สคร.7 เตือนหน้าร้อนเสี่ยงท้องร่วง

12 Mar 2015
สคร.7 เตือนหน้าร้อนเสี่ยงท้องร่วง โดยเฉพาะอาหารงานบุญ แนะยึดหลักปฏิบัติ "กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ”เพื่อป้องกัน
สคร.7 เตือนหน้าร้อนเสี่ยงท้องร่วง

นพ.ศรายุธ อุตตมางคพงศ์ ผู้อำนวยสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 (สคร.7) เปิดเผยว่า ในช่วงฤดูร้อนมักจะพบการระบาดของโรคติดต่อทางอาหารและน้ำที่สำคัญ 6 โรค ได้แก่ อหิวาตกโรค อาหารเป็นพิษ อุจจาระร่วง ไทฟอยด์ บิด และไวรัสตับอักเสบ เอ เนื่องจากอุณหภูมิที่สูงในช่วงหน้าร้อน ทำให้เชื้อจุลินทรีย์ที่อยู่ในอาหารเจริญเติมโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะช่วงนี้เป็นช่วงเทศกาลงานบุญจะมีการทำอาหารเพื่อแจกจ่ายคนในงาน ซึ่งเมนูอาหารที่ต้องใส่ใจเป็นพิเศษ ได้แก่ อาหารที่ปรุงด้วยกะทิ ขนมจีนอาหารทะเลสด อาหารปรุงสุก ๆ ดิบ ๆ อาหารถุง ส้มตำ อาหารค้างมื้อ หากผู้ปรุงอาหารปรุงอาหารปริมาณมาก หรือภาชนะใส่อาหารไม่สะอาดเพียงพอ ทำอาหารล่วงหน้าก่อนถึงเวลารับประทาน อาหารอาจบูดเสีย มีกลิ่นหรือรสชาติเปลี่ยน ทำให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษหรือโรคอุจจาระร่วงได้

นพ.ศรายุธ กล่าวต่อว่า จากการเฝ้าระวังสถานการณ์โรคอุจจาระร่วงอย่างแรงของกลุ่มระบาดวิทยา ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 28 ก.พ.2558 พบรายงานผู้ป่วยในพื้นที่รับผิดชอบ 7 จังหวัด แล้วทั้งสิ้น 3,526 ราย จังหวัดที่พบผู้ป่วยมากที่สุด คือ จ.อุบลราชธานี รายงานผู้ป่วย 1,078 ราย รองลงมา คือ จ.ศรีสะเกษ 964 ราย ขอให้ประชาชนยึดหลักปฏิบัติในชีวิตประจำวันง่ายๆ เพื่อป้องกันโรคอาหารเป็นพิษ โรคอุจจาระร่วง และโรคติดต่อทางอาหารและน้ำอื่นๆ คือ "กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” ประกอบด้วย 1.กินร้อน โดยรับประทานอาหารที่ปรุงสุกและปรุงเสร็จใหม่ๆ หากเป็นอาหารค้างมื้อควรอุ่นให้ร้อนหรือเดือดก่อนรับประทาน 2.ใช้ช้อนกลาง ตักอาหารขณะกินอาหารร่วมวงกับผู้อื่น 3. ล้างมือ ด้วยน้ำและสบู่ทุกครั้ง หลังจากใช้ห้องส้วม ก่อนปรุงและรับประทานอาหาร รวมถึงก่อนเตรียมนมให้เด็กทุกครั้ง

สำหรับอาการป่วยของโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ อาการของผู้ป่วยจะคล้ายๆกัน มักถ่ายอุจจาระเหลวเป็นน้ำหรือมีมูก ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน ในการดูแลผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงทั่วๆ ไป ขอให้รับประทานอาหารตามปกติ ไม่ควรงดอาหาร เพื่อให้มีสารอาหารที่จำเป็นไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆในร่างกาย และควรเป็นอาหารอ่อน ย่อยง่าย เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก แกงจืดและให้ดื่มผงน้ำตาลเกลือแร่โออาร์เอส แทนน้ำ หากอาการไม่ดีขึ้น ยังถ่ายบ่อย อาเจียน รับประทานอาหารไม่ได้ กระหายน้ำมากกว่าปกติ มีไข้สูง หรือถ่ายอุจจาระเป็นมูกปนเลือด ให้รีบไปพบเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหรือแพทย์ทันที หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422" น.พ.ศรายุธ กล่าวปิดท้าย

HTML::image(