สื่ออีสานจับมือดันสภาวิชาชีพสื่อภายใต้ “ปฏิญญาอุบลราชธานี”

10 Mar 2015
คณะกรรมาธิการปฏิรูปสื่อสารมวลชนฯ เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นสื่อท้องถิ่น เวทีแรกที่จังหวัดอุบลราชธานี ที่จะนำเสนอประเด็นการจัดตั้งสภาองค์กรวิชาชีพสื่อระดับจังหวัด เพื่อการกำกับดูแลตนเองของสื่อ
สื่ออีสานจับมือดันสภาวิชาชีพสื่อภายใต้ “ปฏิญญาอุบลราชธานี”

เมื่อวันที่ 8 มีค.2558 ที่ห้องประชุมพิมานทิพย์ ศูนย์ศิลปวัฒนธรมกาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานี รองศาสตราจารย์ จุมพล รอดคำดี ประธานคณะกรรมาธิการปฎิรูปสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) เป็นประธานเปิดการสัมมนารับฟังความคิดเห็น เรื่องการปฏิรูปสื่อ : เพื่อพัฒนากลไกกำกับดูแลด้านจริยธรรม การยกระดับมาตรฐานและระบบสวัสดิการของผู้ประกอบการวิชาชีพสื่อ ซึ่งนับเป็นการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของสื่อท้องถิ่นเป็นครั้งแรกในส่วนภูมิภาค โดยมีตัวแทนสื่อมวลชนในระดับท้องถิ่นจากจังหวัดอุบลราชธานี ศรีสะเกษ ยโสธร อำนาจเจริญ กว่า 100 คนเข้าร่วมการสัมมนาการจัดสัมมนาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนแนวทางข้อเสนอและระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูปสื่อจากผู้ประกอบการและผู้ที่เกี่ยวข้องด้านการสื่อสาร และสารสนเทศในส่วนภูมิภาค เพื่อให้เกิดแนวทางในการส่งเสริมและสนับสนุนจัดตั้งกลุ่มหรือองค์กรเพื่อกำกับดูแลและให้ความคุ้มครองอย่างเหมาะสมแก่สื่อในส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น

ผลของการสัมมนาดังกล่าว ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนท้องถิ่นทั้ง 5 จังหวัดได้สะท้อนปัญหาและนำเสนอข้อเสนอแนะต่างๆ โดยมีความเห็นเป็นหลักการที่สำคัญ เห็นควรประกาศให้ได้รับทราบโดยทั่วกันดังนี้

ข้อ 1. ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนท้องถิ่นพร้อมกำกับดูแลกันเองทางด้านจริยธรรม โดยตั้งเป็น”สภาวิชาชีพสื่อมวลชน”ทั้งในระดับจังหวัดและระดับภูมิภาค ในภูมิภาคอีสานตอนล่าง 5 จังหวัด ให้มีศูนย์กลางที่จังหวัดอุบลราชธานี โดยคณะกรรมการภูมิภาคมาจากสื่อมวลชนใน 5 จังหวัด ทั้งนี้สภาวิชาชีพสื่อมวลชนในระดับจังหวัดและระดับภูมิภาคจะมีระบบบริหารองค์กรเชื่อมโยงกับสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติที่ส่วนกลาง

ข้อ 2. จัดให้มีกองทุนสนับสนุนการบริหารงานและพัฒนาศักยภาพสื่อมวลชนท้องถิ่น เพื่อสร้างขวัญกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ตามวิชาชีพอย่างซื่อสัตย์และเสียสละ สื่อมวลชนท้องถิ่นควรได้รับหลักประกันความมั่นคงด้านสวัสดิการ สวัสดิภาพในการทำงานเช่นวิชาชีพอื่น รวมทั้งการพัฒนาศักยภาพด้านความรู้และทักษะด้านสื่อสารมวลชนเพื่อให้เป็นสื่อมวลชนมืออาชีพอย่างแท้จริง

ข้อ 3. สื่อมวลชนท้องถิ่นอีสานตอนล่าง ในแต่ละจังหวัดจะต้องมีความปรองดองสมานฉันท์กันเอง โดยยึดถือปัญหาของประชาชนในพื้นที่และของชุมชนเป็นเป้าหมายร่วมในการทำงาน

การที่สื่อมวลชนท้องถิ่น 5 จังหวัดอีสานตอนล่าง รวมตัวกันเสนอจัดตั้ง”สภาวิชาชีพสื่อมวลชน”ขึ้นมาเพื่อยกระดับมาตรฐานวิชาชีพสื่อให้เป็นวิชาชีพชั้นสูง เพื่อสร้างความเชื่อถือและการยอมรับแก่ประชาชน ได้มีการขอฉันทามติในการขับเคลื่อนตามปฏิญญาที่กล่าวมาข้างต้น ให้ทุกคนแสดงความเห็นชอบด้วยการยกมือสนับสนุน แล้วปรบมือโดยพร้อมเพรียงกัน และจะดำเนินกิจกรรมต่อไปภายใต้ชื่อ”ปฏิญญาอุบลราชธานี” และจะขับเคลื่อนผ่านสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติแต่ละจังหวัดต่อไป

HTML::image( HTML::image( HTML::image(