คลอดก่อน-หลังกำหนด “เสี่ยง” อย่างไร
โดย นพ.ร่มไทร เลิศเพียรพิทยกุล
แพทย์เวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์
ศูนย์สุขภาพสตรีกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ
การให้กำเนิดลูกน้อยถือเป็นของขวัญที่ยิ่งใหญ่ของครอบครัว แต่คุณแม่ยุคใหม่จำนวนไม่น้อยกลับต้องเผชิญกับภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ต่างๆ ที่อาจมีผลต่อทารกในครรภ์ หรือสุขภาพของตัวคุณแม่เอง ซึ่งอาจทำให้ช่วงเวลา 9 เดือนของอายุครรภ์เต็มไปด้วยความ “เสี่ยง” มากกว่าที่คิด
นพ.ร่มไทร เลิศเพียรพิทยกุล แพทย์เวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ ศูนย์สุขภาพสตรีกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ ให้ข้อมูลว่า รูปแบบการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไปทำให้ผู้หญิงยุคใหม่มีแนวโน้มตั้งครรภ์เมื่ออายุมากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าการตั้งครรภ์เมื่ออายุมากขึ้นเต็มไปด้วยความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะคุณแม่ที่มีโรคประจำตัว โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ และความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นภาวะแฝงที่มาจากการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไปของคนในปัจจุบันที่มักรับประทานอาหารที่มีรสหวานจัด เค็มจัด และมักทำงานโดยละเลยที่จะให้ความสำคัญกับการออกกำลังกาย โดยหารู้ไม่ว่ามีผลต่อลูกในครรภ์ คุณแม่ที่มีโรคประจำตัว และตั้งครรภ์เมื่ออายุมากมีโอกาสเสี่ยงครรภ์เป็นพิษ และคลอดก่อนกำหนดสูงกว่าคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ปกติ เพราะความผิดปกติของรกทำให้เด็กในครรภ์เจริญเติบโตช้า” นั่นเป็นเหตุผลที่เมื่อรู้ว่าตัวเองตั้งครรภ์ควรรีบมาพบแพทย์ในทันทีหลังจากที่รู้ว่าตั้งครรภ์ เพื่อตรวจคัดกรองโรคที่อยู่ในปัจจัยเสี่ยงได้อย่างแม่นยำ สำหรับช่วงเวลาในการตั้งครรภ์ครบกำหนดแบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่ การตั้งครรภ์ครบกำหนดช่วงต้น (Early term) 37-38 สัปดาห์ 6 วัน, การตั้งครรภ์ครบกำหนดปกติ (Full term) 39-40 สัปดาห์ 6 วัน และการตั้งครรภ์ครบกำหนดช่วงท้าย (Late term) 41 - 42 สัปดาห์ ซึ่งผลของการคลอดก่อนกำหนด 37 สัปดาห์อาจทำให้เด็กผิดปกติ โดยเฉพาะสมองเนื่องจากการทำงานของปอดที่ไม่สามารถแลกเปลี่ยนออกซิเจนได้ ทำให้สมองขาดออกซิเจน ซึ่งถ้าปล่อยทิ้งไว้สมองเด็กจะไม่พัฒนา เกิดเนื้อตายในสมอง เส้นเลือดในสมองแตกและเสียชีวิตในที่สุด การฝากครรภ์ตั้งแต่อายุครรภ์น้อยๆ จะทำให้รู้ว่ามีตำแหน่งการตั้งครรภ์ผิดปกติหรือเป็นการตั้งครรภ์นอกมดลูกหรือไม่ รวมถึงกำหนดวันคลอดที่แน่นอน เพื่อให้การตั้งครรภ์เป็นไปอย่างราบรื่น หลีกเลี่ยงการผ่าคลอดก่อนกำหนด หรือคลอดช้าเกินไป ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อเด็กในครรภ์
การคลอดก่อนกำหนดส่วนใหญ่มาจาก 3 สาเหตุหลัก ได้แก่ สาเหตุแรกมาจากตัว “แม่” ที่มีมดลูกไม่แข็งแรง และมีขนาดเล็กกว่าปกติ เนื่องจากมีเนื้องอกมดลูกหรือมีผนังกั้นในโพรงมดลูก ซึ่งเกิดได้จากกรรมพันธุ์ หรือความผิดปกติแต่กำเนิด รวมถึงปัจจัยภายนอก เช่นสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะคุณแม่ที่ทำงานหนัก มีภาวะความเครียด ยืนหรือเดินนานเป็นประจำ ขณะที่คุณแม่ที่คลอดก่อนกำหนดบางรายพบภาวะติดเชื้อรุนแรงจากไวรัสไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออก เนื่องจากอาการไข้สูงจะเป็นตัวกระตุ้นให้มดลูกบีบตัว และคลอดก่อนกำหนดในที่สุด ปัจจัยเสี่ยงของการคลอดก่อนกำหนดจะเพิ่มขึ้นในแม่ที่เคยมีประวัติคลอดก่อนกำหนด และกลุ่มคุณแม่ที่อัลตร้าซาวนด์แล้วพบว่า ปากมดลูกสั้นน้อยกว่า 2 เซนติเมตรครึ่ง ซึ่งจำเป็นต้องตรวจคัดกรองความแข็งแรงปากมดลูก เพื่อคงการตั้งครรภ์ตลอด 40 สัปดาห์ให้ราบรื่น หรือในกรณีที่พบปากมดลูกสั้น แพทย์จะให้ยาป้องกันตั้งแต่ 16-24 สัปดาห์ เพื่อลดอัตราการคลอดก่อนกำหนดได้
สาเหตุที่สองเกิดจาก “ลูก” โดยเฉพาะเด็กที่มีความผิดปกติบางอย่างตั้งแต่ในท้อง เช่น ความผิดปกติของโครโมโซม ดาวน์ซินโดรม หรือความผิดปกติจากกรรมพันธุ์บางอย่างที่กระตุ้นให้เด็กคลอดก่อนกำหนดและแท้ง โดยส่วนใหญ่ท้องหลังจะมีความเสี่ยงมากกว่าท้องแรก ดังนั้นคุณแม่ไม่ควรวางใจ เพราะเด็กที่คลอดก่อนกำหนดมักมีปัญหาเรื่องการหายใจ เนื่องจากปอดยังทำงานได้ไม่สมบูรณ์ จำเป็นต้องให้ออกซิเจน ต้องเข้าตู้อบเพื่อปรับอุณหภูมิให้เหมาะสม และป้องกันการติดเชื้อจากอากาศ เนื่องจากทารกมีภูมิคุ้มกันต่ำและมีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย การคลอดก่อนกำหนดมากๆ จะทำให้ตับเด็กพัฒนาได้ไม่ดี ไม่สามารถขับสารพิษออกมาได้ทัน ทำให้มีลักษณะผิวเป็นสีเหลือง และมีโอกาสติดเชื้อจากอากาศ/อุณหภูมิภายนอกได้มากกว่าเพราะมีภูมิคุ้มกันที่ต่ำกว่าเด็กทั่วไป นอกจากนี้เด็กที่คลอดก่อนกำหนดมากๆ มักมีปัญหาลิ้นหัวใจไม่ปิดหลังคลอด ทำให้เด็กตัวเขียว และหัวใจวายได้ จึงต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์เป็นพิเศษ ส่วนสาเหตุที่สาม เกิดจากความผิดปกติของ “รก” เช่น รกลอกตัวก่อนกำหนด ซึ่งพบได้บ่อยในคุณแม่อายุมาก ท้องหลัง และท้องแฝด คุณแม่ที่มีความดันโลหิตสูง ครรภ์เป็นพิษ ติดเชื้อในมดลูก คุณแม่ที่สูบบุหรี่ มีเนื้องอกที่มดลูก ปัจจัยเหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุให้รกลอกตัวเร็ว ก่อนที่เด็กจะคลอด ทำให้รก ซึ่งเคยทำหน้าที่ลำเลียงออกซิเจน อาหาร และขับถ่ายของเสียทำได้ไม่ปกติ
ส่วนการคลอดที่ช้ากว่ากำหนดนั้นก็ถือว่าไม่เป็นผลดีเช่นกัน เนื่องจากรกจะค่อยๆ เสื่อมคุณภาพ ทำให้การลำเลียงออกซิเจนและอาหารทำได้น้อยลง มีผลทำให้เด็กขาดอาหารและออกซิเจนตั้งแต่อยู่ในท้อง และเมื่อได้รับน้ำตาลต่ำก็มีผลต่อสมอง ทำให้พัฒนาการทางสมองล่าช้า ส่งผลให้การเรียนรู้ในอนาคตน้อยลง การที่รกทำงานได้ไม่ปกติ สังเกตได้จากที่เด็กขยับตัวน้อยลง ปัสสาวะน้อยลง ไม่ดิ้น เพื่อสงวนพลังงานเอาไว้ อีกทั้งการที่ได้รับสารอาหารน้อย ทำให้น้ำคล่ำน้อยลง เด็กเกิดภาวะเครียด ถ่ายเป็นขี้เทา หรือมิโคเนียม (Meconium) ออกมา โดยเฉพาะขี้เทาถือเป็นความเสี่ยง ยิ่งเหนียวยิ่งข้น ยิ่งเป็นอันตรายต่อเด็ก เพราะหากเกิดสำลักเข้าปอดตอนคลอด เด็กที่คลอดออกมาจะมีปัญหาเรื่องปอด จำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจอัดออกซิเจนเข้าไปในปอด จนกว่าขี้เทาจะถูกดูดซึมหายไป
อย่างไรก็ตาม เมื่ออายุครรภ์ 28 สัปดาห์สิ่งที่คุณแม่ตั้งครรภ์ต้องใส่ใจเป็นพิเศษ คือ การนับลูกดิ้น โดยสังเกตว่าลูกดิ้นเป็นปกติหรือไม่ โดยเฉพาะเวลาหลังอาหาร เด็กควรจะดิ้นมากกว่า 10 ครั้งใน 2 ชั่วโมง เพราะอาหารจะเป็นตัวกระตุ้นให้เด็กเคลื่อนไหว ในกรณีที่เด็กดิ้นน้อยหรือมีสัญญาณที่ผิดปกติ ควรรีบมาพบแพทย์ เพื่อหาสาเหตุและแก้ไขได้ทัน เพราะการที่เด็กดิ้นน้อยอาจเกิดจากรกลอกตัว รกเสื่อม พบการติดเชื้อในท้อง สายสะดือพันกัน หรือถูกกดทับ ซึ่งถ้าไม่รีบแก้ไขเด็กอาจขาดออกซิเจนตั้งแต่อยู่ในท้องซึ่งเป็นอันตรายต่อสมองเด็กในที่สุด
โดย บริษัท แมสคอท คอมมิวนิเคชั่น จำกัด 02-732-6069-70
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit