จากสถิติเมื่อปี พ.ศ. 2555 พบว่ามีกลุ่มชายรักชายไทยที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครอัตราเฉลี่ย 1 ใน 3 ติดเชื้อเอชไอวี และคาดว่าอีกไม่กี่ปีข้างหน้าจะมีผู้ติดเชื้อใหม่ในกลุ่มนี้เพิ่มขึ้น อาจทำให้อัตราการติดเชื้อเพิ่มขึ้นสูงถึงร้อยละ 54 ด้วยเหตุนี้ ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย จึงสานต่อปฏิบัติการเชิงรุก ด้วยการเปิดตัวบริการใหม่ล่าสุด “เพร็พ-30” หรือการจ่ายยาต้านไวรัสเพื่อป้องกัน “ก่อน” การสัมผัสเชื้อเอชไอวี หรือที่เรียกว่า "เพร็พ" ให้กับชาวไทยและชาวต่างประเทศ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโปรแกรมป้องกันเอชไอวีที่ประกอบด้วยการให้คำปรึกษา การตรวจเอชไอวี ตรวจไวรัสตับอักเสบบี และตรวจการทำงานของไต ตลอดจนให้คำแนะนำด้านการใช้ถุงยางอนามัยและสารหล่อลื่น ด้วยค่าบริการเพียง 30 บาทต่อวัน โดย “เพร็พ” ยังได้รับการรับรองจากกระทรวงสาธารณสุข และได้รับการพิสูจน์ทางคลินิกแล้วว่า สามารถลดความเสี่ยงของการติดเชื้อเอชไอวีได้มากถึง 90% เมื่อรับประทานอย่างต่อเนื่องทุกวัน
ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์ ประพันธ์ ภานุภาค ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทยกล่าวว่า “เพร็พ คือวิธีการป้องกันเอชไอวีที่มีประสิทธิภาพ และควรใช้ควบคู่กับการใช้ถุงยางอนามัย เพื่อลดอัตราความเสี่ยงของการติดเชื้อเอชไอวีลงให้ได้มากที่สุด อย่างไรก็ตาม เพร็พ ก็ไม่ได้มาทดแทนการใช้ถุงยางอนามัย และไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ได้”
อดัมส์เลิฟ ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนแมคเอดส์ฟันด์ (M.A.C. AIDS Fund) โดยมีแผนที่จะประชาสัมพันธ์บริการ “เพร็พ-30” ไปทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก่อนช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่กำลังจะมาถึงในเดือนเมษายนนี้ให้กับชายรักชาย ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ที่วางแผนจะมาเที่ยวเทศกาลสงกรานต์และอาจมีพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี โดยทางอดัมส์เลิฟได้เตรียมพร้อมให้บริการคำปรึกษาออนไลน์ และความช่วยเหลือสำหรับผู้ที่ต้องการมารับบริการเพร็พ ทางเว็บไซต์ www.adamslove.org ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่ได้รับความนิยมอย่างสูงจากเกย์ทั่วโลก ในฐานะแหล่งข้อมูลด้านเอชไอวีที่น่าเชื่อถือมากที่สุด โดยตั้งแต่เปิดตัวมาเมื่อเดือนกันยายน 2554 เว็บไซต์มียอดผู้เข้าชมกว่า 1.3 ล้านคนจากทั่วโลก มีการคลิกดูข้อมูลรวมกว่า 149 ล้านครั้ง รวมทั้งมีคนที่เปิดอ่านถึง 11 ล้านหน้า นอกจากนี้ ยังได้รับทุนสนับสนุนจากองค์กรวิฟ เฮลท์แคร์ (ViiV Healthcare) และมูลนิธิเพื่อการวิจัยด้านโรคเอดส์แห่งสหรัฐอเมริกา (amfAR) ในการขยายโครงการไปยังประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซีย ภายใต้ชื่อ “TemanTeman.org” เพื่อช่วยหยุดการแพร่กระจายของเอชไอวี และโรคเอดส์ในภูมิภาคนี้ และมีเป้าหมายที่จะขยายไปยังไต้หวันภายในสิ้นปี 2558 อีกด้วยแหล่งข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้ “PREP” ในประเทศไทยhttp://www.cdc.gov/nchhstp/newsroom/docs/PrEP-IDU-factsheet-508.pdfhttp://www.fda.gov/NewsEvents/Newsroom/PressAnnouncements/ucm312210.htmhttp://www.cdc.gov/hiv/pdf/PrEPguidelines2014.pdfhttp://www.amfar.org/articles/in-the-lab/2013/thai-study-demonstrates-reduced-risk-of-hiv-infection-in-injection-drug-users-taking-prep/
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit