สถานการณ์เศรษฐกิจและผลการดำเนินนโยบายของกระทรวงการคลัง“นโยบายการคลังช่วยสนับสนุนการเติบโตเศรษฐกิจไทย”

25 Mar 2015
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงข่าวรายงานสถานการณ์และผลการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจการคลัง ว่า “เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2557 เริ่มปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับครึ่งแรกของปี ทั้งการบริโภค การลงทุน การส่งออกสินค้าและบริการ อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังคงเปราะบางจากการใช้จ่ายของภาคเอกชนที่ฟื้นตัวช้าและความผันผวนของเศรษฐกิจโลก กระทรวงการคลังจึงเร่งใช้จ่ายเพื่อพยุงเศรษฐกิจในยามที่ภาคเอกชนยังฟื้นตัวเปราะบาง นอกจากนี้ ยังมีมาตรการเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจระยะยาวและมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยที่คอยช่วยบรรเทาผลกระทบทางลบจากเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่”

1. เศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปี 2557 เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบเป็นอย่างมากจากวิกฤติการเมืองในช่วงครึ่งแรกของปี 2557 ทำให้การใช้จ่ายภายในประเทศหดตัว อีกทั้งในขณะนั้นรัฐบาลไม่สามารถเบิกจ่ายงบประมาณและดำเนินมาตรการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ ประกอบกับเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม หลังจากที่สถานการณ์การเมืองปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2557 และมีรัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศและสามารถออกนโยบายในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทำให้เศรษฐกิจไทยปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ และกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2557 ที่ร้อยละ 1.4 ต่อปี เทียบกับครึ่งแรกของปีที่ไม่ขยายตัวตารางที่ 1 อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยในปี 2557

ครึ่งแรกปี 2557

ครึ่งหลังปี 2557

อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่แท้จริง

0.0%

+1.4%

อัตราการขยายตัวการบริโภคภาคเอกชนที่แท้จริง

-1.3%

+2.0%

อัตราการขยายตัวการลงทุนภาคเอกชนที่แท้จริง

-7.2%

+4.0%

อัตราการขยายตัวการใช้จ่ายภาครัฐที่แท้จริง

-1.8%

+1.6%

อัตราการขยายตัวปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการที่แท้จริง

-0.5%

+0.5%

อัตราการขยายตัวจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ

-10.9%

-1.2%

นอกจากนี้ ในปี 2557 เสถียรภาพเศรษฐกิจอยู่ในระดับมั่นคง ดังจะเห็นได้จาก อัตราการว่างงานที่อยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.8 ของกำลังแรงงาน และอัตราเงินเฟ้อที่อยู่เพียงร้อยละ 1.9 ต่อปี ขณะที่เสถียรภาพเศรษฐกิจภายนอกก็มีความมั่นคงจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดถึงร้อยละ 3.8 ของ GDP และมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูงที่ 154.8 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเทียบเป็น 2.7 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น

2. นโยบายการคลังมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

2.1 ภาครัฐบาลได้มีการอัดฉีดเม็ดเงินงบประมาณเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2557 - 13 มีนาคม 2558 รัฐบาลและรัฐวิสาหกิจได้เบิกจ่ายงบประมาณเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไทยแล้วกว่า 1.54 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 44.3 ของกรอบวงเงินการใช้จ่ายของปีงบประมาณ 2558 ประกอบด้วย

ตารางที่ 2 ผลการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ (วันที่ 1 ตุลาคม 2557 - 13 มีนาคม 2558)

รายการ

วงเงินงบประมาณ (ล้านบาท)

เบิกจ่ายแล้ว (ล้านบาท)

ร้อยละเบิกจ่าย ต่องบประมาณ

1. เงินงบประมาณ

2,575,000

1,173,149

45.6

1.1 รายจ่ายประจำ

2,125,524

1,059,225

49.8

1.2 รายจ่ายลงทุน

449,476

113,924

25.3

2. เงินกันไว้เบิกเหลื่อมปี

349,242

122,223

35.0

3. เงินกู้ไทยเข้มแข็ง (งบกระตุ้น) วงเงิน15,200 ล้านบาท

14,996

988

6.6

4. มาตรการเพิ่มรายได้ฯ (ชาวนา)

40,000

38,855

97.1

5. ชดเชยรายได้ฯ (สวนยาง)

8,200

7,692

93.8

6. เงินลงทุนของรัฐวิสาหกิจ (ที่ไม่ได้เบิกจ่ายจากเงินงบประมาณ)1

227,876

80,251

35.2

7. เงินทุนหมุนเวียน (ที่ไม่ได้เบิกจ่ายจากเงินงบประมาณ)2

242,515

106,396

43.9

8. เงินอื่นๆ

17,896

10,112

56.5

8.1 เงินไทยเข้มแข็งเดิม

4,142

834

20.1

8.2 เงิน พ.ร.ก. น้ำ 350,000 ล้านบาท

1,754

682

38.9

8.3 โครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง

12,000

8,596

71.6

รวม (1+2+3+4+5+6+7+8)

3,475,725

1,539,666

44.3

หมายเหตุ: 1 และ 2 เป็นผลการเบิกจ่ายตั้งแต่เดือนตุลาคม 2557 – มกราคม 2558 และเดือนตุลาคม 2557 – กุมภาพันธ์ 2558 ตามลำดับ

นอกจากนี้ ในระยะต่อไป รัฐบาลจะได้เร่งดำเนินการตามแผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและแผนพัฒนาระบบขนส่งทางถนนระยะเร่งด่วน ในกรอบวงเงินกู้ไม่เกิน 8 หมื่นล้านบาท

2.2 ฐานะการคลังมีความมั่นคงและหนี้สาธารณะอยู่ในระดับต่ำ แม้ว่ารัฐบาลจะใช้นโยบายการคลังเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งผลให้ดุลการคลังของรัฐบาลในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2558 ขาดดุล -4.1 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นการสะท้อนถึงบทบาทภาครัฐในการสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ ในช่วงที่เอกชนยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ อย่างไรก็ดี กระทรวงการคลังยังรักษาไว้ซึ่งวินัยการคลังอย่างเคร่งครัดอยู่ภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการคลังที่กำหนดให้หนี้สาธารณะคงค้างต้องไม่เกินร้อยละ 60 ของ GDP โดยหนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือนมกราคม 2558 อยู่ที่ร้อยละ 46.5 ของ GDP

ตารางที่ 3 ฐานะการคลัง (5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2558)

รายการ

ล้านบาท

ดุลการคลังรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสด

-411,873

หนี้สาธารณะต่อ GDP (ร้อยละ)

46.5

3. มาตรการสำคัญของกระทรวงการคลังเพื่อวางรากฐานเศรษฐกิจในระยะยาว

3.1 มาตรการทางการคลังเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน

3.1.1 มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการจัดตั้งสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ (International Headquarters: IHQ) และบริษัทการค้าระหว่างประเทศ (International Trading Centers: ITC) มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการค้าและบริการในภูมิภาค โดยจะสามารถได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับการให้บริการแก่วิสาหกิจในเครือในต่างประเทศ และลดภาษีเงินได้นิติบุคคลเหลือร้อยละ 10 สำหรับการให้บริการแก่วิสาหกิจในเครือในประเทศ และลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับผู้เชี่ยวชาญและผู้บริหารระดับสูงต่างด้าวเหลือร้อยละ 15 เป็นต้น

3.1.2 มาตรการการคลังการเงินเพื่อสนับสนุนการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 5 จังหวัด ประกอบด้วย จ.ตาก จ.มุกดาหาร จ.สระแก้ว จ.ตราด และ จ.สงขลา โดยมีมาตรการ (1) มาตรการทางการเงินให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำผ่านธนาคารออมสิน และการค้ำประกันสินเชื่อผ่านบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) และ (2) มาตรการทางภาษี โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์ลดหย่อนอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลจากร้อยละ 20 เหลือร้อยละ 10 เป็นระยะเวลา 10 ปี สำหรับกิจการทั่วไปที่ไม่อยู่ในข่ายได้รับการส่งเสริมการลงทุนตามประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน

3.1.3 มาตรการปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเพิ่มขีดความสามารถของ SMEs ให้มีต้นทุนทางภาษีที่สามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการ รายใหญ่ได้โดยจะปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งมีทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วไม่เกิน 5 ล้านบาท และมีรายได้จากการขายสินค้าและบริการในรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 30 ล้านบาท สำหรับช่วงกำไรสุทธิช่วง 1,000,000 บาท ถึง 3,000,000 บาท จากอัตราร้อยละ 20 เป็นร้อยละ 15 สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2558 เป็นต้นไป

3.1.4 การจัดตั้งกองทุนร่วมลงทุนในกิจการ SMEs (SMEs Private Equity Trust Fund) มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนธุรกิจขนาดกลางและย่อม (SMEs) ของประเทศ ให้เติบโตและแข็งแรง โดยเข้าร่วมทุน ผ่านกองทุนร่วมลงทุนในกิจการ SMEs ซึ่งจะเป็นการช่วยลดสัดส่วนหนี้สินต่อทุนของกิจการ SMEs ทำให้ธุรกิจสามารถเติบโตอย่างเข้มแข็งมากขึ้นโดยได้กำหนดแนวทางให้มีลักษณะเป็นกองทุนเปิด ระหว่างภาครัฐและเอกชน กำหนดขนาดวงเงิน 10,000-25,000 ล้านบาท (เบื้องต้นรัฐบาลจะร่วมทุนผ่านธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SMEs Bank) จำนวนเงิน 500 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจะเป็นภาคเอกชน) โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) โดยเฉพาะกลุ่มที่มีศักยภาพ อาทิ อุตสาหกรรมด้านเกษตร และอุตสาหกรรมเกี่ยวกับดิจิตอล

3.1.5 มาตรการปรับปรุงโครงสร้างอัตราภาษีศุลกากรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต มีวัตถุประสงค์เพื่อเพื่อลดภาระต้นทุนการผลิตและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการในประเทศ โดย (1) ยกเว้นอากรขาเข้ากลุ่มสินค้าวัตถุดิบ ปัจจัยการผลิตที่ไม่มีผลิตในประเทศ เครื่องจักร เครื่องมือ ซึ่งเป็นสินค้าที่มีอัตราอากรขาเข้าต่ำอยู่แล้ว จำนวน 1,274 ประเภทย่อย เช่น มอลต์ เคมีภัณฑ์อินทรีย์ เครื่องจักรสำหรับประกอบแผงวงจรย่อย ท่อส่งน้ำมันและก๊าซ เป็นต้น และ (2) ปรับลดอัตราอากรขาเข้าสินค้าในกลุ่มเครื่องจักร เครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในกระบวนการผลิตลงที่ยังมีอัตราอากรขาเข้าสูงเหลือร้อยละ 10 จำนวน 258 ประเภทย่อย เช่น เครื่องจักรกลที่ใช้แรงงาน เครื่องจักรใช้เชื่อม เป็นต้น

3.2 มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยที่คอยช่วยบรรเทาผลกระทบจากเศรษฐกิจ

ในส่วนมาตรการที่ช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย กระทรวงการคลังได้ดำเนินการผ่านมาตรการทั้งในรูปแบบการให้สินเชื่อผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่ครอบคลุมทั้งกลุ่มเกษตรกร ผู้ประกอบธุรกิจ SMEs ตลอดจนกลุ่มประชาชนทั่วไป วงเงินรวมกว่า 5 แสนล้านบาท รวมถึงการจ่ายเงินช่วยเหลือเพื่อเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรวงเงินประมาณ 1.4 แสนล้านบาท ซึ่งมีส่วนช่วยสนับสนุนให้กลุ่มผู้มีรายได้น้อยและผู้ประกอบการขนาดเล็กมีโอกาสทางเศรษฐกิจมากขึ้น จากการสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อการประกอบอาชีพ

นอกจากมาตรการที่กล่าวมาข้างต้น กระทรวงการคลังยังได้สนับสนุนให้ผู้ประกอบอาชีพรายย่อย โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยที่ใช้บริการหนี้นอกระบบกว่า 5.8 แสนครัวเรือน และที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการสินเชื่อจากสถาบันการเงินใดๆ 1.3 ล้านครัวเรือน (ข้อมูลจากการสำรวจของ ธปท. ปี 2556) สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อการประกอบอาชีพได้ ผ่านมาตรการสินเชื่อ Nano-Finance ทั้งนี้ ปัจจุบันมีผู้สนใจยื่นขอจดทะเบียนมาแล้วทั้งสิ้น 14 ราย โดยยื่นเอกสารครบแล้ว 3ราย และอีก 11 รายกำลังตรวจสอบเอกสาร คาดว่าจะเริ่มให้สินเชื่อได้ในเดือนพฤษภาคม 2558

รองโฆษกกระทรวงการคลังกล่าวโดยสรุปว่า “ในปี 2558 นี้ กระทรวงการคลังคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจน่าจะโตได้ที่ระดับประมาณร้อยละ 3.9 (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.4-4.4 ต่อปี) โดยได้รับแรงส่งของการใช้จ่ายภาครัฐที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น รวมทั้งมาตรการของกระทรวงการคลังในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยที่คอยช่วยบรรเทาผลกระทบจากเศรษฐกิจ ประกอบกับอุปสงค์จากต่างประเทศคาดว่าจะขยายตัวดีขึ้นจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นภายหลังสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศคลี่คลายลง นอกจากนี้ การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจภาพรวมที่ฟื้นตัวขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนและผู้บริโภคให้ปรับตัวดีขึ้นในช่วงที่เหลือของปีต่อไป”