“ดัชมิลล์” ส่งเสริมสุขภาพ พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ยากไร้ในถิ่นทุรกันดาร ร่วมสนับสนุน “โรงพยาบาลอุ้มผาง”

03 Mar 2015
ดัชมิลล์” ส่งเสริมสุขภาพ พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ยากไร้ในถิ่นทุรกันดาร ร่วมสนับสนุน “โรงพยาบาลอุ้มผาง” พัฒนาสาธารณสุขพื้นฐาน ในพื้นที่อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก ภายใต้โครงการ “ดัชมิลล์ สร้างขวัญ ปันสุข พัฒนาคุณภาพชีวิต”
“ดัชมิลล์” ส่งเสริมสุขภาพ พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ยากไร้ในถิ่นทุรกันดาร ร่วมสนับสนุน “โรงพยาบาลอุ้มผาง”

“อุ้มผาง” หรือที่เรียกกันว่า “แผ่นดินดอยลอยฟ้า” สุดเขตชายแดนประเทศไทย หนึ่งในห้าอำเภอของจังหวัดตากที่มีแนวชายแดนติดกับประเทศพม่า มีอาณาเขตติดกับประเทศพม่ายาวถึง 180 กิโลเมตร สภาพภูมิประเทศรายล้อมไปด้วยป่าและภูเขาทำให้การเดินทางเข้าถึงลำบาก ซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวเขาเผ่ากระเหรี่ยงที่ยากจน และขาดแคลน อยู่ในพื้นที่ทุรกันดารห่างไกลจากโรงพยาบาลมาก และมากกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนประชากรทั้งหมด ไม่มีสิทธิ์หลักประกันสุขภาพ เด็กๆ ส่วนใหญ่ขาดสารอาหารและยังเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาโรคติดต่อที่รุนแรงถึงชีวิต เช่น มาลาเรีย อหิวาตกโรค วัณโรค ฯลฯ โดยปัญหาหลักด้านสาธารณสุขในพื้นที่ คือ การเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ ด้วยเหตุนี้ “กลุ่มบริษัทดัชมิลล์” ในฐานะบริษัทของคนไทยที่ดำเนินธุรกิจด้วยปณิธานมุ่งมั่นพัฒนาสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์อาหารนมคุณภาพเพื่อสุขภาพที่ดีของคนไทย ควบคู่กับความรับผิดชอบต่อสังคมมายาวนานกว่า 30 ปี โดยมุ่งเน้นสร้างประโยชน์ตอบแทนสังคมใน 3 ด้าน คือ ด้านสุขภาพ ด้านการศึกษา และด้านสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง หลายปีที่ผ่านมาดัชมิลล์ได้มอบเครื่องมือแพทย์ที่จำเป็นต่อการช่วยชีวิตให้แก่โรงพยาบาลชุมชนในถิ่นทุรกันดารทั่วประเทศ รวมทั้งโรงพยาบาลอุ้มผาง โดยล่าสุดในปี พ.ศ.2557 ได้ริเริ่มโครงการ “ดัชมิลล์ สร้างขวัญ ปันสุข พัฒนาคุณภาพชีวิต” โดยได้คัดเลือกและให้ความช่วยเหลือ “โรงพยาบาลอุ้มผาง” จ.ตาก เป็นพื้นที่แรก และได้ร่วมสนับสนุนจัดทำ “โครงการพัฒนาสาธารณสุขพื้นฐานในพื้นที่อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก” ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่อง ระยะเวลา 3 ปี ล่าสุดได้เชิญสื่อมวลชนลงพื้นที่เพื่อบอกเล่าถึงการดำเนินการช่วยเหลือชุมชนในด้านสาธารณสุขพื้นฐาน รวมถึงแนวทางในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสร้างความยั่งยืนให้กับผู้ยากไร้ในถิ่นทุรกันดาร

นางมธุวลี สถิตยุทธการ ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ กลุ่มบริษัทดัชมิลล์ กล่าวว่า “หนึ่งในภารกิจ เพื่อสังคมที่กลุ่มบริษัทดัชมิลล์มุ่งเน้นมาโดยตลอด คือ การส่งเสริมสุขภาพที่ดีให้กับคนไทย ไม่ว่าจะเป็นการรณรงค์และส่งเสริมให้คนไทยใส่ใจดูแลสุขภาพตัวเอง ด้วยการดื่มนมและผลิตภัณฑ์นมคุณภาพเป็นประจำร่วมกับการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพและโภชนาการที่ดีในระยะยาว รวมถึงการสนับสนุนงานส่งเสริมสุขภาพ และช่วยเหลือพัฒนาคุณภาพชีวิต ผู้ยากไร้ในถิ่นทุรกันดารตามแนวตะเข็บชายแดนที่ยากจน ห่างไกล และขาดแคลน และเนื่องในโอกาสที่กลุ่มบริษัทดัชมิลล์ครบรอบ 30 ปี ในปี 2557 ดัชมิลล์ได้ริ่เริ่มโครงการ “ดัชมิลล์ สร้างขวัญ ปันสุข พัฒนาคุณภาพชีวิต” โดยมีวัตถุประสงค์ คือ สร้างความสุขและสุขภาพที่ดี เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ให้กับผู้ยากไร้ในถิ่นทุรกันดารตามแนวชายแดน ที่ห่างไกลและขาดแคลน ตลอดจนสร้างขวัญกำลังใจให้กับทีมบุคลากรสาธารณสุขที่อุทิศตนทำงานอย่างหนักเพื่อดูแลสุขภาพของ ผู้ยากไร้ที่อาศัยอยู่ตามแนวชายแดนโดยไม่เลือกปฏิบัติ”

“สำหรับพื้นที่แรกที่เราคัดเลือกและให้ความช่วยเหลือ คือ อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก ซึ่งในปี พ.ศ.2555 - 2556 ที่ผ่านมา ดัชมิลล์ได้สนับสนุนมอบเครื่องมือแพทย์ที่จำเป็นต่อการช่วยชีวิตให้แก่โรงพยาบาลอุ้มผาง ต่อเนื่อง 2 ปีซ้อน และล่าสุดในปี พ.ศ.2557 ได้ให้การสนับสนุนโรงพยาบาลอุ้มผางจัดทำโครงการพัฒนาสาธารณสุขขั้นพื้นฐานในพื้นที่ อ.อุ้มผาง จ.ตาก ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 3 ปี โดยให้การสนับสนุนและช่วยเหลือด้านสาธารณสุขพื้นฐานหลากหลายรูปแบบ อาทิ สนับสนุนนมผงสำหรับหญิงตั้งครรภ์ เกลือเสริมไอโอดีน อุปกรณ์ทำคลอดปราศจากเชื้อสำหรับหมอตำแย งบประมาณในการจัดซื้อยา อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็น และค่าการดำเนินการสุขศาลา อีกทั้งยังได้มอบทุนการศึกษาสนับสนุนเด็กนักเรียนชาวเขาเผ่ากระเหรี่ยงในพื้นที่ ให้มีโอกาสศึกษาต่อพยาบาลหลักสูตรปริญญาตรีต่อเนื่อง 4 ปี เพื่อสร้างบุคลากรทางด้านสาธารณสุขที่มีความรู้ ความสามารถ กลับคืนถิ่นมาปฏิบัติงานประจำสุขศาลาพระราชทานในพื้นที่บ้านเกิดของตนเอง ช่วยเหลือชุมชนชาวเขาเผ่ากระเหรี่ยงต่อไป นอกจากการให้การสนับสนุนโรงพยาบาลอุ้มผางจัดทำโครงการพัฒนาสาธารณสุขพื้นฐานแล้ว กลุ่มบริษัทดัชมิลล์ ยังมีแผนจะช่วยพัฒนาและส่งเสริมอาชีพให้แก่ผู้ยากไร้ในถิ่นทุรกันดาร เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นและสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชนในระยะยาวต่อไป” นางมธุวลี กล่าวเพิ่มเติม

ด้านนายแพทย์วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง จังหวัดตาก กล่าวว่า “อำเภออุ้มผาง เดิมมีชื่อว่า “อุมผะ” มาจากชื่อเรียกไม้ไผ่สานที่ใช้สำหรับใส่ของระหว่างเดินทางของชาวกะเหรี่ยง โดยพื้นที่นี้ เป็นที่อยู่ของชาวกะเหรี่ยงดั้งเดิมมานานกว่าร้อยปี ปัจจุบันมีผู้อาศัยในอำเภออุ้มผางประมาณ 68,000 คน และกว่าครึ่งเป็นกลุ่มบุคคลไร้สัญชาติ ซึ่งกลุ่มคนไร้สัญชาติเหล่านี้อาศัยอยู่บริเวณชายแดนทั้งฝั่งไทยและฝั่งพม่า มีความเป็นอยู่ที่ลำบาก เพราะอาศัยอยู่ในป่าและยากจน อยู่ในพื้นที่ที่ห่างไกล ทำให้ประสบปัญหาในด้านสุขภาพและโภชนาการ เด็กๆ ในพื้นที่ประสบปัญหาขาดสารอาหารและเป็นโรคเกี่ยวกับสุขอนามัย การคลอดบุตรของหญิงตั้งครรภ์ก็ยังต้องทำคลอด โดยหมอตำแยในหมู่บ้าน และคนในพื้นที่ก็ต้องเผชิญกับโรคระบาด เช่น โรคมาลาเรีย วัณโรค และ อหิวาตกโรคอยู่เสมอ โรงพยาบาลอุ้มผาง ซึ่งเป็นโรงพยาบาลในพื้นที่ได้ดำเนินการเพื่อช่วยเหลือกลุ่มผู้ยากไร้เหล่านี้ตามหลักมนุษยธรรม เพราะกลุ่มคนเหล่านี้ไม่มีเงินค่ารักษาพยาบาล รวมทั้งมีความยากลำบากในการเดินทางเข้ามารับการรักษาจากโรงพยาบาล เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ห่างไกลและทุรกันดารมาก”

“สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงพระเมตตาต่อชาวบ้านผู้ยากไร้ในถิ่นทุรกันดารที่อยู่ตามแนวชายแดน ทรงริเริ่มโครงการสุขศาลาพระราชทานในพื้นที่อำเภออุ้มผาง 2 แห่ง คือ สุขศาลาพระราชทานบ้านเลตองคุ และสุขศาลาพระราชทานบ้านแม่จันทะ ซึ่งต่อมาโรงพยาบาลอุ้มผาง ได้ต่อยอดขยายสุขศาลาหมู่บ้านในพื้นที่หมู่บ้านที่อยู่ห่างไกลเข้าถึงได้ยาก ในฝั่งไทย 13 แห่ง และสุขศาลาข้ามแดน ฝั่งพม่าอีก 1 แห่ง รวมเป็น 16 แห่ง โดยมีพนักงานสุขศาลา ซึ่งเป็นชาวบ้านในหมู่บ้านที่ได้รับการอบรมด้านการแพทย์จากโรงพยาบาลอุ้มผาง ให้มีความรู้ด้านสาธารณสุขพื้นฐาน สามารถดูแลปฐมพยาบาลผู้ป่วยในเบื้องต้น และรักษาโรคประจำถิ่นที่สำคัญ คือ โรคมาลาเรีย โรคไข้รากสาดใหญ่ ตลอดจนสามารถทำคลอดและผ่าตัดเล็กได้ ชาวบ้านจึงสามารถพึ่งพาตนเองได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งหากเกินกำลังจะประสานติดต่อ ให้เจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาลอุ้มผางมาให้การช่วยเหลือ นอกจากนี้ทางโรงพยาบาลยังได้การจัดอบรมหมอตำแยจำนวน 196 คน เพื่อให้สามารถทำคลอดได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย และได้จัดทีมหน่วยงานส่งเสริมสุขภาพลงพื้นที่ตรวจสุขภาพให้กับชาวบ้านในพื้นที่เป็นประจำทุกๆ เดือน ซึ่งทางกลุ่มบริษัทดัชมิลล์ ได้เข้ามาช่วยเหลือสนับสนุนจัดทำโครงการพัฒนาสาธารณสุขพื้นฐาน สนับสนุนนมผงสำหรับหญิงตั้งครรภ์ เกลือเสริมไอโอดีน อุปกรณ์ทำคลอดปราศจากเชื้อ ยา อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็น และค่าดำเนินการสุขศาลา รวมทั้งมอบทุนการศึกษาสนับสนุนเด็กนักเรียนชาวเขาเผ่ากระเหรี่ยงในพื้นที่ ได้มีโอกาสเรียนต่อพยาบาล เพื่อสร้างบุคลากรสาธารณสุขที่มีความรู้ความสามารถกลับมาประจำสุขศาลาพระราชทาน ผมในนามของตัวแทนโรงพยาบาลอุ้มผาง และในฐานะตัวกลางที่นำความช่วยเหลือต่างๆ ไปสู่กลุ่มชาวบ้าน ผู้ยากไร้ต้องขอขอบคุณกลุ่มบริษัทดัชมิลล์เป็นอย่างสูง ที่มีน้ำใจเข้ามาช่วยเหลือกลุ่มผู้ยากไร้ในพื้นที่อุ้มผาง ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น” นายแพทย์วรวิทย์ กล่าวเสริม

สนใจร่วมสมทบทุนสนับสนุนโรงพยาบาลอุ้มผาง สามารถโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารออมสิน สาขาอุ้มผาง เลขที่บัญชี 020052275797 ชื่อบัญชี “เงินบำรุง รพ.อุ้มผาง (กองทุนสุขศาลาพระราชทาน)” หรือร่วมบริจาคเสื้อผ้าใช้แล้วสภาพดี ยา ผ้าห่ม ผ้าอ้อม หรือสิ่งของที่จำเป็น เพื่อนำมาช่วยเหลือผู้ป่วยผู้ยากไร้ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อโรงพยาบาลอุ้มผาง โทร.(055) 561270- 2 ต่อ 155, 081-887-7945

นายจูซ่าย คีรีการะเกด ผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านเลตองคุ เล่าว่า “ที่ผ่านมาชาวบ้านในหมู่บ้านเลตองคุ มีปัญหาด้านสุขภาพค่อนข้างหนักมาก เพราะหมู่บ้านอยู่ห่างไกล ไม่มีโรงพยาบาลหรือสถานีอนามัยอยู่ใกล้ๆ หมู่บ้านเลย การเดินทางเข้าออกหมู่บ้านยากลำบากและใช้เวลาเดินทางนาน โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนรถยนต์ไม่สามารถเข้าได้ ซึ่งหลังจากที่มีสุขศาลาพระราชทานช่วยทำให้ปัญหาด้านสุขภาพลดลง เวลามีคนเจ็บป่วยก็สามารถมารับการรักษาที่สุขศาลาได้ โดยจะมีเจ้าหน้าที่ประจำสุขศาลาช่วยรักษาอาการเจ็บป่วยในเบื้องต้นได้ แต่ถ้าเกินกำลังก็จะติดต่อประสานงานกับเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลอุ้มผาง เพื่อขอความช่วยเหลือนำคนไข้ส่งไปรักษาที่โรงพยาบาล และในทุกๆ เดือน จะมีทีมเจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาลอุ้มผางเข้ามาให้บริการตรวจครรภ์ ฉีดวัคซีน และให้ความรู้กับชาวบ้าน พวกเราได้รับความช่วยเหลือจากโรงพยาบาลอุ้มผางและผู้ใจบุญ อย่างบริษัท ดัชมิลล์ ที่ได้สนับสนุนมอบนมผงสำหรับหญิงตั้งครรภ์ เกลือเสริมไอโอดีน และยา เพื่อช่วยเสริมสร้างสุขภาพที่ดีให้กับชาวบ้าน โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ที่จำเป็นต้องบำรุงร่างกายเพิ่มสารอาหารให้กับลูกในท้อง ส่วนเด็กๆ ก็ได้ทานอาหารที่มีไอโอดีน ทำให้ตอนนี้เด็กๆ ในหมู่บ้านมีสุขภาพแข็งแรงขึ้นกว่าเมื่อก่อน ในฐานะตัวแทนชาวบ้านเลตองคุ ผมขอขอบคุณทีมหมอ พยาบาลและอาสาสมัครจากโรงพยาบาลอุ้มผาง และบริษัท ดัชมิลล์ รวมทั้งผู้ใจบุญทุกท่านจากใจ ที่ช่วยทำให้ชาวบ้านในหมู่บ้านเลตองคุมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น พวกเรารู้สึกซาบซึ้งกับทุกความช่วยเหลือจริงๆ ครับ”

HTML::image( HTML::image( HTML::image(