พม. จัดงานวันสตรีสากล ประจำปี ๒๕๕๘ ภายใต้แนวคิด “๒ ทศวรรษปฏิญญาปักกิ่งฯ : เสริมพลังสตรี สร้างพลังสังคม”

06 Mar 2015
พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดเผยว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ โดยสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) จัดงานวันสตรีสากล ประจำปี ๒๕๕๘ ภายใต้แนวคิด “๒ ทศวรรษปฏิญญาปักกิ่งฯ : เสริมพลังสตรี สร้างพลังสังคม” โดยมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงาน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับและเสริมศักยภาพสตรีในทุกมิติ โดยนำศักยภาพและความแตกต่างระหว่างหญิงชายมาใช้อย่างสร้างสรรค์ สร้างความตระหนักต่อสังคมในเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และความเสมอภาคเท่าเทียมกันระหว่างหญิงชาย และเปิดโอกาสให้ผู้หญิงเข้ามามีบทบาทและส่วนร่วมต่างๆ เพื่อพัฒนาและขยายศักยภาพบทบาทสตรีให้เป็นพลังทางสังคมที่เข้มแข็ง และได้รับประโยชน์ จากการพัฒนาที่เท่าเทียมกันอย่างแท้จริง บนพื้นฐานของความเสมอภาค เท่าเทียม และเป็นธรรม อย่างยั่งยืน

พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวต่อไปว่า องค์การสหประชาชาติได้รับรองให้วันที่ ๘ มีนาคม ของทุกปีเป็นวันสตรีสากลอย่างเป็นทางการ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๕๓ เพื่อให้ประชาชนทุกประเทศตระหนักถึงความสำคัญของสตรี ให้เกียรติและเคารพในสิทธิของสตรี และส่งเสริมการพัฒนาสตรีในด้านต่างๆ นานาประเทศต่างจัดกิจกรรมเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์การก่อตั้งวันสตรีสากลและเฉลิมฉลองความก้าวหน้าของบทบาทสตรี สำหรับประเทศไทยได้เริ่มจัดงานวันสตรีสากลอย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๒ ซึ่งปัจจุบันนับเป็นปีที่ ๒๖ ของการเฉลิมฉลองวันสตรีสากลของประเทศไทย ทั้งนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมความเสมอภาคหญิงชายให้เกิดขึ้นในสังคมไทย โดยได้จัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อรณรงค์ส่งเสริมให้เกิดความเท่าเทียม และเป็นธรรมของหญิงและชายในสังคม ซึ่งการจัดกิจกรรมเนื่องในวันสตรีสากลนับเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่กระทำอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยมีวัตถุประสงค์ คือ ๑)กระตุ้นให้ทุกภาคส่วนในสังคม ตระหนักถึงความสำคัญของวันสตรีสากล สนับสนุน และร่วมกันจัดกิจกรรมเนื่องในวันสตรีสากลให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ๒)ส่งเสริมและสนับสนุนให้หน่วยงานและองค์กรเครือข่าย มีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนและสังคม เนื่องในโอกาสวันสตรีสากล ๓)ส่งเสริมและสนับสนุนให้สตรีและบุรุษมีส่วนร่วมในกิจกรรม ทุกด้าน และทุกระดับในสังคม ตั้งแต่ครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศ และ ๔)เสริมสร้างเจตคติของสังคมในการคำนึงถึงศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นมนุษย์ ส่งเสริมศักยภาพและพิทักษ์คุ้มครองสิทธิมนุษยชนของสตรี และส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย

“การจัดงานวันสตรีสากลฯ ครั้งนี้ มีกิจกรรมที่น่าสนใจ เช่น การมอบโล่ประกาศเกียรติคุณ แก่สตรี บุคคล และหน่วยงานดีเด่น จำนวน ๑๕ สาขา ๓๓ รางวัล อาทิ อาสาสมัครทหารพรานหญิง ฟาเดีย ดอมะ สตรีดีเด่นด้านการส่งเสริมความมั่นคงของประเทศ (อาสาสมัคร) ร้อยตำรวจเอกหญิงเจนจิรา เรืองสินทรัพย์ สตรีดีเด่นด้านกระบวนการยุติธรรม (ประเภทพนักงานสอบสวน) นางสนิทสุดา เอกชัย สตรีดีเด่นด้านสื่อสารมวลชน (ประเภทสื่อสิ่งพิมพ์) นางสาว วราภรณ์ หยังหลัง ยุวสตรีดีเด่น (ภาคใต้) เป็นต้น ซึ่งการมอบโล่ประกาศเกียรติคุณนี้ถือเป็นขวัญและกำลังใจให้กับสตรี ทุกท่าน ในการมุ่งมั่นทำความดี และเป็นตัวอย่างที่ดีแก่สังคม ทั้งนี้ ภายในงาน ยังมีการจัดนิทรรศการเชิดชูเกียรติสตรี บุคคล หน่วยงาน ที่ได้รับรางวัล การจัดนิทรรศการของหน่วยงานองค์กรที่ปฏิบัติงานด้านการพัฒนาสตรี และการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างหญิงและชาย โดยมีผู้เข้าร่วมงาน ประกอบด้วย ผู้แทนองค์กรสตรี ผู้แทนองค์กรระหว่างประเทศ ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ผู้บริหารด้านการเสริมสร้างบทบาทหญิงชาย (Chief Gender Equality Officers หรือ CGEOs) ผู้แทนภาคเอกชน ภาคประชาสังคม นักวิชาการ สื่อมวลชน รวมทั้งสตรี บุคคล และหน่วยงานองค์กรดีเด่น ที่ได้รับโล่รางวัล รวมทั้งสิ้นจำนวน ๘๐๐ คน” พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวท้าย