ทั้งนี้ ในส่วนของสัตว์ปีกไก่เนื้อ ไก่ไข่ ไก่พื้นเมือง และเป็ด ต้องระมัดระวังโรคระบาด เช่น โรคหลอดลมอักเสบ โรคอหิวาต์ โรคฝีดาษ โรคบิด และโรคที่เกิดจากสารพิษจากเชื้อราในอาหาร เนื่องจากสัตว์ปีกมักอ่อนแอง่ายกว่าปกติในสภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงระหว่างวันในฤดูร้อน เกษตรกรจึงควรให้การดูแลและสังเกตอาการสัตว์ปีกอย่างใกล้ชิด ให้วิตามินละลายน้ำเพื่อป้องกันสุขภาพสัตว์ก่อน และควรให้วัคซีนป้องกันโรคในสัตว์ปีกตามที่สัตวแพทย์กำหนด
น.สพ.สุเมธ กล่าวต่อไปว่า เกษตรกรต้องควบคุมการให้อาหารให้เหมาะสม อาจต้องให้อาหารบ่อยครั้งขึ้น เพื่อกระตุ้นการกินอาหาร ในกรณีที่พบสัตว์ป่วยหรือตายเกษตรกรต้องมีการกำจัดให้ถูกต้องตามมาตรฐาน ไม่นำไปชำแหละขายเพื่อบริโภค หรือทิ้งลงคูคลอง เพราะจะทำให้เชื้อโรคแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว
อีกปัจจัยที่ควรให้ความสำคัญ คือ การจัดการเรื่องการระบายอากาศ น้ำ อาหาร และความชื้นภายในโรงเรือน โดยเฉพาะวัสดุรองพื้นหรือแกลบ ที่ต้องดูแลวัสดุรองพื้นให้แห้งอยู่สม่ำเสมอ ให้คงระดับความชื้นที่เหมาะสมของวัสดุรองพื้นไว้ที่ไม่เกิน 40% หากพื้นเปียกชื้นมากต้องเปลี่ยนวัสดุรองพื้นทันที เพื่อให้สภาพสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม
ด้าน นายสัตวแพทย์ ปราโมทย์ ตาฬวัฒน์ นายกสมาคมสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มสุกรไทย กล่าวเสริมในส่วนของการเลี้ยงสุกรว่า อากาศร้อนแล้งจะส่งผลกระทบต่อการเลี้ยงสุกร โดยเฉพาะในช่วงกลางวันที่อากาศร้อนจัดแม้ว่าจะเลี้ยงสัตว์ในโรงเรือนแบบปิดที่สามารถปรับอากาศภายในโรงเรือนได้ก็ตาม แต่อุณหภูมิที่สูงนั้นทำให้ประสิทธิภาพในการปรับอากาศไม่ดีเท่าที่ควร ภายในโรงเรือนส่วนใหญ่จึงมีอากาศร้อนจัด ทำให้สุกรเกิดความเครียด แสดงอาการหอบ กินอาหารน้อยลง สุกรอาจเจ็บป่วยได้ง่ายขึ้น การกินอาหารลดลงจากมาตรฐาน ทำให้การเจริญเติบโตต่ำ สัตว์มีอัตราเสียหายสูงขึ้น ยิ่งในกรณีที่เกษตรกรที่เลี้ยงสุกรในโรงเรือนแบบเปิดโล่ง ยิ่งทำให้สุกรแสดงอาการดังกล่าวมากขึ้น ที่สำคัญในช่วงหน้าร้อนนี้เกษตรกรต้องระมัดระวังการเกิดโรคระบาดในสัตว์ เช่น โรคอหิวาต์ในสุกร โรคท้องเสียติดต่อ โรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ โรคดังที่กล่าวมาทั้งหมดหากมีการระบาดขึ้น จะสร้างความเสียหาย แก่ผลผลิตสุกรอย่างร้ายแรง
สำหรับในบางพื้นที่มีการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศระหว่างวันสูง อากาศร้อนสลับฝนตกและอากาศเย็นในช่วงเช้าตรู่และพลบค่ำ ทำให้สัตว์ต้องปรับสภาพร่างกายค่อนข้างมาก โดยเฉพาะสัตว์กีบคู่ทั้ง โค กระบือ เกษตรกรจึงต้องเฝ้าระวังเรื่องโรคติดต่อที่มักพบบ่อย คือ โรคปากและเท้าเปื่อย (Foot and Mouth Disease หรือ FMD) ซึ่งสัตว์ป่วยจะกินอาหารไม่ได้เพราะ มีเม็ดตุ่มที่ปาก รวมถึงในจมูกและกีบเท้า โดยโรคนี้มาจากหลายสาเหตุ ทั้งจากสัตว์พาหะนำเชื้อโรค อาทิ นก หนู สุนัข แมว ตลอดจนเชื้อที่ติดมากับบุคลากรที่เข้าออกฟาร์ม หรือติดมากับรถและอุปกรณ์ขนส่ง เกษตรกรควรระวังและป้องกันสาเหตุเหล่านี้อย่างเข้มงวด เบื้องต้นควรโรยปูนขาว (Calcium carbonate 4%) ที่สามารถปริมาณเชื้อไวรัส FMD ได้ ที่สำคัญต้องเน้นการให้วัคซีนตามโปรแกรมที่สัตวแพทย์กำหนด รวมทั้งการถ่ายพยาธิภายในและกำจัดพยาธิภายนอกเป็นประจำทุก 6 เดือน ซึ่งจะช่วยให้สัตว์มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง
สำหรับโรคในสุกรที่ควรต้องระวังเป็นพิเศษอีกโรคหนึ่ง คือ โรคพีอาร์อาร์เอส (PRRS) ที่ทำให้เกิดกลุ่มอาการทางระบบสืบพันธุ์และทางเดินหายใจ ซึ่งการระบาดจะเกิดได้ง่ายขึ้นและก่อความเสียหายมากขึ้นในช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลง เนื่องจากโรคนี้เชื้อสามารถแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว แต่ไม่มีการติดต่อถึงคน ในสุกรท้องแก่ที่ติดเชื้อจะพบอาการแท้ง หรือลูกตายแรกคลอด ลูกที่รอดจะอ่อนแอ โตช้า มีอัตราเสียหายเพิ่มขึ้นและเสียหายต่อเนื่องไปจนถึงช่วงสุกรจับออก โรคนี้มีสาเหตุจากเชื้อไวรัส PRRS จึงยังไม่มียารักษาโดยเฉพาะ ต้องทำการรักษาตามอาการป่วย
“ช่วงนี้เกษตรกรต้องให้ความสำคัญกับการปรับสภาพในโรงเรือนให้เหมาะสม อาจเพิ่มวิตามินละลายน้ำให้สุกร และจำกัดยานพาหนะและบุคลากรที่จะเข้าภายในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ โดยต้องผ่านการพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อทุกครั้ง หากพบสัตว์เจ็บป่วยผิดปกติควรรีบปรึกษาเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในทันที” น.สพ.ปราโมทย์ กล่าว
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit