สืบเนื่องจากก่อนหน้านี้ กนง.ได้ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงมา 0.25% จาก 2.00% เป็น 1.75% ต่อปีเมื่อวันที่ 11 มี.ค. และจากสถิติที่ผ่านมา หากกนง.ปรับลดดอกเบี้ยเมื่อไหร่ มักจะได้เห็นกนง.ปรับลดดอกเบี้ยลงอีกครั้งในการประชุมครั้งต่อไปอันใกล้ หรือเป็นการปรับลดดอกเบี้ย 2 ครั้งในระยะใกล้กัน ดังนั้น สำนักวิจัยฯจึงคาดการณ์ว่าอาจจะได้เห็นกนง.ปรับลดดอกเบี้ยลงอีกครั้งในการประชุมรอบ วันที่ 10 มิ.ย.2558 ส่งผลให้ดอกเบี้ยนโยบายปรับลดลงมาเหลือ 1.50%
“แม้ส่วนตัวยังไม่เห็นด้วยกับการลดดอกเบี้ยคราวก่อนและกังวลต่อประสิทธิผลของการลดดอกเบี้ยว่าจะช่วยฟื้นเศรษฐกิจได้อย่างจำกัด แต่ในภาวะเช่นนี้ก็อาจเป็นไปได้ที่ทางกนง. คงมีเหตุผลและข้อมูลมากกว่านักวิเคราะห์ทั่วไป นอกจากนี้ยังวิตกว่าถ้าดอกเบี้ยลงมาเหลือ 1.50% แล้ว แล้วเกิดเศรษฐกิจซบเซา ธปท.จะยังเหลือกระสุนเพียงพอหรือไม่ เพราะจากสถิติธปท.ยังไม่เคยลดดอกเบี้ยลงต่ำกว่า 1.25% ซึ่งครั้งนั้นเศรษฐกิจไทยถดถอยตามปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 2552 ประเด็นนี้ ทางสำนักวิจัยฯมองว่า อาจได้เห็นนโยบายการเงินรูปแบบใหม่ นั่นคือ กรณีถ้าปัจจัยต่างประเทศรุมเร้า เศรษฐกิจจีนชะลอ ปัญหารัสเซียยังไม่จบ เกิดเป็นวิกฤตเศรษฐกิจรอบใหม่ อาจทำให้กนง.ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีก และลงมาต่ำกว่า 1.25% เป็นครั้งแรก ทั้งนี้การประชุมกนง.รอบที่แล้วนโยบายการเงินขยับจากกองหลังขึ้นมาเป็นกองกลาง ประชุมรอบถัดไปก็อาจขยับขึ้นมาเป็นกองหน้า ถ้าโชคร้ายเกิดวิกฤต อาจจะได้เห็นสิ่งที่ไม่เคยเห็น เป็น ‘a new normal stage’ ของธปท.” นายอมรเทพ กล่าว
นายอมรเทพ กล่าวว่า ในเมื่อตลาดคาดการณ์ว่าดอกเบี้ยนโยบายจะปรับลดอีกครั้ง นักลงทุนอาจจะยิ่งชะลอการลงทุน เพราะหวังต้นทุนทางการเงินที่ต่ำลง ซึ่งจะมีผลให้การลดดอกเบี้ยในครั้งก่อนไม่มีประสิทธิผลได้ ทั้งนี้หวังว่าทางธปท. จะส่งสัญญาณให้ชัดเจนในส่วนของทิศทางอัตราดอกเบี้ย เพื่อช่วยประกอบการตัดสินใจของนักลงทุน ขณะเดียวกัน เอกชนก็ไม่ควรรอภาครัฐให้นำล่องการลงทุนเพียงอย่างเดียว เพราะหากรอความชัดเจนในการก่อสร้าง การเบิกจ่าย และความต่อเนื่องในแผนการลงทุนระยะยาวมากเกินไป อาจทำให้เสียโอกาสในการลงทุน ต้นทุนทางการเงินอาจปรับสูงขึ้น หรือสภาพคล่องอาจลดลงหากสหรัฐฯ ขึ้นอัตราดอกเบี้ยและเกิดภาวะเงินไหลออก
อนึ่ง สำนักวิจัยฯคาดว่าทางกนง. น่าจะคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งหน้าวันที่ 29 เมษายน เพื่อดูผลจากการลดดอกเบี้ยในครั้งก่อน และอาจมีการปรับลดดอกเบี้ยอีกครั้งในการประชุมกนง.วันที่ 10 มิ.ย. หากตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1 ปี 2558 ที่จะประกาศออกมาวันที่ 18 พ.ค.2558 ออกมาแย่กว่าคาด
นายอมรเทพ กล่าวว่า ขณะนี้ความเชื่อมั่นจากภาคเอกชนยังต่ำ จากความต้องการในประเทศฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด และแม้ราคาน้ำมันจะลดต่ำลง ส่งผลดีกับภาคการผลิตและขนส่งก็ตาม เมื่อรวมปัจจัยจากทั้งภายในและภายนอกประเทศ ภาวะแบบนี้หากนโยบายการคลังทำหน้าที่ได้ไม่เต็มที่ ภาระจึงตกอยู่ที่นโยบายการเงินอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
อย่างไรก็ดี ด้านค่าเงินบาท ปัจจัยที่ยังทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านรวมถึงสหรัฐ คือ การนำเข้าหดตัวจากราคาน้ำมันที่ลดลง ความต้องการเงินเหรียญสหรัฐจึงน้อยลง การปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงเป็นการพาเงินบาทเข้าสู่สงครามค่าเงินเต็มตัว และจะได้เห็นการต่อสู้กันของค่าเงินสกุลต่างๆอีกพักใหญ่ แต่ที่น่าจับตาคือ หากธนาคารกลางสหรัฐปรับขึ้นดอกเบี้ยเมื่อไหร่ สงครามค่าเงินจะลดความร้อนแรงลง เพราะได้อานิสงส์จากเงินไหลออกจากตลาดเกิดใหม่ไปสู่สหรัฐ ทั้งนี้สำนักวิจัยคาดว่าหลังจากที่อัตราการว่างงานของสหรัฐลดลงต่อเนื่อง ประกอบกับเศรษฐกิจที่เติบโตได้ดี อาจได้เห็นดอกเบี้ยสหรัฐปรับขึ้นได้ในเดือนกันยายนนี้
ทว่า สิ่งที่น่ากังวลคือ หากทางการดูแลค่าบาทให้อ่อนค่าเพื่อดูแลภาคส่งออก มีความเสี่ยงที่ค่าเงินบาทจะอ่อนค่ามากเกินกว่าที่คาดหวัง สำนักวิจัยฯคาดว่าจะได้เห็นค่าบาทอ่อนค่าไปถึง 34-35 บาทต่อเหรียญสหรัฐ จากเดิมเคยคาดการณ์ไว้ที่ 34 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ยิ่งกว่านั้น คำถามสำคัญคือ ค่าบาทอ่อนช่วยส่งออกได้จริงหรือ
“นอกจากความวิตกว่ากระสุนจะเพียงพอไหม เรายังห่วงว่าสภาพเครื่องยนต์จะกระตุกหรือเปล่า เศรษฐกิจไทยมองไปทางไหนเจอแต่ความท้าทาย งบประมาณภาครัฐล่าช้า รายได้ภาคเกษตรตกต่ำ ความเชื่อมั่นทุกภาคส่วนก็ยังไม่ฟื้น ความหวังของเศรษฐกิจไทย นอกจากภาคการท่องเที่ยวแล้ว ก็คงหวังภาคเอกชนให้เร่งลงทุนหรือออกไปลงทุนต่างประเทศ เพื่อหาโอกาสใหม่ ในช่วงที่เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้า ” นายอมรเทพ กล่าว
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit