อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ดำเนินตามแผนการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ระยะที่ 1 โดยมีการจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเคลื่อนที่เร็วพร้อมทั้งการเตรียม ความพร้อมด้านอากาศยาน การเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ภัยแล้งและปัญหาหมอกควัน รวมทั้งการเตรียมความพร้อมสำหรับการจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงประจำภูมิภาค รวม 5 ศูนย์ และจะเริ่มเข้าสู่แผนการป้องกัน ระยะที่ 2 ซึ่งจะเริ่มตามแผนปกติ ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2558 เป็นต้นไป ซึ่งพร้อมที่จะรับข้อมูลการร้องขอฝน และปฏิบัติการช่วยเหลือประชาชน แต่ทั้งนี้ ความสำเร็จในการทำฝนหลวงก็ขึ้นอยู่กับความชื้นซึ่งเป็นปริมาณน้ำต้นทุนในอากาศเช่นเดียวกัน โดยในปี 2557แม้ว่าการปฏิบัติการฝนหลวงจะประสบความสำเร็จในการทำให้ฝนตกในพื้นที่เป้าหมายได้ถึง 98% และมีพื้นที่ได้รับประโยชน์รวมกันถึง 230 ล้านไร่ ซึ่งก็ยังไม่ทั่วถึงพื้นที่เกษตรกรรมที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำกว่า 70 จังหวัดในทุกปี
“พิธีเปิดโครงการเปิดยุทธการฝนหลวงสู้ภัยแล้งนั้น เป็นธรรมเนียมที่ถือปฏิบัติสืบเนื่องมาตั้งแต่ ปี พ.ศ.2543 โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการรวมพลเพื่อแสดงความพร้อมในทุกด้านของหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือประชาชนประจำปี และ เพื่อเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้กับทีมงานฝนหลวงซึ่งประกอบด้วย นักวิชาการ นักบิน ช่างเครื่องบิน และเจ้าหน้าที่ทั้ง ฝ่ายอำนวยการและปฏิบัติการซึ่งจะต้องเสี่ยงภัยขึ้นเครื่องบินปฏิบัติงานในอากาศเกือบทุกวันติดต่อกัน”นายปีติพงศ์ กล่าว