดคาร์บอนและเกิดความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กระทรวงคมนาคมยินดีอย่างยิ่งที่จะสนับสนุนงาน SETA 2016 ด้วยความมุ่งมั่นในการเป็นเวทีพูดคุยทั้งในด้านการใช้พลังงานอย่างยั่งยืนและด้านการขนส่ง เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการแสดงเทคโนโลยี นวัตกรรม และสินค้าใหม่ๆ ในงานครั้งนี้ จะเป็นการสร้างโอกาสให้ทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญและเกิดการผลักดันทั้งด้านนโยบายและการดำเนินงานให้เกิดการใช้พลังงานอย่างยั่งยืน”

รศ.ดร.ธัชชัย สุมิตร ประธานคณะกรรมการดำเนินงานโครงการพลังงานและเทคโนโลยีที่ยั่งยืนแห่งเอเชีย 2559 กล่าวว่า “งาน SETA 2016 เป็นการจัดงานระดับนานาชาติที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ถือเป็นก้าวย่างที่สำคัญในความร่วมมือของหน่วยงานหลักของประเทศ โดยกระทรวงพลังงาน กระทรวงคมนาคม และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งองค์กรภาคเอกชน ผู้มีส่วนร่วมต่อการสร้างบทบาทและความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในการผลักดันประเทศไทยให้ก้าวสู่ความเป็นผู้นำด้านพลังงานในภูมิภาคอาเซียนอย่างแท้จริง โดยมีวัตถุประสงค์ในการสร้างเวทีพูดคุย และร่วมหาคำตอบตั้งแต่การหาแหล่งพลังงาน ตลอดจนการใช้ ระบบผลิตกระแสไฟฟ้า ภาคขนส่ง ภาคอุตสาหกรรม และภาคครัวเรือน โดยในงานประชุมครั้งนี้จะมุ่งเน้นไปในประเด็นที่ทั้งเอเชียและทั่วโลกล้วนให้ความสำคัญ โดยตั้งเป้าผู้เข้าชมและร่วมงานตลอดทั้ง 3 วัน จำนวน 5,000คน จาก 15 ประเทศทั่วโลก”

รศ.พล.ต.ดร.ชัยณรงค์ เชิดชู นายกสมาคมนิวเคลียร์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า “สมาคมนิวเคลียร์ฯดำเนินงานด้านการพัฒนากิจกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์ของประเทศไทยมาเป็นเวลานาน เพื่อส่งเสริมและเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการด้านนิวเคลียร์ทั้งทางการศึกษา การวิจัย การประยุกต์ และการพัฒนาเพื่อประโยชน์ต่อสมาชิกและประชาชน เป็นอีกหนึ่งสถาบันในการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และผลงานวิจัย เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีนิวเคลียร์ ส่งเสริมให้มีการพิทักษ์สิทธิอันชอบธรรมในการปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับรังสี และช่วยพิทักษ์ประโยชน์ของประชาชนในด้านนิวเคลียร์สนับสนุนการผลิตและพัฒนาบุคคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์ การเป็นส่วนหนึ่งในการจัดงานครั้งนี้ นับเป็นอีกก้าวที่สำคัญในระดับนานาชาติที่จะเพิ่มความรู้ความเข้าใจอย่างถูกต้อง ด้านการใช้พลังงานนิวเคลียร์เพื่อการพัฒนา”

คุณสหรัฐ บุญโพธิภักดี รองผู้ว่าการกิจการสังคม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ดำเนินงานด้านผลิตกระแสไฟฟ้ากว่า 50% ของทั้งประเทศ มีการลงทุนนับเป็นมูลค่าถึงหลายพันล้านบาท ในการพัฒนาและดำเนินงานด้านพลังงานอย่างยั่งยืน เพื่อสอดรับเป้าหมายดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลในปี 2563 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในผู้นำระดับภูมิภาคด้านการวางแผนใช้พลังงาน ขับเคลื่อนนโยบายการลงทุนเทคโนโลยีสีเขียวระดับอาเซียน เราจึงมั่นใจว่าเป็นอีกหนึ่งผู้สนับสนุนในการจัดประชุมวิชาการและนิทรรศการนานาชาติ “โครงการพลังงานและเทคโนโลยีที่ยั่งยืนแห่งเอเชีย2559”

ด้านกิจกรรมในงานประชุมวิชาการและนิทรรศการนานาชาติ “โครงการพลังงานและเทคโนโลยีที่ยั่งยืนแห่งเอเชีย 2559” หรือ “SETA 2016” ได้รับเกียรติจากวิทยากรปาฐกถาหลัก 3 ท่าน ได้แก่ ดร. ณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายชง ชิ นาย (Mr. Chong Chi Nai), ผู้อำนวยการด้านพลังงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย หรือ เอดีบี (Asian Development Bank, ADB)ดร. มาซากาสึ โตโยดะ (Dr. Masakazu Toyoda) ประธานและซีอีโอ สถาบันเศรษฐกิจพลังงาน ประเทศญี่ปุ่น

นอกจากนี้ ยังมีการจัดให้มีการบรรยาย ประชุมสัมมนา และเวิร์คช็อปจากองค์กรระดับนานาชาติ และบริษัทที่เป็นผู้นำในหัวข้อต่างๆ อาทิ “Is Nuclear Power Still a Viable Option for the APEC Region” จัดโดย ความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือ เอเปก (Asia-Pacific Economic Cooperation, APEC)“Low carbon Energy Policy Planning and Practices” จัดโดย The Institute of Energy Economics, Japan หรือ IEEJ , “National Energy Policy and Planning” จัดโดย กระทรวงพลังงาน ,“Regional Connectivity and Grids Interconnection” จัดโดย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย, “Smart Grids : Opportunities, barriers and application” จัดโดย การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคม,”Visions for Low Carbon Transport” จัดโดย องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน GIZ (Deutsche Gesellschaft fuer International Zusammenarbeit), “Greening Urbanization and Low Carbon Cities” จัดโดย สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT),” Regional Energy Security Infrastructure and Planning” จัดโดย สถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, “Bio-fuel Development for Transport” และศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ เป็นต้น ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติม และลงทะเบียนร่วมงานได้ในเว็บไซต์ www.SETA.Asia

งานประชุมวิชาการและนิทรรศการนานาชาติ “โครงการพลังงานและเทคโนโลยีที่ยั่งยืนแห่งเอเชีย 2559”หรือ “SETA 2016” จะมีผู้เข้าร่วมงานเป็นผู้บริหาร ภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน ผู้ผลิต บริษัทผู้ผลิตไฟฟ้า นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ บริษัทผู้ผลิตพลังงานทดแทน ธนาคาร นักลงทุน จากทุกภาคส่วนและผู้สนใจทั่วไป ทั้งในและต่างประเทศ กว่า 1,500 คน อาทิ ประเทศอังกฤษ เยอรมัน เนเธอร์แลนด์ ไต้หวัน เกาหลี จีน ญี่ปุ่น อินเดีย มาเลเซีย สิงคโปร์ จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 23-25 มีนาคม 2559 เวลา 10.00-18.00 น. ณ ฮอลล์ 103 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา

ประกาศความพร้อม โครงการพลังงานและเทคโนโลยีที่ยั่งยืนแห่งเอเชีย 2559 หรือ SETA 2016