เมื่อกล่าวถึงกระแสความนิยมของอุปกรณ์สวมใส่อิเล็กทรอนิกส์ หรือ Wearable devices (หรืออีกชื่อหนึ่งว่ากลุ่ม Smart gadgets) ในตลาดเทคโนโลยีของประเทศไทยนั้น จะเริ่มมีผลิตภัณฑ์ลงตลาดให้เลือกตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา ไม่ว่าจะเป็นสายรัดข้อมืออัจฉริยะ (Smart wristband) อุปกรณ์ติดตามส่วนบุคคล หรืออุปกรณ์เสริมในการช่วยเก็บข้อมูลเชิงสถิติของผู้ใช้งาน แต่สินค้ากลุ่มนี้ในอดีตกลับมีการเติบโตแบบไร้ทิศทางในขณะที่บางรายกลับหายไปจากตลาดเช่นกัน แต่ในปี 2558 นี้ นักวิเคราะห์อุตสาหกรรมเชื่อว่า อุปกรณ์สวมใส่อิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวจะกลับมานิยมและเป็นที่รู้จักในตลาดมากขึ้น สามารถจุดกระแสการใช้งานเชิงประยุกต์ ต่อยอดจากผู้ใช้งานในกลุ่มผู้บริโภคทั่วไปที่มีความคล่องตัวสูงในการใช้สมาร์ทดีไวซ์ประเภทต่าง ๆ และยังสร้างมูลค่าเพิ่มในเชิงธุรกิจกับกลุ่มลูกค้าองค์กรได้อย่างแท้จริง ในขณะเดียวกันผู้ผลิตเองต่างทยอยนำเสนอเทคโนโลยีและเซ็นเซอร์ที่ทันสมัยเข้าไปในอุปกรณ์พกพาประเภทดังกล่าวออกสู่ตลาดอย่างทันท่วงที แม้ว่าการจัดประเภท หมวดหมู่และความต้องการของอุปกรณ์เหล่านี้ยังไม่เด่นชัดเหมือนกับตลาดในต่างประเทศที่ตลาดมีการแบ่งหมวดหมู่ไว้ค่อนข้างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม Smartwatch กลุ่มอุปกรณ์สวมใส่อิเล็กทรอนิกส์เพื่อประโยชน์เฉพาะด้าน อาทิ Sport Fitness and Healthcare หรือกลุ่ม Security and defense (อาทิ ข้อมือหรือกำไลข้อเท้าอิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว) ก็ตาม แต่ก็นับเป็นหนึ่งในกลุ่มสินค้าที่สามารถเพิ่มมูลค่าในระดับทุติยภูมิต่อเนื่องที่เป็นผลจากการเติบโตของสมาร์ทดีไวซ์ (Smartphones และ Tablets) ในประเทศไทย ที่มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยที่ไม่เคยต่ำกว่าร้อยละ 35 ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมาถึงปัจจุบัน
เอ็มเคเอส หรือ มัคคานซิส (MKS) ได้จัดให้อุปกรณ์สวมใส่อิเล็กทรอนิกส์หรือ Wearable devices เป็น 1 ใน 5 แนวโน้มทางเทคโนโลยีที่ส่งผลต่อการเติบโตและพัฒนาการด้านการดำเนินธุรกิจไอซีทีของประเทศไทย (ICT Business Trends) จากการคาดการณ์มูลค่าตลาดของอุปกรณ์สวมใส่อิเล็กทรอนิกส์ในปี2558 นี้ (ของทุกประเภทแต่ไม่นับกลุ่ม Security and defense) จะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 650 ล้านบาท และสามารถเติบโตได้สูงถึง 950 ล้านบาทเมื่อผนวกเข้ากับมูลค่าเพิ่มที่เกิดจากโซลูชั่นที่เกี่ยวข้องในเชิงธุรกิจ ซึ่งในปี 2558 นี้ กระแสความนิยมจะเกิดขึ้นในลักษณะหัวกลับคือความนิยมและการเข้าถึงจะเริ่มจากกลุ่มผู้บริโภคหรือผู้ใช้งานทั่วไปก่อนเป็นอันดับแรก หลังจากนั้นจะมีภาคธุรกิจอุตสาหกรรมที่มองเห็นอุปกรณ์เหล่านี้เป็นอุปกรณ์ปลายทางที่สามารถใช้เป็นช่องทางเพื่อเก็บ ติดตาม และประมวลผลข้อมูลเบื้องต้นก่อนที่จะผนวกข้อมูลดังกล่าวเสนอเป็นโซลูชั่นต่อไป โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีภาพแนวโน้มนำไปพัฒนาเป็นโซลูชั่นด้านธุรกิจคงไม่พ้นอุตสาหกรรมบริการสุขภาพ (Healthcare services) อุตสาหกรรมขนส่งและโลจิสติกส์ (Transportation and logistics) โดยเฉพาะภาพของการประยุกต์ใช้ในกลุ่มอุตสาหกรรมบริการสุขภาพนั้น มีแนวโน้มความเป็นจริงค่อนข้างสูงในอีกไม่ช้านายอรรถพล สาธิตคณิตกุล –ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์และธุรกิจไอซีที กล่าวว่า “ขอยกตัวอย่างในปีนี้ ถ้าให้น้ำหนักกับอุตสาหกรรมบริการสุขภาพที่มีการนำประโยชน์ของเทคโนโลยีดังกล่าวไปประยุกต์ใช้ เราอาจจะได้เห็นการทำงานของอุปกรณ์ถูกผนวกเข้ากับโซลูชั่นทางธุรกิจ ที่จะเข้ามาช่วยในการเก็บรวมรวมข้อมูล รวมถึงติดตามการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้ป่วย อันจะเป็นประโยชน์ในการใช้เป็นข้อมูลก่อนการวินิจฉัย ติดตามโรค ประเมินผลเบื้องต้น และเป็นประโยชน์ต่อบุคลากรทางการแพทย์ในการร่วมกันวางแผนการรักษาที่ดีและแม่นยำขึ้น ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลสถิติอัตราการเต้นของหัวใจ ชีพจร ระดับน้ำตาลและเวลาเตือนการฉีดอินซูลินในผู้ป่วยโรคเบาหวาน การคำนวณการเผาผลาญพลังงานเฉลี่ยต่อวัน หรือแม้กระทั่งใช้เฝ้าติดตามปริมาณการใช้ยา และสถานที่ที่ผู้ป่วยเสี่ยงต่ออาการภูมิแพ้ต่อระบบทางเดินหายใจ (เช่น โรคหอบ-หืด)ในเชิงระบาดวิทยา เป็นต้น”
อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของการเข้าถึงการใช้งานของอุปกรณ์เหล่านี้ยังมีปัจจัยด้าน “ราคา” ที่ถือเป็นหนึ่งในอุปสรรคและความท้าทายในปัจจุบัน ที่อาจจะถูกจำกัดการเข้าถึงเทคโนโลยีในระยะแรก รวมถึงความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์จากการใช้งานสูงสุด มากกว่าการที่นักพัฒนาจะมุ่งพัฒนาแอพพลิเคชั่นเพื่ออ่านค่าเซ็นเซอร์เพียงเท่านั้น โดยถือว่าเป็นหนึ่งในอุปสรรคของการเติบโตของตลาดสำหรับปีนี้เช่นกัน
“เมื่ออุปกรณ์สวมใส่อิเล็กทรอนิกส์มีการใช้งานอย่างหลากหลายแล้ว เราคงได้เห็นการสร้างมูลค่าเพิ่มระหว่างตัวอุปกรณ์ โซลูชั่นทางธุรกิจ และองค์ความรู้จากวิชาชีพในอุตสาหกรรมเข้าด้วยกัน อันจะก่อให้เกิดระบบนิเวศน์ (Business ecosystem) ทางธุรกิจที่สร้างมูลค่าเพิ่มในเชิงเศรษฐศาสตร์ให้กับอุตสาหกรรมนั้น ๆ อย่างยั่งยืน สอดคล้องกับแนวคิดของยุคดิจิตอลอิโคโนมี่นั่นเอง” –นายอรรถพล กล่าวเสริม.
เกี่ยวกับเอ็มเคเอส หรือมัคคานซิส (มัค-คาน-ซิส / MKS): บริษัท มัคคานซิส (ประเทศไทย) จำกัด หรือชื่อในอุตสาหกรรมคือ “MKS” เป็นบริษัทที่ให้บริการงานที่ปรึกษาและคำแนะนำด้านกลยุทธ์การเข้าถึงตลาดเทคโนโลยี (Go-to-market) การให้บริการงานที่ปรึกษารวมถึง บริการคำปรึกษา ความเชี่ยวชาญทางธุรกิจไอที งานวิเคราะห์ด้านแนวโน้มเทคโนโลยีและข้อมูลทางการตลาดสารสนเทศ การพัฒนาและประเมินแบบจำลองทางธุรกิจ นอกจากนี้ MKS ยังให้บริการงานวิจัยพื้นฐานด้านลูกค้าสัมพันธ์ ความพึงพอใจในการใช้บริการ รวมถึงบริการฝึกอบรมเชิงกลยุทธ์และการจัดการในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสารและโทรคมนาคม
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit