คปก.จับมือกท.พาณิชย์เดินหน้าเตรียมความพร้อมรองรับกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ

23 Mar 2015
เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ จัดสัมมนา “เตรียมพร้อม...รองรับกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ” ณ ห้องประชุม 30404 สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยมีพลเอกปัฐมพงศ์ ประถมภัฏ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้กล่าวเปิดงาน

พลเอกปัฐมพงศ์ กล่าวว่า “กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจที่จะเกิดมีขึ้นนี้จะช่วยลดปัญหาการกู้ยืมเงินนอกระบบ และปัญหากิจการขนาดย่อมเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนได้เป็นอย่างมาก โดยจะเป็นตัวช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจกับนานาประเทศ แต่จะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นสถาบันการเงิน องค์กรธุรกิจ ภาคเอกชนรวมถึงภาครัฐที่ถือเป็นภาคส่วนที่สำคัญที่สุดในการเตรียมความพร้อมในการเป็นผู้ให้บริการ การสัมมนาในครั้งนี้นับเป็นโอกาสอันดีที่จะสร้างความเข้าใจหลักการของกฎหมายฉบับนี้ร่วมกัน”

ศาสตราจารย์ ดร. กำชัย จงจักรพันธ์ กรรมการปฏิรูปกฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) กล่าวบรรยายความเป็นมาและสาระสำคัญของ “ร่างพระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ....” ว่า หลังจากเหตุการณ์วิกฤตเศรษฐกิจในประเทศไทยปีพ.ศ.2540 เป็นต้นมา ทุกภาคส่วนเกิดข้อสรุปร่วมกันว่า ปัญหาใหญ่ประการหนึ่งของประเทศไทยคือการเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการโดยเฉพาะ ภาคธุรกิจรายย่อยที่ไม่สามารถกู้เงินจากธนาคารได้ ธุรกิจจึงไม่สามารถดำเนินการได้ทำให้ขยายกิจการไม่ได้ ส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศไม่พัฒนา เนื่องจากการลงทุนเป็นหนึ่งในเครื่องจักรที่สำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจหมุนไปได้อย่างรวดเร็ว และปัจจัยที่สำคัญของการลงทุนก็คือ การเข้าถึงแหล่งเงินทุนนั่นเอง และเมื่อการเข้าถึงแหล่งเงินกู้จากธนาคารซึ่งเป็นสถาบันการเงินในระบบเป็นเรื่องยาก ปัญหาสำคัญที่ตามมาคือการกู้เงินนอกระบบ

***ร่างพรบ.หลักประกันทางธุรกิจ...เครื่องมือใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

รัฐบาลหลายสมัยมีความพยายามที่จะแก้ปัญหาการเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการมาโดยตลอด แต่ติดปัญหาที่สำคัญคือระบบกฎหมายไทยที่ล้าสมัย เนื่องจากระบบกฎหมายไทยมีข้อจำกัดเรื่องระบบหลักประกันด้วยทรัพย์ที่มีลักษณะเป็น Fixed Charge จำกัดเพียงวิธีจำนอง-จำนำ ทรัพย์ที่สามารถจำนองได้ต้องเป็นอสังหาริมทรัพย์เป็นส่วนใหญ่ ส่วนการจำนำ ลูกหนี้ต้องเอาทรัพย์สินที่จำนำมอบให้เจ้าหนี้ ซึ่งเป็นวิธีที่ขัดต่อระบบธุรกิจ แตกต่างจากทรัพย์สินที่สามารถใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจได้ตามกฎหมายฉบับนี้เช่น เงินฝาก สิทธิการเช่า สิทธิการได้รับชำระเงิน สิทธิการได้รับชำระหนี้ ทรัพย์สินทางปัญญา สินค้าคงคลัง รวมถึงกิจการต่างๆ อันเป็นลักษณะของทรัพย์สินที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ และมีลักษณะเป็นหลักประกันแบบลอย (Floating Charge)

***ความสำเร็จของกฎหมายฉบับนี้ได้รับการพิสูจน์มาแล้วทั่วโลก

ศาตราจารย์ ดร. กำชัย จงจักรพันธ์ กล่าวว่า ร้อยละ 80 ของภาคอุตสาหกรรมเป็นธุรกิจ SMEs หรือธุรกิจขนาดย่อม เมื่อ SMEs แข็งแรง เศรษฐกิจของประเทศก็แข็งแรง กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจจึงเป็นหัวใจสำคัญในการทำให้เศรษฐกิจของประเทศเจริญขึ้น

***กฎหมายว่าด้วยหลักประกันทางธุรกิจเป็นคำตอบสุดท้าย

กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจมีความเกี่ยวข้องกับหนี้ในระบบ และเป็นรูปแบบของหนี้ทางการค้า ไม่เกี่ยวข้องกับหนี้ครัวเรือนหรือหนี้ส่วนบุคคล อีกทั้งยังเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาหนี้นอกระบบ หลักประกันทางธุรกิจโดยหลักจะต้องมีการจดทะเบียนเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลการจดทะเบียนทรัพย์สินที่นำมาใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจนี้ได้ ระบบการจดทะเบียนต้องสามารถตรวจสอบข้อมูลที่จดทะเบียนได้โดยสะดวกรวดเร็ว ประหยัด นอกจากนี้ ระบบทะเบียนหลักประกันควรจะประสานกับระบบทะเบียนสิทธิอื่นๆ ด้วยด้านนายชัยณรงค์ โชไชย รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาการพาณิชย์ กล่าวว่า กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้มีการเตรียมความพร้อมในด้านโครงสร้างและองค์กร กฎหมาย การกำหนดหลักเกณฑ์ ขั้นตอนและวิธีการจดทะเบียน รวมถึงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อรองรับการปฏิบัติตามกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ

ทั้งนี้ ระบบการจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจนั้นเป็นลักษณะของการ “จดแจ้ง” กล่าวคือ นายทะเบียนมีหน้าที่รับผิดชอบความครบถ้วนของรายการจดทะเบียนเท่านั้น แต่ประชาชนที่มาจดทะเบียนจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบความถูกต้องในรายละเอียดของข้อมูลการจดทะเบียน

ศาสตราจารย์ ดร.กำชัย จงจักรพันธ์ กล่าวเน้นย้ำว่า กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจนั้นเป็นเครื่องมือใหม่ที่ไม่ได้ยกเลิกเครื่องมือทางกฎหมายที่มีอยู่เดิม แต่เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะทำให้ผู้ประกอบกิจการรายย่อยมีโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพิ่มมากยิ่งขึ้น คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายได้ศึกษาค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจมาอย่างยาวนาน และได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนอย่างกว้างขวางและทั่วถึง เพื่อให้กฎหมายเกิดความรอบคอบสมบูรณ์มากที่สุด ซึ่งกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจนี้จะเป็นประโยชน์กับทุกคนอย่างแน่นอน เนื่องจากจะช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศเกิดการขยายตัว ส่งเสริมการจ้างงานและธุรกิจการส่งออก และสร้างความแข็งแกร่งให้กับผู้ประกอบการภาคเอกชนและธุรกิจเตรียมพร้อมสู่การแข่งขันในตลาดอาเซียน