สำหรับเป้าหมายและพื้นที่ในการดำเนินงานนั้น เป็นพื้นที่การเกษตรที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบแล้งซ้ำซาก จำนวน 58 จังหวัด 3,051 ตำบล แบ่งเป็นภาคเหนือ 17 จังหวัด ภาคกลาง 9 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด ภาคตะวันออก 6 จังหวัดและภาคใต้ 6 จังหวัด ซึ่งแนวทางการดำเนินงานโครงการฯ นั้น กลุ่มหรือองค์กรเกษตรกรสามารถเสนอกิจกรรมความต้องการผ่านคณะกรรมการชุมชน ที่มีศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบล (ศบกต.) เป็นองค์กรตัวแทนของชุมชนในการขอรับการสนับสนุนงบประมาณ และเป็นผู้เสนอโครงการต่อคณะกรรมการฯ ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับกระทรวง ซึ่งหากได้รับการอนุมัติโครงการฯ วงเงินที่ผ่านการอนุมัติจะโอนจัดสรรให้จังหวัดเข้าบัญชี ศบกต. และศบกต. จึงจะจัดสรรงบประมาณดำเนินงานเข้าบัญชีเงินฝากกลุ่ม/องค์กรตามแผนปฏิบัติการของโครงการฯ สำหรับงบประมาณการจ้างงาน จะโอนเข้าบัญชีเกษตรกรตามข้อตกลงการจ้างแรงงาน
สำหรับโครงการทางการเกษตร ที่จะได้รับการอนุมัติ มี 4 ลักษณะ ได้แก่
1. การจัดการแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรของชุมชน
2. การผลิตทางการเกษตรและการแปรรูปผลผลิตเกษตรเพื่อสร้างรายได้ในฤดูแล้ง
3. การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต
4. การจัดการเพื่อลดความสูญเสียผลผลิตเกษตร
ซึ่งกิจกรรมทั้ง 4 ลักษณะนี้ จะต้องมีการใช้แรงงานภาคการเกษตรไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ยกเว้นกรณีที่จำเป็นและมีเหตุผลที่สมควรต้องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 30 และต้องผ่านความเห็นชอบจาก คณะกรรมการกลั่นกรองโครงการระดับอำเภอ
โดยจังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ทางการเกษตรที่คาดว่าประสบภัยแล้งซ้ำซาก ใน 26 อำเภอ 195 ตำบล ขณะนี้ มีโครงการฯ ที่ผ่านคณะกรรมการชุมชน (ศบกต.) แล้ว และจังหวัดขอนแก่นสามารถผ่านการพิจารณาอนุมัติของคณะกรรมการบริหารโครงการระดับกระทรวง จำนวน 9 อำเภอ 9 ตำบล รวม 10 โครงการ แบ่งเป็น ลักษณะโครงการเพื่อจัดการแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรของชุมชน จำนวน 4 โครงการ, ลักษณะโครงการปรับปรุงพื้นฐานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต จำนวน 5 โครงการ, ลักษณะโครงการลดความสูญเสียผลผลิตเกษตร จำนวน 1 โครงการ วงเงินงบประมาณ ทั้งสิ้น 4,422,015 บาท
ด้านนายโอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า ขณะนี้ความคืบหน้าของโครงการสร้างรายได้ฯ (ข้อมูล ณ วันที่ 13 มีนาคม 2558) มีโครงการฯ ที่ผ่านคณะกรรมการชุมชน (ศบกต.) 2,811 ตำบล คิดเป็น 92.13% จากเป้าหมาย 3,051 ตำบล ทั้งนี้ได้เสนอคณะกรรมการบริหารโครงการระดับอำเภอ และจังหวัด ตามขั้นตอนอย่างรัดกุม และผ่านการพิจารณาโครงการฯ ระดับกระทรวงฯ แล้วจำนวน 707 โครงการ จาก 385 ตำบล ใน 43 จังหวัด เป็นเงินประมาณ 334 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นลักษณะโครงการเพื่อจัดการแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรของชุมชน 60% , ลักษณะโครงการปรับปรุงพื้นฐานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต 26 % ลักษณะการผลิตทางการเกษตรและการแปรรูปผลผลิตเกษตรเพื่อสร้างรายได้ในฤดูแล้ง 10% และลักษณะโครงการลดความสูญเสียผลผลิตเกษตร 4 %
“ขณะนี้สำนักงบประมาณได้อนุมัติงบประมาณก้อนแรกจำนวน 39.428 ล้านบาท และคาดว่าในวันจันทร์ที่ 16 มีนาคม 2558 จะสามารถอนุมัติเพิ่มเติมได้อีก 62.54 ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการที่ผ่านการพิจารณาระดับกระทรวง ครั้งที่ 1 แล้ว จำนวน 222 โครงการ 139 ตำบล 24 จังหวัด ส่วนการพิจารณาโครงการที่ผ่านการพิจารณาระดับกระทรวง ครั้งที่ 2 ในการประชุมเมื่อวันศุกร์ที่ 13 มีนาคม 2558 นั้น จำนวน 485 โครงการ 253 ตำบล 24 จังหวัด สำนักงบประมาณจะได้เร่งอนุมัติโดยเร็วต่อไป ทั้งนี้คาดว่า ภายในวันจันทร์ที่ 16 มีนาคม 2558 งบประมาณก้อนแรกของโครงการ ประมาณกว่า 100 ล้านบาท จะสามารถโอนจัดสรรลงสู่พื้นที่ที่เสนอโครงการมาก่อนได้” นายโอฬาร กล่าว