ดร.นายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย ประธานในพิธีลงนามความร่วมมือ“ การรณรงค์ลด ละ เลิกการใช้ภาชนะโฟม บรรจุอาหาร เพื่อสุขภาพที่ดีของคนไทย ” เปิดเผยว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการค้าอาหารมักนิยมใช้ภาชนะสำเร็จรูปที่ทำจากโฟม ทั้งจาน ถ้วย กล่อง ใช้บรรจุอาหารปรุงสำเร็จ เช่น ข้าวผัด ผัดกระเพรา กระเพาะปลา ก๋วยเตี๋ยว เนื่องจากสะดวก ใช้ง่าย รวดเร็ว และราคาถูก การนำภาชนะโฟมมาบรรจุอาหารร้อน ต้องใช้อย่างระมัดระวัง หากโฟมสัมผ้สกับอาหารร้อนจัดเป็นเวลานาน จะทำให้เสียรูปทรง เกิดการหลอมละลาย มีสารเคมีที่อยู่ในเนื้อโฟม ซึ่งมองไม่เห็นปนเปื้อนออกมาอยู่ในอาหาร ทำให้เกิดอันตรายสะสมอยู่ในร่างกาย แบบค่อยเป็นค่อยไปไม่รู้ตัว
สารเคมีที่พบในภาชนะโฟมบรรจุอาหาร ที่สำคัญมี 3 ตัว ได้แก่ 1.สารสไตรีน (Styrene) เป็นสารก่อมะเร็ง เพิ่มความเสี่ยงเกิดมะเร็งเต้านม และมะเร็งต่อมลูกหมาก มีผลต่อสมองและเส้นประสาท ทำให้อ่อนเพลีย หงุดหงิดง่าย นอนหลับยาก ระบบฮอร์โมนในร่างกายผิดปกติ ทำให้มีปัญหาต่อมไทรอยด์และประจำเดือนในสตรีผิดปกติ 2. สารเบนซิน (Benzene) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งเช่นกัน สารชนิดนี้ละลายได้ดีในน้ำมัน เมื่อเข้าสู่ร่างกาย ทำให้เกิดอาการวิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียน หัวใจเต้นแรง หากได้รับสารชนิดนี้เป็นเวลานาน ทำให้เป็นโรคโลหิตจาง เนื่องจากสารเบนซินจะทำลายไขกระดูก ทำให้จำนวนเม็ดเลือดลดลง และ3.สารพทาเลท (Phthalate) เป็นสารที่มีพิษต่อระบบสืบพันธุ์ ทำให้ผู้ชายเป็นหมัน หากเป็นหญิงมีครรภ์ลูกอาจมีอาการดาวน์ซินโดรมและอายุสั้นได้ ทั้งนี้ การละลายของสารเคมีทั้ง 3 ชนิดนี้ จะมากน้อยขั้นอยู่กับปัจจัย 3 ประการ ได้แก่ อุณหภูมิอาหาร ไขมันในอาหารและระยะเวลาที่อาหารสัมผัสกับภาชนะโฟม โดยเฉพาะอาหารที่มีไขมันสูง เช่น อาหารประเภทผัด ทอด จะทำให้สารสไตรีนละลายออกมาได้มากกกว่า
ดร.นายแพทย์พรเทพ กล่าวต่อว่า รัฐบาลโดยสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มีนโยบายเร่ง จัดการอันตรายจากโฟมที่ใช้สำหรับบรรจุอาหาร และได้มอบให้กรมอนามัย รณรงค์ลด ละ เลิก การใช้ภาชนะโฟมบรรจุอาหาร โดยเริ่มในพื้นที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี ซึ่งมีผู้ประกอบการค้าอาหารในโรงอาหารและตลาดนัด รวม 311 ราย สามารถดำเนินการเลิกการใช้ภาชนะโฟมบรรจุอาหารได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เมื่อ 31 ตุลาคม 2557 และในปีนี้ได้ขยายรณรงค์ไปยังหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขที่อยู่ในภูมิภาคทั่วประเทศ เช่น สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน ศูนย์วิชาการกรมต่างๆ เพื่อเป็นตัวอย่างแก่หน่วยงานอื่นๆในพื้นที่ และนำร่องในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้นแบบ 4 ภาคด้วย
ด้านนายแพทย์วีรฉัตร กิตติรัตนไพบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมจำกัด (มหาชน) หนึ่งในผู้ผลิต “ภาชีวะ” จากเยื่อพืชธรรมชาติ ภายใต้แบรนด์ gracz ที่เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ กล่าวว่า เนื่องด้วยทางกรมอนามัย ได้วางกรอบแนวทางเพื่อรณรงค์การใช้วัสดุธรรมชาติดั้งเดิมด้วย 3 ยุทธศาสตร์ ในการลด ละ เลิก การใช้ภาชนะโฟมบรรจุอาหารครั้ง ได้แก่ 1. สร้างเขตพื้นที่ปลอดการใช้โฟมใส่อาหาร โดยให้ใช้ภาชนะที่ทำจากวัสดุธรรมชาติใช้แทน เช่น กระดาษชานอ้อย หรือกล่องพลาสติกชีวภาพ เป็นต้น 2 การรณรงค์การใช้วัสดุธรรมชาติดั้งเดิมเช่น ใบตอง ใบบัว สำหรับห่อข้าวหรือขนม ทดแทนด้วยผลิตภัณฑ์ที่ทำจากธรรมชาติ เช่น ชานอ้อย ชานอ้อยผสมเยื่อไผ่ มันสำปะหลัง เนื่องจากวัสดุเหล่านี้ เป็นสารอินทรีย์ ย่อยสลายตามธรรมชาติในเวลา 45 วัน ต่างจากโฟมที่ใช้เวลาย่อยสลายนานถึง 1,000 ปี หรือประมาณ 12 ชั่วคน หรืออาจใช้บรรจุภัณฑ์ ที่ได้มอก. และยุทธศาสตร์ที่ 3 การปฏิเสธการใช้โฟมทุกรูปแบบ เช่น ไม่ซื้ออาหารที่บรรจุในกล่องโฟม ภาชีวะเกรซ จึงถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือก สำหรับการงดใช้กล่องโฟม เพราะภาชีวะเกรซ ทำมาจากวัสดุธรรมชาติ 100% ไม่เป็นอันตรายต่อทั้งคนและสัตว์ ปลอดสารอันตรายที่ก่อมะเร็ง
“นับว่าเป็นสิ่งที่ดีที่ภาครัฐ นำโดยกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เล็งเห็นความสำคัญในเรื่องของโฟมและพลาสติก ซึ่งเป็นปัญหาของประเทศ ทั้งในเรื่องของสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ จึงได้มีนโยบายอย่างชัดเจน ที่รณรงค์ในภาคราชการโดยกระทรวงสาธารณสุขถือเป็นองค์กรตัวอย่างที่นำร่อง นโยบายปลอดโฟมและล่าสุด ได้มีการดึงภาคเอกชน เข้ามาเซ็น MOU เรื่องลดละเลิกโฟม ซึ่งเชื่อว่าจะมีผลทำให้กระแสการลดละเลิกโฟม เริ่มกระจายไปในวงกว้าง เข้าสู่สังคมไทยเพิ่มมากขึ้น ซึ่งก็จะทำให้ปัญหาในเรื่องของขยะที่มาจากโฟมที่ลดลง และสุขภาพของประชาชนคนไทยก็จะดีขึ้น ไม่ต้องแบกรับความเสี่ยงจากการเป็นมะเร็งจากการใช้โฟมในการบรรจุอาหารอีก” นายแพทย์วีรฉัตรกล่าว
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit