เด็กอีสานคว้ารางวัลกรุงไทยยววาณิช

01 Apr 2015
เด็กอีสานเฮ “ศรีสองรักษ์ - การอาชีพนางรอง” จับมือคว้าแชมป์โครงการกรุงไทย ยุววาณิช ปีที่ 13
เด็กอีสานคว้ารางวัลกรุงไทยยววาณิช

โครงการกรุงไทย ยุววาณิช ที่ธนาคารกรุงไทยจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 13 เพื่อจุดประกายและสร้างเยาวชนที่มีคุณธรรมและมีความรับผิดชอบต่อสังคมตามแนวคิดทุนทางปัญญาไม่มีวันหมด โดยเน้นให้เยาวชนในระดับมัธยมศึกษาและระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ได้มีเวทีในการฝึกปฏิบัติการดำเนินธุรกิจ มีความสนใจและตื่นตัวที่จะใช้ความคิด ความรู้ที่มีอยู่ประกอบกับการศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม แล้วนำมาปฏิบัติจริงให้เป็นรูปธรรม มีการจัดตั้งบริษัทจำลอง เพื่อผลิตสินค้าและบริการจริง ในปีนี้มีทีมที่สนใจส่งโครงงานเข้าประกวดมากถึง 664 ทีม 194 สถาบัน ก่อนจะคัดให้ผ่านเข้าสู่รอบแรก 96 ทีม ซึ่งทั้ง 96 ทีม ได้รับเงินทุนสนับสนุนทีมละ 20,000 บาท เพื่อใช้ในการทำทุนทางธุรกิจและบริหารจัดการ หลังจากนั้นได้คัดเลือกให้เหลือ 10 ทีม ตัดสินรอบสุดท้าย

สำหรับทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในปีนี้จะได้รับทุนการศึกษา 390,000 บาท โล่รางวัล และประกาศนียบัตร พร้อมทั้งศึกษาดูงานต่างประเทศ ได้แก่ทีมจากโรงเรียนศรีสองรักษ์วิทยา จ.เลย กับผลงานการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผีตาโขน ประเภทเสื้อและของที่ระลึก เช่น เสื้อสกรีนลวดลายผีตาโขน เข็มกลัด ที่ติดตู้เย็น ที่เปิดขวด พวงกุญแจหนัง โคมไฟจากไม้ไผ่ ไม้มะม่วง หัวผีตาโขนเล็ก นอกจากนี้ทีมจากวิทยาลัยการอาชีพนางรอง จ.บุรีรัมย์ สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศร่วมกัน กับผลงานโครงการขยายพันธุ์พืชเพื่อชุมชน คือการขยายพันธุ์ต้นมะนาว ส่วนรางวัลรองชนะเลิศได้แก่ ทีมจาก วิทยาลัยอาชีวศึกษาสุราษฎร์ธานี กับโครงการบริการออกแบบผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ และสื่อสิ่งพิมพ์ ได้รับทุนการศึกษารางวัลละ 350,000 บาท พร้อมศึกษาดูงานต่างประเทศ

รางวัลแชมป์ภาคมีทั้งหมด 7 รางวัล ได้รับทุนการศึกษารางวัลละ 85,000 บาท ได้แก่ โรงเรียนสาธิตเกษตร ไอพี, วิทยาลัยเทคนิคดอนเมือง, โรงเรียนชะอำคุณหญิงเนื่องบุรี จ.เพชรบุรี, วิทยาลัยการอาชีพพิมาย จ.นครราชสีมา, โรงเรียนสวรรค์อนันต์วิทยา จ.สุโขทัย, โรงเรียนสันทรายวิทยาคม จ.เชียงใหม่ และวิทยาลัยอาชีวศึกษาภูเก็ต นอกจากนี้ยังมีรางวัลพิเศษ 2 รางวัล คือ รางวัลการดำเนินธุรกิจด้วยความโปร่งใส และซื่อสัตย์สุจริต รางวัลละ 30,000 บาท จากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ได้แก่ โรงเรียนสวรรค์อนันต์วิทยา จ.สุโขทัย และ วิทยาลัยการอาชีพพิมาย จ.นครราชสีมา

น.ส.อารยา เครือหงส์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนศรีสองรักษ์วิทยา จ.เลย เผยความรู้สึกว่า “รู้สึกว่าตลอดระยะเวลาในการทำบริษัทตลอด 4 เดือนที่ผ่านมา รู้สึกภาคภูมิใจเป็นอย่างมากที่เวลาเราลงแรงกายลงแรงใจไป เราได้ผลตอบแทนกลับมาที่คุ้มค่ามากที่สุดเท่าที่เคยทำมา สิ้นค้าของเรา เราได้ดึงเอาเอกลักษณ์ วัฒนธรรมท้องถิ่นของอำเภอด่านซ้าย มาสร้างสรรค์มาเป็นผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติที่หลากหลาย ซึ่งเราก็ไม่ได้ทำลายธรรมชาติหรือทำลายสภาพแวดล้อมบ้านเมืองของเรา ต้องขอขอบคุณธนาคารกรุงไทยที่ได้จัดตั้งโครงการ กรุงไทยยุววาณิชขึ้น เพื่อให้เราได้สืบสานวัฒนธรรมท้องถิ่นผีตาโขน ที่เป็นหนึ่งเดียวในโลก และขอขอบคุณมากๆ ที่ให้เราได้เรียนรู้เกี่ยวกับการทำงานระบบบริษัทต่างๆ และหวังว่าจะได้เข้าร่วมกับโครงการดีๆ อย่างนี้อีกทุกปีค่ะ”

อารยา บอกว่า อยากฝากถึงน้องๆ รุ่นต่อไปที่สนใจ ก็เข้ามาสมัครกันได้โดยการทำแผนธุรกิจให้มีความโปร่งใส ที่มันสามารถตรวจสอบได้ รู้จักการทำงานเป็นระบบ เมื่อเราเข้ามาโครงการนี้จะทำให้เรารู้ว่าเราบกพร่องตรงไหน ทำให้เรารู้จักการแก้ปัญหาให้ตนเอง และกับทีมงานว่าเราจะแก้ไขปัญหาได้อย่างไร และได้รู้จักการทำงานเป็นทีมมากยิ่งขึ้น

ส่วน นายวิทยา บุตรศรี ตัวแทนจากวิทยาลัยการอาชีพนางรอง จ.บุรีรัมย์ กล่าวว่า รู้สึกยินดีมาก เพราะว่าธุรกิจของเราดำเนินมาระยะเวลา 5-6 เดือน ทางอาจารย์และคณะเพื่อนๆ รู้สึกเหน็ดเหนื่อยมาก และรางวัลนี้ก็ถือว่าเป็นความยินดีกับทุกคน เพราะทีมอื่นที่เขาไม่ได้ ปีหน้าก็ยังมีอีกครับ วันนี้ที่ได้ชนะเลิศก็ดีใจมากครับ อยากฝากให้โครงการกรุงไทยยุววาณิชยังอยู่คู่ประเทศไทย และอยู่คู่เยาวชนไทยตลอดไปครับ ก็อยากฝากถึงน้องที่กำลังศึกษาอยู่ไม่ว่าจะชั้นไหน ประถม มัธยม หรืออาชีวศึกษา เราคิดในสิ่งที่ดีๆ สิ่งที่ดีต่อสังคม สิ่งที่ดีต่อคนรอบข้าง และดีต่อประเทศชาติด้วยครับ

วิทยุระบุว่าจุดเด่นของทีมที่ได้รางวัลชนะเลิศนั้นอยู่ที่ตัวสินค้า เพราะว่าสินค้าบริการอยู่ในช่วงเศรษฐกิจตอนนี้ เช่น มะนาว อย่างมะนาวของเรา เราใช้ต้นตอส้มโอ จะมีความแข็งแรง เพราะต้นส้มโอจะเพาะมาจากเมล็ดพันธ์ จะมีความแข็งแรง ทนทานต่อโรค และเราก็ใช้ปุ๋ยมูลไส้เดือน ซึ่งยังไม่มีกลุ่มพ่อค้าที่เขาอัดเม็ดมาขาย เราเป็นกลุ่มแรกที่อัดเม็ดปุ๋ยผสมมูลวัวมาขาย แล้วก็เครื่องคัดมะนาว เครื่องคัดมะนาวของเรามีราคาถูกและไม่เหมือนใครด้วย

ด้าน นายวีระ พัฒนศิลป์ นักศึกษาจากวิทยาลัยอาชีวศึกษาสุราษฎร์ธานี บอกว่า “รู้สึกดีใจมากที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง ตั้งแต่ทำงานมาระยะเวลา 4-5 เดือนก็ภูมิใจมากกับโครงการของธนาคารกรุงไทย ต้องขอขอบคุณธนาคารกรุงไทยที่ให้โอกาสดีๆ แบบนี้กับพวกเราที่เป็นเยาวชนตัวเล็กๆ ได้มาทำโครงการนี้และได้ทำความฝันของพวกเราเป็นจริง และดีใจมากที่ได้ไปศึกษาดูงานที่ปะเทศญี่ปุ่น ไปดูแพ็คเกจจิ้งต่างๆ ที่ประเทศญี่ปุ่น นำมาพัฒนาผลิตภัฑณ์และบริการของเราต่อไป

นางศิริพร นพวัฒนพงศ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารกลุ่ม กลุ่มการตลาดและสื่อสารองค์กร สายงานการตลาดและสื่อสารองค์กร ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า โครงการ “กรุงไทย ยุววาณิช” มีจุดเด่นคือการสนับสนุนให้เยาวชนได้ประกอบธุรกิจจริง และภายในโครงการทุกโรงเรียนจะต้องแบ่งงบประมาณหรือผลกำไรไปทำกิจกรรมทางสังคมด้วย นอกจากนี้กิจกรรมที่นักเรียนทำยังสามารถต่อยอดได้จริง โดยธนาคารจะช่วยบ่มเพาะหลักการทำธุรกิจให้เยาวชนทุกอย่าง เด็กๆจะรู้ทุกขั้นตอนของการทำธุรกิจ รวมทั้งการทำงานเป็นทีม ที่จะต้องมีการแบ่งหน้าที่กัน ซึ่งเยาวชนสามารถนำความรู้นี้ไปใช้ในอนาคตเมื่อจบการศึกษามา อยากทำธุรกิจก็สามารถทำได้เลย

“สิ่งที่ประทับใจและน่าชื่นชม คือนักเรียนสามารถนำความคิดทันสมัยของพวกเขามาพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าต่อทั้งด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ ซึ่งสินค้าที่เด็กๆ นักเรียนได้ทำสะท้อนให้เห็นถึงความหวงแหน และเห็นคุณค่าภูมิปัญญาของไทยมากขึ้น โดยรู้จักนำภูมิปัญญาในท้องถิ่นมาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าและมีราคาได้ นอกจากนี้ยังสะท้อนถึงความห่วงใยในเรื่องสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบชุมชนเขา โดยรู้จักเอาของเหลือใช้มาแปรรูปเป็นสินค้า ขอให้ทุกภาคส่วนได้ช่วยกันส่งเสริมกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้แสดงออกถึงความสามารถและศักยภาพ ทั้งนี้กิจกรรมที่ธนาคารกรุงไทยทำที่ผ่านมาตลอด 13 ปี ได้พิสูจน์ให้เห็นชัดแล้วว่าเด็กและเยาวชนเหล่านั้นต่างมีศักยภาพ” นางศิริพร กล่าว

โครงการกรุงไทย ยุววาณิช เป็นหนึ่งในโครงการเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมด้านการศึกษา ของธนาคารกรุงไทย ซึ่งมุ่งเสริมสร้างทุนทางปัญญาให้นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายทั้งสายสามัญและสายอาชีพ เพื่อเรียนรู้การทำธุรกิจอย่างมีคุณธรรม โปร่งใส ซึ่งผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.youngenterprise.ktb.co.th หรือสอบถามโทร.0-2208-8674-5

HTML::image( HTML::image( HTML::image(