สคร.7 เตือนระวังเด็กจมน้ำเสียชีวิตภัยร้ายปิดเทอม

03 Mar 2015
สคร.7 เตือน ผู้ปกครองระวังเด็กจมน้ำเสียชีวิต พบเฉพาะในช่วงปิดเทอม มีนาคม-พฤษภาคม มีเด็กจมน้ำเสียชีวิตสูงถึง 442 คน จุดที่พบบ่อยคือ แหล่งน้ำธรรมชาติ หนองน้ำ คลองชลประทาน อ่างเก็บน้ำ อ่างอาบน้ำ ย้ำผู้ปกครองช่วยกันป้องกัน อย่าปล่อยเด็กเล่นน้ำตามลำพัง แนะหากทำกิจกรรมทางน้ำ ต้องสวมเสื้อชูชีพทุกครั้ง
สคร.7 เตือนระวังเด็กจมน้ำเสียชีวิตภัยร้ายปิดเทอม

นพ.ศรายุธ อุตตมางคพงศ์ ผู้อำนวยสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 (สคร.7) เปิดเผยว่า ในช่วงปิดเทอมที่จะมาถึงนี้ซึ่งเป็นช่วงเข้าสู่ฤดูร้อน เด็กๆไม่ได้ไปเรียนก็จะชักชวนเพื่อนๆ ไปเล่นน้ำที่บ่อน้ำหรือแหล่งน้ำเพื่อคลายร้อน โดยที่ไม่บอกผู้ปกครอง ทำให้พบสถิติการจมน้ำมากที่สุด ข้อมูลในรอบ 11 ปี ตั้งแต่ 2546-2556 พบเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จมน้ำเสียชีวิตแล้วถึง 15,495 คน เฉลี่ยปีละ 1,291 คน หรือวันละเกือบ 4 คน เฉพาะในช่วง 3 เดือนอันตรายซึ่งเป็นช่วงปิดเทอมคือมีนาคม-พฤษภาคม มีเด็กเสียชีวิตจากตกน้ำ จมน้ำสูงถึง 442 คน ส่วนในเขตพื้นที่รับผิดชอบ 7 จังหวัด ปี 2557 พบเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี เสียชีวิตจากการจมน้ำถึง 110 คน มากที่สุดที่ จ.อุบลราชธานี 39 คน จุดที่พบบ่อยคือ แหล่งน้ำธรรมชาติ หนองน้ำ คลองชลประทาน อ่างเก็บน้ำ อ่างอาบน้ำ

นพ.ศรายุธ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาคนไทยจำนวนหนึ่ง ยังมองเรื่องการตกน้ำ จมน้ำเสียชีวิตว่าเป็นเรื่องของเคราะห์กรรม ซึ่งข้อเท็จจริงนั้น การตกน้ำ จมน้ำเป็นเรื่องที่ช่วยกันป้องกันได้ ดังนั้น ผู้ปกครอง ผู้ดูแลเด็ก อย่าปล่อยเด็กเล่นน้ำตามลำพัง แม้ว่าจะเป็นแหล่งน้ำใกล้บ้าน หรือแหล่งน้ำที่คุ้นเคยก็ตาม ควรให้ความรู้เด็ก สร้างรั้วล้อมรอบแหล่งน้ำและติดป้ายคำเตือน รวมทั้งการจัดให้มีอุปกรณ์ช่วยคนตกน้ำไว้บริเวณแหล่งน้ำ ส่วนในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี อย่าปล่อยให้เด็กอยู่ลำพังแม้เสี้ยวนาที ต้องมองเห็น เข้าถึง และคว้าถึงง่าย เพราะเด็กวัยนี้จมน้ำง่าย เนื่องจากเด็กเล็กยังมีการทรงตัวไม่ดี ยังไม่มีความพร้อมในการป้องกันตนเอง จึงจมน้ำได้ง่าย แม้แหล่งน้ำมีน้ำเพียงเล็กน้อย หรือแม้แต่ในถังหรือกะละมังที่มีน้ำเพียง 1-2 นิ้วก็ตาม

นอกจากนี้ สาเหตุที่ทำให้มีผู้จมน้ำเสียชีวิตมาก ส่วนหนึ่งเกิดมาจากการช่วยเหลือผิดวิธี ซึ่งมี 2 ช่วงคือ ขณะอยู่ในน้ำ ซึ่งเด็กๆ จะเล่นน้ำเป็นกลุ่ม พอมีเพื่อนจมน้ำก็จะลงน้ำไปช่วยกันเอง โดยไม่มีความรู้ในการช่วยที่ถูกต้อง และอีกช่วงคือการช่วยเด็กหลังนำขึ้นมาจากน้ำแล้ว โดยประชาชนส่วนใหญ่ ยังเข้าใจผิด คิดว่าการอุ้มพาดบ่า และกระแทกเอาน้ำออกเป็นเรื่องที่ถูกต้อง ซึ่งในความจริง เป็นวิธีที่ผิด เนื่องจากจะทำให้ผู้จมน้ำ ขาดอากาศหายใจนานขึ้น ควรรีบเป่าปากและนวดหัวใจ เพื่อให้หายใจได้เร็วที่สุด ถ้าพบว่าหายใจเองได้หรือหายใจเองได้แล้ว ให้จับผู้จมน้ำให้นอนตะแคง ให้ศีรษะหงายไปข้างหลัง เพื่อให้น้ำไหลออกทางปาก และใช้ผ้าห่มคลุมตัวผู้ป่วย เพื่อให้ความอบอุ่น งดน้ำและอาหาร และรีบส่งผู้ที่จมน้ำทุกราย ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด

สำหรับเด็กที่ต้องเดินทาง หรือทำกิจกรรมทางน้ำ รวมทั้งผู้ที่ว่ายน้ำไม่เป็น แต่ต้องการลงเล่นน้ำคลายร้อน ควรสวมเสื้อชูชีพทุกครั้ง ทั้งนี้ เมื่อพบคนตกน้ำ ต้องไม่กระโดดลงไปช่วย แม้จะว่ายน้ำเป็น เพราะอาจจะถูกกอดรัดและจมน้ำเสียชีวิตพร้อมกันได้ วิธีการช่วยให้ยึดหลัก 3 อย่างคือ 1.ตะโกน คือการเรียกให้คนมาช่วย และโทรแจ้งทีมแพทย์กู้ชีพ 1669 2.โยนอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัวเพื่อช่วยคนตกน้ำเกาะจับพยุงตัว เช่น เชือก ถังแกลลอนพลาสติกเปล่า ขวดน้ำพลาสติกเปล่า หรือวัสดุที่ลอยน้ำได้ โดยโยนครั้งละหลายๆ ชิ้น 3.ยื่นอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัวให้คนตกน้ำจับ เช่น ไม้ ผ้าขาวม้า ให้คนตกน้ำจับและดึงขึ้นมาจากน้ำ หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถาม หรือโทรปรึกษา สายด่วน กรมควบคุมโรค 1422 ตลอด 24 ชั่วโมง" นพ.ศรายุธ กล่าวปิดท้าย