ร่างพระราชบัญญัติสิทธิชุมชนฉบับนี้ได้รับรองสิทธิชุมชน ชุมชนท้องถิ่นและชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๖๖ และ ๖๗ แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ เช่น สิทธิในการอนุรักษ์หรือฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นและของชาติ สิทธิในการจัดการหรือมีส่วนร่วมในการจัดการ การบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สิทธิที่จะได้รับการคุ้มครอง ส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมเพื่อให้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี สิทธิในการฟ้องหน่วยงานของรัฐหรือองค์กรอื่นของรัฐ เป็นต้น
บทบัญญัติที่สำคัญประการหนึ่งของร่างพระราชบัญญัติสิทธิชุมชน พ.ศ....ฉบับนี้คือการกำหนดเหตุยกเว้นความรับผิดตามกฎหมายที่มีโทษทางอาญาในกรณีที่ชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในชุมชนมายาวนานตามวิถีและประเพณีของชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมนั้นๆ โดยชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมมีหน้าที่พิสูจน์ว่าได้ใช้ทรัพยากรดังกล่าวในขอบเขตหรือจารีตประเพณีท้องถิ่นดั้งเดิม
สำหรับในกรณีที่หน่วยงานของรัฐจะดำเนินการใดๆ อันมีผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย คุณภาพชีวิตของชุมชน หน่วยงานของรัฐมีหน้าที่ต้องทำคำชี้แจงและเหตุผลก่อนการดำเนินการโดยให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในชุมชน ชุมชนท้องถิ่นหรือชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมประกอบการพิจารณาดำเนินการดังกล่าวและต้องกำหนดมาตรการเยียวยาผลกระทบที่เกิดหรืออาจเกิดจากการดำเนินการด้วย โดยคปก.เสนอแนะให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเข้ามาทำหน้าที่ในการติดตาม ตรวจสอบการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้จัดทำรายงานดังกล่าวเสนอต่อคณะรัฐมนตรี รัฐสภา โดยจะต้องเผยแพร่ผลการติดตามตรวจสอบดังกล่าวต่อสาธารณชน
นอกจากนี้ คปก.เสนอให้นำวิธีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทซึ่งเป็นกระบวนการยุติธรรมทางเลือกมาใช้ระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นระหว่างชุมชนกับชุมชน ชุมชนกับบุคคล และชุมชนกับหน่วยงานรัฐ ก่อนการฟ้องร้องข้อพิพาทเป็นคดีขึ้นสู่ศาลซึ่งจะช่วยให้การระงับข้อพิพาทเป็นไปอย่างสะดวก รวดเร็ว ประหยัดค่าใช้จ่าย โดยการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทดังกล่าวต้องอยู่ภายใต้หลักสิทธิมนุษยชนและความเป็นกลางทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติสิทธิชุมชนฉบับนี้ยังได้กำหนดให้มีคณะกรรมการวินิจฉัยสิทธิชุมชนทำหน้าที่วินิจฉัยตีความบทบัญญัติตามพระราชบัญญัตินี้ รวมถึงให้คำปรึกษาแก่หน่วยงานรัฐเกี่ยวกับการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติสิทธิชุมชน
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit