ซีพีเอฟ พาชมโครงการเลี้ยงไก่ไข่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนนเรศวรป่าละอู ต้นแบบเลี้ยงไก่ไข่สร้างอาชีพ บริหารจัดการปศุสัตว์ดีเด่น

20 Mar 2015
นายสุปรี เบ้าสิงห์สวย กรรมการและผู้ช่วยเลขาธิการ มูลนิธิพัฒนาชีวิตชนบท สนับสนุนโดยเครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า เนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ ในวันที่ 2 เมษายนนี้ มูลนิธิพัฒนาชีวิตชนบท สนับสนุนโดยเครือเจริญโภคภัณฑ์ และเหล่าพนักงาน ร่วมกับ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด(มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ สานต่อโครงการ “เลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน” เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยซีพีเอฟได้น้อมนำแนวพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีตาม “โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน” ที่มีวัตถุประสงค์ เพื่อช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนอาหารกลางวันของเด็กนักเรียน นอกจากจะทำให้มีอาหารกลางวันที่มีคุณค่าทางโภชนาการบริโภคตลอดช่วงการศึกษาแล้ว นักเรียนยังได้รับความรู้ด้านการเกษตรแผนใหม่และเกิดทัศนคติที่ดีต่ออาชีพการเกษตร สามารถนำไปประกอบอาชีพได้ในอนาคต

จากแนวพระราชดำริดังกล่าว มูลนิธิพัฒนาชีวิตชนบทฯ และซีพีเอฟได้ดำเนินโครงการ เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับเยาวชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ได้บริโภคไข่ไก่อาหารที่อุดมไปด้วยคุณประโยชน์ เสริมสร้างโภชนาการที่ดี มาตั้งแต่ปี 2531 ตลอดเวลาที่ผ่านมาได้สนับสนุนโรงเรียนไปแล้ว 466 แห่ง แบ่งเป็นโรงเรียนสังกัดกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน 131 แห่ง และโรงเรียนสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน 315 แห่ง ส่งเสริมให้เยาวชนไทยกว่า 120,000 คน ได้บริโภคอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ และครูกว่า 8,000 คน และชุมชนกว่า 600 หมู่บ้าน ได้รับประโยชน์จากโครงการนี้ ด้วยงบประมาณสนับสนุนกว่า 54.64 ล้านบาท และจะขยายผลเพิ่มในโรงเรียนอีก 50 แห่งในปี 2558 จะทำให้มีโรงเรียนเข้าร่วมโครงการกว่า 514 แห่งทั่วประเทศโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนนเรศวรป่าละอู อำเภอ หัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สังกัด กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน เปิดทำการสอนเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2526 เพื่อสอนหนังสือให้แก่ชาวเขาและประชาชนในพื่นที่ห่างไกล มีนักเรียนตั้งแต่ก่อนวัยเรียนถึงระดับประถมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวไทยภูเขาเผ่ากะเหรี่ยง จำนวน 224 คน แบ่งเป็น ชาย 120 คน หญิง 104 คน ผู้ปกครองส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้างและฐานะยากจน จึงทำให้นักเรียนมีภาวะทุพโภชนาการมากถึง 57 คน หรือคิดเป็น 25.5% ของนักเรียนทั้งหมด ซึ่งภายหลังจากที่ซีพีเอฟได้เข้าไปให้การสนับสนุนโครงการเมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2545 มาจนถึงปัจจุบัน ส่งเสริมให้นักเรียนได้บริโภคไข่ไก่คนละ 3 ฟองต่อสัปดาห์ นอกเหนือจากการบริโภคที่บ้านตามปกติ ซึ่งช่วยทำให้นักเรียนพ้นจากภาวะทุพโภชนาการได้ในที่สุด

กว่า 14 ปีที่มูลนิธิพัฒนาชีวิตชนบทฯ และซีพีเอฟได้เข้าไปสนับสนุนโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันรุ่นแรก สามารถส่งเสริมในนักเรียนในโรงเรียนมีภาวะโภชนาการที่ดีได้ 100%ปัจจุบันโรงเรียนได้เลี้ยงไก่ไข่เป็นรุ่นที่ 8 ได้ลงไก่วันที่ 28 พฤษภาคม 2557 และจะปลดระวาง 30 เมษายน 2558 นี้ มีไก่พันธุ์จำนวน 200 ตัว โดยจะขายผ่านสหกรณ์ทั้งหมด โครงการนี้นอกจากส่งเสริมให้นักเรียนได้บริโภคไข่ไก่แล้วไข่ที่เหลือยังนำไปขายให้กับชุมชนในราคาที่ถูกกว่าท้องตลาดโดยขาย 90 บาทต่อแผง (3 บาท ต่อ 1 ฟอง) ทำให้ปัจจุบันโรงเรียนมีเงินกองทุนสะสมมากถึง 220,000บาท นอกจากนี้โรงเรียนยังได้รับรางวัลกิจกรรมปศุสัตว์ดีเด่น อันดับ 1 ระดับประเทศในปี 2555 ด้านการสร้างผลผลิตด้านการปศุสัตว์ เพื่อผลิตอาหารให้นักเรียนในโรงเรียนได้บริโภคครบทั้ง 5 หมู่ ตามเกณฑ์ชี้วัดของโครงการโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียนเป็นโครงการที่มูลนิธิพัฒนาชีวิตชนบทฯ ใช้รูปแบบบริหารเน้นการพึ่งตนเอง และซีพีเอฟได้นำความเชี่ยวชาญด้านการเลี้ยงไก่ไข่ที่บริษัทมีอยู่มาถ่ายทอดองค์ความรู้ในการเลี้ยงไก่ที่ถูกต้อง พร้อมสนับสนุนทุนก่อสร้างโรงเรือนและอุปกรณ์ มอบพันธุ์ไก่ไข่ อาหารสัตว์ และปัจจัยอื่นๆ สำหรับการเลี้ยงไก่ไข่ในรุ่นแรก และจัดส่งผู้เชี่ยวชาญของบริษัทเข้าไปดูแล ฝึกสอน และให้คำแนะนำแก่ครูและนักเรียนตลอดระยะเวลาการเลี้ยง ซึ่งภายหลังจาการเข้าร่วมโครงการนักเรียนจะได้เรียนรู้จากการปฏิบัติจริง ทั้งการผลิต การจัดการ และการตลาด ทำให้มีความรู้ความเข้าใจกระบวนการเลี้ยงไก่ไข่ติดตัวสามารถนำไปประกอบอาชีพได้ในอนาคต