โดยตลาดพีซีในไทยนั้นได้ขยายตัวอย่างต่อเนื่องจนถึงจุดอิ่มตัวในปี 2555 ก่อนที่อุปกรณ์เกิดใหม่อย่างแท็บเล็ตและสมาร์ทโฟนจะก้าวขึ้นมาแย่งส่วนแบ่งตลาดไปตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมาและในปีที่แล้วนั้น ปัญหาด้านการเมืองที่นำไปสู่การทำรัฐประหาร และปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศได้ทำให้ตลาดปรับตัวต่ำลงอย่างต่อเนื่องอีก
นายจาริตร์ สิทธุ นักวิเคราะห์อาวุโส สายงานศึกษาตลาดไคลเอนต์ดีไวซ์ ประจำไอดีซีประเทศไทย ได้ระบุว่า “เราได้เริ่มเห็นปัจจัยลบตั้งแต่ช่วงต้นปี 2557 แล้ว จากการประท้วงต่อต้านรัฐบาลครั้งใหญ่ ซึ่งส่งผลกระทบทำให้การใช้จ่ายของผู้บริโภคและการลงทุนภาคเอกชนชะงักไป และความไม่แน่นอนทางการเมืองยังส่งผลต่อการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐอีกด้วย นั่นทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัด”
“รัฐประหารในช่วงกลางปีอาจจะสร้างเสถียรภาพทางการเมืองในระยะสั้นได้ก็จริง แต่เมื่อถึงตอนนั้นปัญหาที่สะสมมาตั้งแต่ต้นปีก็ได้ส่งผลลบต่อสภาพเศรษฐกิจโดยรวมแล้ว โดยมีหลายต่อหลายปัจจัยที่ทำให้การใช้จ่ายและการลงทุนลดลง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาหนี้ภาคครัวเรือน การปรับตัวลงของการส่งออก หรือภาคการท่องเที่ยวที่ซบเซาลงหลังจากการประกาศกฏอัยการศึก”
ในปี 2557 นั้น ผู้บริโภคในประเทศไทยลดการซื้อคอมพิวเตอร์เดสก์ท๊อปลง 13% เมื่อเทียบกับปี 2556 ส่วนคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊คหดตัวลงรุนแรงกว่าที่ระดับ 17% ถึงแม้ผู้ขายจะพยายามผลักดันสินค้าประเภทโน๊ตบุ๊คแบบบางเบาออกมากระตุ้นตลาดก็ตาม องค์กรภาครัฐนั้นปรับลดการลงทุนซื้อคอมพิวเตอร์ลงเกือบ 45% แต่ภาคเอกชนนั้นปรับลดการลงทุนลง 11% เนื่องจากบริษัทใหญ่ๆ ทั้งในภาคการเงิน การผลิตและสาธารณะสุขยังคงลงทุนซื้อพีซีในระดับสูงอยู่ ซึ่งช่วยชดเชยการลดลงของการลงทุนจากบริษัทขนาดเล็กได้บางส่วน
จาริตร์สรุปถึงสภาพตลาดพีซีในไทยว่า “ยอดขายพีซีในปี 2557 ถือได้ว่าต่ำที่สุดในรอบ 7 ปี และเราคาดว่าใรปี 2558 นี้ตลาดจะยังคงซบเซาอย่างต่อเนื่อง เราอาจจะได้เห็นสัญญาณในแง่บวกจากภาคธุรกิจและภาครัฐเล็กน้อย แต่สำหรับผู้บริโภคนั้น โอกาสที่การจับจ่ายซื้อพีซีจะฟื้นตัวขึ้นในปีนี้นั้นคงเป็นไปได้ยาก”
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit