ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะเกิดจากกระแสไฟฟ้าที่ทำหน้าที่ควบคุมกลไกการเต้นของหัวใจเกิดความผิดปกติ ระดับความรุนแรงของอาการมีตั้งแต่ระดับเบาซึ่งอาจไม่ได้ส่งผลร้ายต่อร่างกาย ไปจนถึงระดับรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของความผิดปกติ ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากภาวะความดันโลหิตสูง โรคต่อมไทรอยด์ทำงานมากกว่าปกติ และกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแอ ในเด็กพบสาเหตุหลักมาจาก ความผิดปกติทางพันธุกรรม ผู้ป่วยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะอาจไม่มีอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตหากได้รับการตรวจพบ และทำการรักษาอย่างทันท่วงที ปัญหาคือคนส่วนใหญ่ในปัจจุบันมักไม่ทราบว่าตัวเองมีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะเพราะการตรวจโดยทั่วไปจะไม่สามารถตรวจจับความผิดปกติของจังหวะการเต้นของหัวใจได้ กว่าที่ผู้ป่วยจะรู้ตัว อาการก็อาจจะรุนแรงจนไม่สามารถรักษาได้
นายแพทย์กุลวี เนตรมณี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยหัวใจเต้นผิดจังหวะ แปซิฟิค ริม ในนครลอสแองเจลิส และผู้เชี่ยวชาญด้านสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ ศูนย์หัวใจเต้นผิดจังหวะ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการขึ้นภายใต้หัวข้อเรื่อง “เทคนิคการจี้ไฟฟ้าหัวใจรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะในโรคไหลตายและโรคหัวใจส่วนบนเต้นผิดจังหวะแบบเต้นพลิ้ว” โดยได้เชิญทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหัวใจจากสถาบันหัวใจชื่อดังทั่วโลกมาร่วมบรรยาย และแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในการรักษาผู้ป่วย ในการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ EP Studyและ CFAE ablation เป็นเรื่องที่ถูกยกขึ้นมาเป็นหัวข้อเรื่องสำคัญที่น่าสนใจ
EP Study and electroanatomical mapping และ CFAE ablation หรือการจี้ทำลายคลื่นไฟฟ้าหัวใจซับซ้อนในหัวใจห้องบน เป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัย ซึ่งทางโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์นำเข้ามาเพื่อใช้ในการวินิจฉัยและรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ จุดเด่นของเทคโนโลยี EP study and electroanatomical mapping คือ การจำลองภาพ 3 มิติของหัวใจคนไข้เพื่อให้แพทย์สามารถมองเห็นการทำงานของกระแสไฟฟ้าในหัวใจได้อย่างชัดเจน ซึ่งช่วยให้การจี้คลื่นไฟฟ้ามีความแม่นยำมากขึ้น บริเวณหัวใจที่แพทย์ได้ทำการจี้คลื่นไฟฟ้าไปแล้ว จะถูกกำหนดจุดสีไว้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการจี้ซ้ำบริเวณเดิม เทคโนโลยีดังกล่าวนี้ช่วยให้การรักษาผู้ป่วยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะมีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งยังสามารถลดความเสี่ยงในการรักษา และผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวได้เร็วขึ้น
ในระหว่างการประชุมเชิงปฏิบัติการ นายแพทย์กุลวี ได้ทำการสาธิตวิธีการรักษาผู้ป่วยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ 2 ราย ซึ่งการรักษาของผู้ป่วยทั้ง 2 รายผ่านไปด้วยดี ปัจจัยสำคัญของความสำเร็จไม่ได้ขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีที่ใช้ในการทำการรักษาเพียงอย่างเดียว หากแต่ความรู้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์แพทย์ผู้ทำการรักษาของแพทย์นั้นก็มีความสำคัญเป็นอย่างมากเช่นกัน
ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวลหากมีผู้ป่วยตรวจพบอาการและทำการรักษาอย่างทันท่วงที เทคโนโลยีและเทคนิคการรักษาที่ได้รับการพัฒนาในปัจจุบันสามารถช่วยให้ผู้ป่วยมีทางเลือกในการรักษาภาวะดังกล่าวมากขึ้น ข้อสำคัญที่คุณต้องพึงระวัง นั่นคือ หากคุณพบสัญญาณของภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะเกิดขึ้น ควรรีบเข้ารับคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจเพื่อทำการรักษาโดยทันที
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit