บริษัทวีนิไทยมีสถานะทางธุรกิจที่เข้มแข็งโดยบริษัทเป็นหนึ่งในผู้ผลิตและจำหน่าย PVC จำนวน 2 รายในประเทศไทย ผู้ถือหุ้นหลักของบริษัท ได้แก่ Solvay และ PTTGC โดย Solvay ให้ความช่วยเหลือด้านเทคโนโลยีและการจำหน่ายสินค้าในตลาดต่างประเทศ ในขณะที่ PTTGC เป็นผู้จัดหาเอธิลีน (Ethylene) บริษัทมีโรงงานผลิต PVC ที่มีกระบวนการผลิตครบวงจรตั้งแต่กระบวนการแยกสารละลายด้วยไฟฟ้า (electrolysis) ของน้ำเกลือจนถึงกระบวนการพอลิเมอไรเซชันของ PVC ซึ่งทำให้บริษัทมีอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานที่สูงกว่าคู่แข่ง ณ เดือนธันวามคม 2557 บริษัทมีกำลังการผลิต PVC ที่ระดับ 280,000 เมตริกตันต่อปี โซดาไฟที่ระดับ 366,000 เมตริกตันต่อปี ไวนิล คลอไรด์ โมโนเมอร์ (Vinyl Chloride Monomer -- VCM) ที่ระดับ 400,000 เมตริกตันต่อปี และ ECH ที่ระดับ 100,000 เมตริกตันต่อปี โดยโซดาไฟและคลอรีนที่ผลิตได้ส่วนหนึ่งนำไปใช้ในการผลิต ECH และ PVC ของบริษัท ธุรกิจของบริษัทมีความเสี่ยงจากความผันผวนของ Spread ระหว่างผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีและวัตถุดิบ ตลอดจนการแข่งขันระหว่าง PVC ที่ผลิตจากเอทิลีนและ PVC ที่ผลิตจากถ่านหิน โดยที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของ Spread อาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อกำไรและกระแสเงินสดของบริษัท ในขณะที่การขึ้นราคาของสินค้า PVC นั้นถูกจำกัดด้วยสินค้า PVC ที่ผลิตจากต้นทุนที่ถูกกว่าถึงแม้ว่าบริษัทจะมีผลประกอบการที่อ่อนแอลงในช่วงปีที่ผ่านมา แต่สถานะทางการเงินของบริษัทยังคงแข็งแกร่งเพียงพอที่จะดำรงสถานะอันดับเครดิตในปัจจุบันเอาไว้ได้ ทั้งนี้ ความแข็งแกร่งทางการเงินของบริษัทได้รับอานิสงค์จากการมีภาระหนี้สินที่ต่ำและกระแสเงินสดที่เพียงพอซึ่งจะช่วยให้บริษัทสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ในช่วงธุรกิจขาลง
ในปี 2557 ผลประกอบการของบริษัทยังคงอ่อนแอถึงแม้ว่าจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายก็ตาม อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (อัตรากำไร) อยู่ที่ 9.1% เปรียบเทียบกับ 8.8% ในปี 2556 อัตรากำไรในระดับต่ำสะท้อนถึงการลดลงของ Spread ของสินค้า PVC และ ธุรกิจ ECH ที่ยังไม่มีกำไร
Spread ของสินค้า PVC มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2557 หลังจากราคาของเอทิลีนปรับลดลงอย่างมากตามราคาของน้ำมันดิบในเดือนกันยายน 2557 ราคาของเอทิลีนลดลงจากที่เคยสูงกว่า 1,400 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันมาอยู่ที่ประมาณ 1,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2557 ในขณะเดียวกัน ราคาของสินค้า PVC ก็ปรับตัวอ่อนลงเช่นกันแต่ลดลงช้ากว่าราคาของเอทิลีน ส่งผลทำให้ Spread ของสินค้า PVC นั้นกว้างขึ้น ซึ่งทำให้กำไรของบริษัทปรับสูงขึ้นและช่วยลดการแข่งขันจาก PVC ที่ผลิตจากถ่านหินลง อัตรากำไรของบริษัทในไตรมาสที่ 4 ของปี 2557 เพิ่มขึ้นเป็น 11.1% จาก 7.4% ในไตรมาสที่ 3
โครงสร้างทางการเงินของบริษัทยังคงแข็งแกร่งมากและใช้เป็นเงินสำรองได้เป็นอย่างดี ณ เดือนธันวาคม 2557 โครงสร้างหนี้ของบริษัทปรับตัวดีขึ้น โดยอัตราหนี้สิ้นต่อโครงสร้างเงินทุนเท่ากับ 16.6% ลดลงจาก 17.5% ณ สิ้นปี 2556 บริษัทได้ดำเนินการชำระหนี้ล่วงหน้าในระหว่างปี 2556 และ 2557 ซึ่งเป็นการช่วยลดภาระหนี้สิ้นและเพิ่มความยืดหยุ่นทางการเงินให้แก่บริษัท ภาระหนี้สินทั้งหมดของบริษัทลดลงเหลือ 3,000 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2557 จากระดับสูงสุดที่ 4,179 ล้านบาทในเดือนกันยายน 2556 อัตราหนี้สิ้นต่อโครงสร้างเงินทุนคาดว่าจะไม่เพิ่มขึ้นเนื่องจากโครงการ ECH ถูกระงับและคาดว่าบริษัทจะยังไม่มีการลงทุนขนาดใหญ่ในปีหน้า บริษัทอาจจะชำระหนี้ล่วงหน้าอีกครั้งในปี 2558 ซึ่งจะทำให้การผ่อนชำระเงินกู้ยืมในปี 2559 ลดลง
สภาพคล่องของบริษัทถือว่ายังคงเพียงพอเนื่องจากบริษัทมีการสำรองเงินสดในปริมาณที่ค่อนข้างสูงและกระแสเงินสดยังอยู่ในเกณฑ์ดี บริษัทมีอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงาน (FFO) ต่อเงินกู้รวมเท่ากับ 53.3% ในปี 2557 และมีอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ต่อดอกเบี้ยจ่ายเท่ากับ 10.8 เท่า ทั้งนี้ คาดว่าบริษัทจะมี EBITDA มากกว่า 1,500 ล้านบาทต่อปีตลอดช่วง 3 ปีข้างหน้าบริษัท วีนิไทย จำกัด (มหาชน) (VNT)อันดับเครดิตองค์กร: A-แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit